เยาวชนไทยเข้ารอบตัดเชือกระดับโลก คว้ารองอันดับหนึ่ง ไมโครซอฟท์ อิมเมจิ้น คัพ เอเชีย แปซิฟิก (Microsoft Imagine Cup Asia Pacific) เวทีการแข่งขันโซลูชันแห่งปีของไมโครซอฟท์ โดยทีมจากมาเลเซียคว้ารางวัลชนะเลิศ และสิงคโปร์คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสองได้อย่างเต็มภาคภูมิ
Microsoft Imagine Cup Asia Pacific
ไมโครซอฟท์ประกาศรางวัลชนะเลิศ ไมโครซอฟท์ อิมเมจิ้น คัพ เอเชีย แปซิฟิค ได้แก่ทีม PINE จากประเทศมาเลเซีย หลังจากเอาชนะอีก 14 ทีมจากทั่วทั้งภูมิภาคไปอย่างฉิวเฉียด โดยยังมีอีก 6 ทีมที่ได้รับเลือกไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศระดับโลกที่ซีแอทเทิลในเดือนกรกฎาคมเช่นกัน
ขณะที่ ทีม PINE พัฒนาอุปกรณ์มือถือที่จะช่วยเกษตรกรให้สังเกตการณ์ปัจจัยต่างๆ ในการปลูกสัปปะรดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถวิเคราะห์ดูระดับความสุกงอมที่เหมาะสมก่อนพร้อมเก็บเกี่ยว ด้วยวิธีการที่ไม่รบกวนการเติบโตของสัปปะรด
สาเหตุที่คิดทำอุปกรณ์นี้ขึ้นมาเพราะวิธีการเดิมที่ใช้ refractometer ตรวจความสุกงอมของสัปปะรดนั้น จำเป็นต้องทำให้ผลสัปปะรดเสียหายด้วย โซลูชั่นของทีม PINE จึงตั้งใจพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดการสูญเสียนี้ และช่วยเพิ่มปริมาณการเก็บเกี่ยวให้กับเกษตรกรที่ปลูกสัปปะรด เพื่อส่งให้ตลาดและพร้อมสำหรับการส่งออกต่อไป
ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งและสองได้แก่ ทีม BeeConnex จากประเทศไทย และทีม 7x จากประเทศสิงคโปร์ ตามลำดับ
ทีม BeeConnex จากประเทศไทยมาพร้อมการนำเสนอผลงานรังผึ้งอัจฉริยะ (Smart Hive) ด้วยการนำอุปกรณ์ไอโอที (IoT) เข้ามาช่วยตรวจจับพฤติกรรมของผึ้งในรังโดยไม่รบกวนผึ้งและแจ้งเตือนความผิดปกติของผึ้ง โดpอุปกรณ์ยังสามารถช่วยแจ้งเตือนคนเลี้ยงผึ้งได้ทันที เมื่อตรวจเจอเหตุการณ์ผิดปกติในรังผึ้งได้ด้วย
ทีม 7x จากประเทศสิงคโปร์ ได้พัฒนา ProCubeX อุปกรณ์ทรงกล่องลูกบาศก์แบบอินเทอร์แอคทีฟเพื่อการเรียนรู้แบบอัจฉริยะ ที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการยับยั้งและบรรเทาปัญหาของเด็กที่มีความบกพร่องในด้านการเรียนรู้
โดยอุปกรณ์จะช่วยวางแผนจัดหลักสูตรการเรียนให้กับเด็กที่มีความบกพร่องในด้านการเรียนรู้เป็นรายบุคคล พร้อมกระตุ้นประสาทสัมผัส รวมถึงส่วนต่างๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ทางภาษาโดยตรง
ทีมนักเรียนที่ได้เข้ารอบทั้งหมดจะก้าวสู่เส้นทางแห่งการแข่งขันด้านนวตกรรมระดับโลกที่เวทีอิมเมจิ้น คัพ รอบชิงชนะเลิศระดับโลก ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองซีแอทเทิล ในเดือนกรกฎาคม ที่จะมีทีมนักเรียนมากถึง 50 ทีมทั่วโลกมาเข้าร่วมแข่งขัน เพื่อชิงรางวัลชนะเลิศพร้อมเงินสด 100,000 เหรียญสหรัฐฯ
และยังได้มีโอกาสรับฟังคำแนะนำโดยตรงจาก มร.สัตยา นาเดลลา ซึ่งเป็นซีอีโอคนปัจจุบันของไมโครซอฟท์ และได้รับเครดิตการใช้งาน Microsoft Azure ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์อัจฉริยะเพื่อต่อยอดการพัฒนาโซลูชั่นของทีมผู้ชนะเลิศออกสู่ตลาดจริง
โดย 15 ทีมสุดท้ายที่เข้ารอบในระดับภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก นั้น มาจาก 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา และเวียดนาม ซึ่งเป็นทีมที่ผ่านการคัดเลือกระดับประเทศมาก่อน
ส่วนรางวัล “People’s Choice Award” ได้แก่ทีม BeeTech จากเวียดนาม ที่พัฒนา Smart Car Box เพื่อช่วยเจ้าของรถยนต์ให้สามารถจัดการกับสิ่งผิดปกติที่จะเกิดขึ้นได้ก่อนจะเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น โดยทีมนี้ได้รับรางวัลจากเสียงสนับสนุนจากการโหวตออนไลน์ในการแข่งขันระดับภูมิภาค
แพลตฟอร์มสร้างความฝันในการเริ่มต้น
เดฟ มิลเลอร์ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อภาคธุรกิจ ไมโครซอฟท์ เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า อิมเมจิ้น คัพ เป็นแพลตฟอร์มที่ท้าทายให้นักเรียนได้สร้างความฝันในการเริ่มต้นธุรกิจให้กลายเป็นจริงมาโดยตลอด ทุกปี เรามีโอกาสได้เห็นไอเดียดีๆ มากมาย
