Digital Education
Digital Education ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่ามีการอภิปรายประเด็นปัญหาด้านการศึกษาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาตั้งแต่ในระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ที่ไม่สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศชาติได้

Digital Education เราห็นแล้วว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและผลกระทบอย่างไรต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ เช่น แท็บเล็ตและสมาร์ตโฟน โปรแกรมประยุกต์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น

นักการศึกษากลุ่มหนึ่งอาจเริ่มมีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของประเทศจากเดิมไปสู่การศึกษาแบบดิจิทัล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เข้าถึงแหล่งทรัพยากรความรู้และสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลในด้านการศึกษา เราก็จะมาอภิปรายถึงความคุ้มค่าของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นว่าสามารถส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนอย่างไรได้บ้าง และสิ่งที่เป็นเดิมพันไม่ใช่แค่สำหรับนักเรียนและนักศึกษาเพียงเท่านั้น แต่เพื่อการพัฒนาสังคมของประเทศไทยโดยรวม และจะขออภิปรายเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลในระดับอุดมศึกษาเพียงเท่านั้น โดยแบ่งประเด็นไว้ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงห้องเรียนในสถาบันการศึกษาสู่ดิจิทัล

สำหรับเราหลายคน เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการที่ทำให้เราสามารถได้รับและประมวลผลข้อมูล และประยุกต์ใช้ความรู้ของเราในชีวิตประจำวัน  นักศึกษาในยุคปัจจุบันกำลังเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่แรงงานทั่วโลกที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลจำนวนมหาศาล

การเปลี่ยนแปลงนี้กระตุ้นให้มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่นักศึกษาต้องการเรียนรู้ แต่หันกลับมาทบทวนว่าพวกเขาควรจะเรียนรู้อย่างไร และพัฒนาสื่อการเรียนการสอนอย่างไร ที่มีความเหมาะสมและน่าสนใจผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเปลี่ยนแปลงห้องเรียนสู่การเรียนการสอนแบบดิจิทัลนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีเสถียรภาพและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์  สถาบันอุดมศึกษาต้องให้ความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของห้องเรียน จากแบบเดิมที่นักเรียนนั่งเรียงกันเป็นแถว แล้วจดเลคเชอร์ที่อาจารย์กำลังบรรยายอยู่หน้าห้อง

โดยนักเรียนจะเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ที่นิ่งเฉยและเป็นผู้รับ (Passive) กลายเป็นชั้นเรียนที่นักเรียนจะกระตือรือร้นในการเรียนรู้ (Active) แทน  หรืออาจจะเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนเป็นแบบไม่ต้องเข้าห้องเรียนอีกแล้วก็ได้

โดยให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้สื่อการเรียนการสอน ค้นคว้าวิจัย และทำโครงงานผ่านระบบซอฟต์แวร์การเรียนการสอนกลางของมหาวิทยาลัย หรือแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ดิจิทัลอื่น ๆ จากทั่วประเทศหรือทั่วโลก ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน และโปรแกรมประยุกต์บนอุปกรณ์โมบาย เป็นต้น

การปรับปรุงผลลัพธ์ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล

องค์กรธุรกิจโดยทั่วไปในปัจจุบันจะใช้การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) จากระบบสารสนเทศองค์กร เพื่อติดตามการดำเนินงาน การขาย การตลาด และประสบการณ์ของลูกค้า  สถาบันอุดมศึกษาก็สามารถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อติดตามประสิทธิภาพและปรับปรุงผลได้เช่นกัน

โดยการสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมได้จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของนักศึกษาในห้องเรียน  เพื่อให้อาจารย์สามารถทำความเข้าใจได้ดีขึ้นว่านักศึกษาแต่ละคนและแต่ละห้องเรียนต้องการอะไรบ้าง  ยิ่งถ้าอาจารย์ผู้สอนสามารถเข้าใจได้แม่นยำยิ่งขึ้นว่าผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาการเรียนผิดอย่างไร อาจารย์ก็จะสามารถปรับปรุงการสอนในรายวิชานั้น ๆ เพื่อช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจที่ถูกต้องได้รวดเร็วขึ้น

