การปรับองค์กรสู่ดิจิทัลให้สำเร็จ HR ต้องเฟ้นหา Data Scientist เข้ามาเสริมทัพให้แข็งแกร่ง ในยุค “Big Data” เพราะการวิเคราะห์ จัดการข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ช่วยเพิ่มความได้เปรียบด้านการแข่งขัน
ดร.ศิษฏพงศ์ เศรษฐภัทร Head of Big Data and Analytics กลุ่มบริษัทจีเอเบิล เปิดเผยในงาน “Thailand HR Tech Conference & Exposition 2018” ที่จัดขึ้นโดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ในหัวข้อ “HR Analytic Impact and How to build Data Scientist from your existing employee” ว่า
ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) องค์กร นอกจากการปรับเปลี่ยนแนวทาง วิธีคิดในการทำงานแล้ว การเฟ้นหาบุคลากรทางด้าน ‘ดิจิทัล’ เพื่อเสริมทัพขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือความท้าทายของฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และที่ผ่านมาหลายองค์กรกลับมองว่าการหาบุคลากรดิจิทัล ต้องสรรหาบุคลากรใหม่เข้ามาเท่านั้น
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วบุคลากรดิจิทัลที่เหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะในหน้าที่สำคัญอย่างนักวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Scientist ควรเป็นผู้ที่เข้าใจธุรกิจขององค์กรอย่างถ่องแท้
การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ก่อให้เกิดข้อมูลการทำงานปริมาณมหาศาล การนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้จำเป็นต้องใช้กระบวนการใหม่ๆ เพื่อที่จะแปลงข้อมูลดิบออกมาเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ ส่งผลให้องค์กรต้องเฟ้นหาบุคลากรที่จะเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ โดยที่ HR สามารถเริ่มหาจากบุคลากรภายในองค์กร ด้วยการกระตุ้นคนที่มีความรู้เรื่ององค์กรเป็นอย่างดีจนเกิดความคิดในเชิงวิเคราะห์
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนบุคลากรที่มีอยู่ให้มีความสามารถเชิงดิจิทัลมากขึ้น จะเกิดขึ้นได้จาก 4 ขั้นตอน เริ่มจาก ข้อที่ 1. Foundational ด้วยการตั้งคำถามที่ถูกต้อง หรือถามคำถามที่สมเหตุสมผล เพื่อให้พนักงานสามารถให้ข้อมูลได้ตรงมากที่สุด
ข้อที่ 2. Approaching วิธีในการค้นหาคำตอบที่รวดเร็ว มี ประสิทธิภาพ แสดงให้แนวคิดในการแก้ปัญหาต่างๆ มีการนำดิจิทัลมาใช้มากขึ้น อย่างการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการหาคำตอบที่เสียเวลาแทนคน
3. Aspirational หรือเริ่มทดลองเพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น ลดขั้นตอน เวลาในการทำงาน และสามารถทำงานได้ตามเป้าหมายมากขึ้น
และข้อที่ 4. Mature เมื่อทีมงานดังกล่าวทำได้สำเร็จ องค์กรก็เริ่มนำแนวคิดใหม่ ๆ มาช่วยในการทำงาน เพื่อทำให้องค์กรดีขึ้น ซึ่งผู้ที่จะมาทำขั้นตอนเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล แต่คือบรรดาพนักงานที่มีความเข้าใจโมเดลธุรกิจขององค์กรเป็นอย่างดี ดร.ศิษฏพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ การดึงข้อมูลที่เกิดจาก Digital Workplace มาใช้ ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากปัจจุบันหลายองค์กรเกิดการทรานฟอร์เมชั่นกันในระดับหนึ่งแล้ว โดยจะเห็นได้จากการเริ่มนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น
เช่น การลงทุนนำระบบคลาวด์มาใช้งาน รูปแบบการสื่อสารยุคใหม่ภายในองค์กรผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้การทำงานไม่ได้ยึดติดอยู่บนคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ พนักงานสามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ การนำข้อมูลเก็บไว้บนคลาวด์ ทำให้พนักงานไม่ต้องเข้าไปดึงข้อมูลในระบบ หรือแนวคิดในการทำงานสมัยใหม่ ที่บุคลากรสามารถทำงานร่วมกันได้ทุกแผนก
ส่งผลให้กรอบแนวคิดของ HR ต้องไม่ประเมินการทำงานเฉพาะจากบันทึกการทำงานประจำวันที่ระบุแค่เวลาเข้าออกงาน แต่เป็นการนำเอาดาต้าที่เกิดขึ้นจากการทำงานบน Digital Workplace ซึ่งมีข้อมูลมหาศาล มาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ เช่น การเข้าไปดูว่าพนักงานแต่ละรายทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มใดบ้าง และสะท้อนให้เห็นการทำงานของแต่ละหน้าที่หรือไม่
เมื่อองค์กรเก็บข้อมูลเหล่านั้นแล้ว ควรมีหน่วยงานอย่าง Big Data & Analytics หรือการจัดตั้งทีม Center of Excellence (CoE) ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ และพัฒนาธุรกิจ รวมถึงมีหน้าที่ในการกำหนด ควบคุม และทำให้มั่นใจว่าองค์กรจะเดินหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
แน่นอนว่าขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้องค์กรเกิดดิจิทัลทรานฟอร์เมชันได้สมบูรณ์แบบ รวมถึงการมีทีมงาน CoE ที่แข็งแรง จะต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการวิเคราะห์ และนำข้อมูลมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่องค์กร หรือตำแหน่งอย่าง ‘Data Scientist’ ถือเป็นตำแหน่งที่หายากที่สุดในยุคปัจจุบัน
แต่องค์กรก็สามารถประยุกต์ใช้จากบุคลากรที่มีอย่างการพัฒนา ‘Data Engineers’ ด้วยการนำบุคลากรในฝ่ายไอที ที่มีความสามารถในการเขียนโปรแกรม มีความสามารถทางสถิติเพียง แต่ขาดทักษะทางด้านการสื่อสาร มาทำงานร่วมกับ ‘Data Analyst’ ที่อยู่ในฝ่ายธุรกิจ เพราะมีทักษะในการสื่อสารสูง แต่เขียนโปรแกรมไม่ได้ มาทำงานร่วมกัน
ขั้นตอนการค้นหา Data Scientist หรือการทำ CoE ภายในองค์กร เป็นเรื่องยาก หนึ่งในบริการจากจีเอเบิล คือการส่งทีม Data & Analytic เข้าไปช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำ Analytic ในองค์กรขนาดใหญ่ รวมถึงองค์กรขนาดเล็กที่เข้าไปช่วยในการทำทรานฟอร์เมชั่น ทั้งในแง่ของการเข้าไปเป็นที่ปรึกษา และการพัฒนาบุคลากรให้เกิดความรู้และความเชี่ยวชาญ
ด้วยการเข้าไปช่วยพัฒนาให้เกิด Analytic DNA ด้วยการจัดเทรนนิ่งคอร์สระยะยาว รวมถึงการนำเทคโนโลยี และโซลูชั่นเข้าไปช่วย เพื่อทำให้องค์กนำสามารถข้อมูลที่มีออกมาอยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน และยังสามารถเข้าไปช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลตามแต่ละโปรเจกต์ เพื่อให้เกิดแนวคิดที่นำมาใช้ได้จริง ผสมไปกับรูปแบบการนำเสนอที่มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น