เยาวชนได้ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อแก้ปัญหาที่ท้าทายต่างๆ ด้วยโซลูชั่นอันชาญฉลาดที่มีประสิทธิภาพ เรามีหน้าที่ในการช่วยให้เขาเริ่มต้นก้าวแรกและผลักดันไปจนถึงเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จ และเราก็ตื่นเต้นมากที่จะได้เห็นว่าไอเดียของพวกเขาจะเข้ามาช่วยปรับรูปแบบของอนาคตที่พวกเราดำเนินไปอยู่ได้อย่างไร
ด้าน ไมเคิล เตียว ซู ลิม ผู้ก่อตั้ง Thriving Talents และเคยรวมแข่งขัน ในปี 2008 กล่าวว่า การแข่งขันในปีนี้มีแต่โซลูชั่นที่น่าสนใจจากนักเรียนที่มีความสามารถที่เขามีใจรักที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
เราตื่นเต้นมากที่ปีนี้ได้เห็นนวตกรรมที่สร้างสรรค์มาด้วยความตั้งใจและคิดค้นมาอย่างลึกซึ้ง ที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับอนาคตในโลกดิจิทัลของเรา
ร่วมมือเพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่สู่นักเทคโนโลยี ในเอเชีย แปซิฟิก
ในปีนี้ ไมโครซอฟท์ได้ร่วมมือกับ U.S. Department of State’s Global Innovation through Science and Technology (GIST), Malaysia Digital Economy Corporation (MDEC) และ สิริเวนเจอร์ส ในรอบการแข่งขันระดับเอเชีย แปซิฟิก
ความร่วมมือของไมโครซอฟท์กับองค์กรเหล่านี้เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการเป็นกำลังสำคัญเพื่อสนับสนุนผู้มีความสามารถรุ่นเยาว์ ในการคิดสร้างสรรค์และพัฒนาโซลูชั่นที่ใช้งานได้จริง ที่จะทำให้ทุกคนประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
GIST คือโครงการของ U.S. Department ที่เน้นเพื่อผู้ประกอบการสายเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา ที่สนับสนุนนักสร้างสรรค์นวตกรรมรุ่นเยาว์จาก 130 เมืองเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั่วโลก GIST จับมือกับการแข่งขันอิมเมจิ้น คัพ เพื่อร่วมแบ่งปันความมุ่งมั่นกับไมโครซอฟท์
ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่ยากลำบากในโลก ด้วยการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้นักเรียน และสนับสนุนให้พวกเขาตระหนักถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นแพลตฟอร์มในการช่วยแก้ไขปัญหานั้น Malaysia Digital Economy Corporation or MDEC (หรือ Multimedia Development Corporation Sdn. Bhd.)
เป็นองค์กรผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในมาเลเซีย ภายใต้การดูแลของกระทรวงการสื่อสาร และมัลติมีเดีย ของประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พันธกิจหลักขององค์กรคือการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศ
โดย MDEC นั้นเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการลงทุน พัฒนากลุ่มคนต้นแบบด้านเทคโนโลยีในประเทศ กระตุ้นนวตกรรมดิจิทัล และเผยแพร่ดิจิทัลสู่วงกว้าง
โดยในฝั่งของ สิริเวนเจอร์ส ทำงานภายใต้แสนสิริ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในประเทศไทย ร่วมด้วยผู้ถือหุ้นจากธนาคารไทยพาณิชย์ สิริเวนเจอร์ส คือ ธุรกิจร่วมทุน ที่เห็นความสำคัญของความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีเข้ามา ทั้งควบรวม และปรับใช้
โดยมีการดำเนินงานในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ การลงทุนและการร่วมมือกับสตาร์ทอัพในวงการอสังหาริมทรัพย์หรือแวดวงใกล้เคียง ซึ่งมุ่งมั่นจัดหาสตาร์ทอัพที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคิดค้นอีโคซิสเต็มส์ และสร้างสรรค์สู่ตลาดได้
ความร่วมมือในครั้งนี้ ต้องการผลักดันเยาวชนและส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ ให้โอกาสนักเรียนได้รับการอบรม เพื่อขัดเกลาทักษะทางดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย รวมทั้งช่วยเติมเต็มความคิดของพวกเขาในการพัฒนาโซลูชั่นอย่างสร้างสรรค์
ไมโครซอฟท์ อิมเมจิ้น คัพ เวทีการแข่งขันโซลูชันด้านเทคโนโลยีระดับโลก จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 2003 ได้รับการขนานนามและเป็นที่รู้จักกับผู้แข่งขันว่าคือ “การแข่งขันเทคโนโลยีระดับโอลิมปิคของนักเรียนนักศึกษา”
โดยปีนี้จัดการแข่งขันภายใต้ธีม “Code with Purpose” เพื่อมุ่งเน้นให้ทุกโครงงานที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้นมีส่วนในการช่วยสร้างสรรค์สังคม
ส่วนขยาย
* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่