Digital Education

การใช้ระบบสารสนเทศในการวิเคราะห์ข้อมูล จะช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถวินิจฉัยข้อบกพร่องต่าง ๆ ของนักศึกษาเป็นรายบุคคลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากกว่าที่อาจารย์จะสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยตนเองสำหรับห้องเรียนที่มีนักศึกษาเป็นจำนวนมาก

“อาจารย์หลายคนอาจจะมีความกังวลหรือคิดว่าเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลจะมาแทนที่พวกเขาได้ แต่จริง ๆ แล้วเทคโนโลยีเหล่านั้นก็เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัยและสร้างคุณค่าเพิ่มเติม แต่ไม่สามารถมาแทนที่ความเข้าใจเชิงลึกและความเป็นมืออาชีพของอาจารย์ผู้สอนได้อย่างแน่นอน”

ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในระบบดิจิทัล

ถ้าสถาบันอุดมศึกษาต้องการให้การเรียนการสอนในห้องเรียนเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลในยุคดิจิทัล 4.0 สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์สำหรับนักการศึกษาและผู้บริหาร เพราะยังมีเส้นโค้งการเรียนรู้ที่สูงชันสำหรับอาจารย์ที่ยังคุ้นเคยกับวิธีการเรียนการสอนแบบเดิม และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอีกเป็นจำนวนมาก

และอาจารย์ที่สามารถเล่นโปรแกรมไลน์ (LINE) หรืออัพโหลดคลิปวิดีโอลงบนโปรแกรมเครือข่ายสื่อสังคม เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) และยูทิวบ์ (YouTube) ได้ ไม่ได้หมายความว่าอาจารย์ท่านนั้นจะรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะเดียวกัน อาจารย์บางกลุ่มอาจจะต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนแบบเดิม ไปสู่การเรียนการสอนแบบระบบดิจิทัลมากขึ้น แต่ยังขาดประสบการณ์การเรียนรู้แบบมืออาชีพที่พวกเขาต้องการเพื่อที่จะสร้างความรู้สึกมั่นใจและเตรียมพร้อมที่จะนำห้องเรียนยุคดิจิทัลไปสู่ความสำเร็จได้

ฉะนั้นสถาบันอุดมศึกษาต้องมีการวางแผนการเตรียมควมพร้อมและฝึกคณาจารย์ที่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนของตนเองให้มีความมั่นใจและความพร้อมตั้งแต่ต้น โดยอาจมีทีมคณาจารย์ที่มีความพร้อมและประสบการณ์การสอนในรูปแบบห้องเรียนดิจิทัลมาเป็นผู้ช่วยในช่วงแรก

ในการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนสู่ Digital Education นั้น นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว อีกสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของสถาบันอุดมศึกษา

มันอาจเป็นเรื่องยากสำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่จะยอมรับได้ว่า พวกเขาอาจจำเป็นต้องจัดสรรเงินบางส่วนที่เคยใช้ในการวิจัยหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานออกไปเพื่อใช้ในการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล

ทั้งนี้ก็คงต้องเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของผู้นำและแผนยุทธศาสตร์ของแต่ละสถาบันอุดมศึกษาว่ามีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลมากน้อยหรือรวดเร็วแค่ไหน และไม่ว่าจะช้าหรือเร็วแค่ไหน ทุกสถาบันก็หลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

อุปกรณ์ดิจิทัลอยู่ในมือของทุกคนแล้ว

ปัจจุบันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า นักศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นมีเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาและสมาร์ตโฟนกันเกือบทุกคน และบางมหาวิทยาลัยชั้นนำก็มอบแท็บเล็ตให้กับนักศึกษาทุกคนที่สมัครเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาของตน

นั่นหมายความว่า นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยส่วนใหญ่นั้นมีอุปกรณ์ดิจิทัลอยู่ในมือของทุกคน  ฉะนั้นสถาบันอุดมศึกษาควรใช้ประโยชน์จากเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟนที่มีอยู่แล้วของนักศึกษาเหล่านั้น ในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ และการมีส่วนร่วมกับหลักสูตรให้แก่นักศึกษา

สถาบันอุดมศึกษาควรคิดริเริ่มในการทบทวนบทบาทของนักศึกษาใหม่จากการเป็นผู้บริโภคข้อมูลแบบเดิมให้กลายเป็นผู้สร้างดิจิทัล  โดยเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนและสนับสนุนให้นักศึกษาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน การสื่อสาร แก้ไขปัญหา และแบ่งปันความรู้

อาจารย์ควรเปิดกว้างรับวิธีการที่นักศึกษาสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อแสดงความรู้และเรียนรู้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของห้องเรียน  การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนเหล่านี้ สถาบันอุดมศึกษาจะพบว่ามีส่วนช่วยสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาในยุคปัจจุบันได้อย่างไม่น่าเชื่อ

อีกประเด็นสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับนักการศึกษา ก็คือการบ่มเพาะและสร้างความเข้าใจแก่นักศึกษาให้สามารถแยกความแตกต่างระหว่างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและการศึกษาของนักศึกษา

ซึ่งแน่นอนว่าถ้ามีการกำหนดให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาในรายวิชา การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอนเหล่านั้นจะต้องมีขีดจำกัด

อาจารย์ผู้สอนจะต้องคอยสอดส่องว่านักศึกษากำลังใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเล่นเกมหรืออัพสถานะบนโปรแกรมเครือข่ายสื่อสังคมเพื่อเป็นการฆ่าเวลา หรือกำลังใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสำรวจความสนใจของพวกเขาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของการเรียน หรือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งปันความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นในห้องเรียนให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิผล

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนนั้นก็ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม เราทุกคนต่างก็ต้องใช้เวลาให้ห่างจากเทคโนโลยีดิจิทัลบ้าง เพื่อปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพรอบตัวเรา และมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

สถาบันการศึกษามีโปรแกรมประยุกต์เพื่อใช้ในการสนับสนุนการเรียนการสอนยุคดิจิทัล 4.0 หรือไม่

การเปลี่ยนแปลงห้องเรียนสู่การเรียนการสอนแบบดิจิทัลนั้นช่วยสร้างโอกาสใหม่สำหรับผู้ประกอบการในการพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อช่วยนักการศึกษาและนักศึกษาในการเรียนการสอน  ความต้องการในการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนสู่การเรียนการสอนแบบดิจิทัลของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัลและนักพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างมีนัยสำคัญ

เพราะสถาบันการศึกษาต้องปฏิรูปกระบวนการการดำเนินงาน เปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอน การออกแบบการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาวิชาชีพและสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ เพิ่มการมีส่วนร่วมของครอบครัว และทำให้การเรียนรู้สามารถเข้าถึงได้สำหรับนักศึกษาทุกคน ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้

บทบาทของอาจารย์จะเปลี่ยนแปลงไป อาจารย์จะไม่ใช่เป็นเพียงผู้บรรยายเนื้อหาวิชาเรียนซ้ำ ๆ ในห้องเรียนปีแล้วปีเล่าเท่านั้น อาจารย์จะกลายเป็นที่ปรึกษาและให้แนวทางนักศึกษาในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการค้นคว้าหาแหล่งทรัพยากรความรู้ที่ต้องการ

กำแพงห้องเรียนแบบเดิมจะทลายลงด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์แบบใหม่ในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาในห้องเรียน การเรียนรู้ของนักศึกษาจะไม่มีขอบเขตอีกต่อไป  ฉะนั้นสถาบันการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของนักการศึกษาในทุกขั้นตอนของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงห้องเรียนสู่การเรียนการสอนแบบดิจิทัล

สถาบันการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์และกำหนดยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงสถาบันของตนเองสู่ดิจิทัลด้วยเครื่องมือที่ดีที่สุดก่อนสถาบันอื่น ๆ ในการดำเนินงานและการเรียนการสอนก็จะสามารถสร้างบัณฑิตที่มีขีดความสามารถในการเป็นผู้นำทางวิชาชีพในสังคมและอุตสาหกรรมเหนือสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แผนงานสู่อนาคตการศึกษาดิจิทัลของประเทศไทย 4.0

การแก้ปัญหาวิกฤตด้านการศึกษาในประเทศไทยจะต้องมีการบูรณาการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษามากกว่าเพียงแค่มีนโยบายให้นักศึกษาทุกคนมีอุปกรณ์ดิจิทัลใช้ในห้องเรียนทุกห้อง นอกเหนือจากที่สถาบันการศึกษาจะต้องตระหนักถึงศักยภาพและนวัตกรรมของเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งหมดที่มีในปัจจุบัน และแนวโน้มใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วนั้น

สถาบันการศึกษาจะต้องรับฟังข้อเสนอแนะจากคณาจารย์ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาเหล่านั้นได้มีการฝึกอบรมและการสนับสนุนที่จำเป็นเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเรียนการสอนแบบดิจิทัลให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ สถาบันการศึกษายังคงต้องคำนึงถึงเรื่องการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีความพร้อม  ถ้าเทคโนโลยีดิจิทัลมีอำนาจในการปรับปรุงผลการเรียนรู้ของนักศึกษา สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่านักศึกษาทุกคนมีอุปกรณ์ดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอนและแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ดิจิทัลต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงและมีเสถียรภาพ

ในขณะที่ต้นทุนทางการศึกษาจะลดลงจนเกือบเป็นศูนย์เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจะทำให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ระดับสุดยอดของโลกได้ เช่นเดียวกันกับการเข้าถึงไฟฟ้าและน้ำดื่มที่สะอาด

เรากำลังจะเข้าสู่ยุคความเท่าเทียมกันทั่วโลก ราคาแท็บเล็ตและสมาร์ตโฟนก็ปรับราคาลดลง และการเพิ่มขึ้นของรูปแบบนวัตกรรมโปรแกรมประยุกต์ทางด้านการศึกษาบนโมบายและเนื้อหาดิจิทัลที่ช่วยให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นในราคาที่ลดลง สถาบันการศึกษาจึงต้องมุ่งมั่นในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อรองรับการใช้งานของนักศึกษาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของตนเองอย่างต่อเนื่อง

การสร้างอนาคตการศึกษาดิจิทัลในระบบการศึกษาของประเทศไทยต้องอาศัยความมุ่งมั่นที่สำคัญร่วมกันจากมหาวิทยาลัย ผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้ปกครอง ผู้กำหนดนโยบายจากภาครัฐ และหน่วยงานทางด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้อง

เราจะเห็นได้ว่ามีการวิจัยและข้อมูลที่พิสูจน์จากหลายสถาบันแล้วว่า วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อถ่ายทอดความรู้ สร้างการเรียนรู้ และบ่มเพาะวิชาชีพให้กับนักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพชัดเจนและมากขึ้น  นักการศึกษาทุกคนต่างก็มีความหวังว่าในกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติและหันมาทำงานร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาสู่การเรียนการสอนแบบดิจิทัลอย่างแท้จริง

 นวัตกรรมเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลได้เกิดขึ้นแล้ว และจะพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่องต่อไปที่จะเข้ามาทดแทนทรัพยากรการทำงานต่าง ๆ อย่างไม่สามารถหลีกหนีที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมดิจิทัลนี้ได้ ถึงเวลาแล้วที่นักการศึกษาจะต้องทบทวนบทบาทของตนเอง และร่วมกันปฏิรูปการทำงานและการเรียนการสอนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพทัดเทียมกับสังคมโลก