ปัจจุบันทุกอุตสาหกรรมต่างก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงานทั้งสิ้น ไม่เว้นแต่ในอุตสาหกรรมการแพทย์ (Health Care) ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ คือ เทคโนโลยีบ่งชี้อัตโนมัติ (Automatic Identification) หรือ “ออโต้ไอดี” (Auto ID)

Auto ID โซลูชั่นที่ขาดไม่ได้สำหรับ Health Care ยุค 4.0 

ออโต้ไอดี (Automatic Identification : Auto ID) ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือแสดงตัวตนของสิ่งมีชีวิตและวัตถุต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน เพื่อความสะดวกในการดำเนินงานที่ต้องอาศัยการบันทึกข้อมูลอย่างรวดเร็ว แม่นยำ แทนการนับชิ้นหรือจดบันทึกด้วยมือ

และหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดในขั้นตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเรียกใช้ การตรวจสอบ ในขณะที่หลากหลายบริษัทและห้างร้านนำเทคโนโลยีออโต้ไอดีดังกล่าวมาใช้ร่วมกับขั้นตอนการผลิตสินค้า การควบคุมสินค้าคงคลัง และโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ

Health Care

ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีออโต้ไอดีซึ่งคิดค้นและออกแบบมาอย่างชาญฉลาดในรูปแบบของฉลาก (Label) เครื่องพิมพ์ (Printer) เครื่องอ่าน (Reader) ฯลฯ มาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการรับ-จ่ายโลหิตโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยที่ต้องใช้เลือดเป็นหลัก

เนื่องจากโลหิตที่ถูกลำเลียงเข้า-ออกสภากาชาดไทยมีจำนวนเป็นร้อยเป็นพันหน่วยในแต่ละวัน ดังนั้นวิธีการใช้เจ้าหน้าที่ตรวจนับ ป้อนข้อมูล และสั่งพิมพ์ฉลากทีละใบด้วยระบบแมนนวล (Manual) จึงไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานของศูนย์ฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นการระบุข้อมูลด้วยฉลากถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในกระบวนการจัดการโลหิตของสภากาชาดไทย เพราะฉลากเป็นตัวบ่งชี้ข้อมูลและคุณสมบัติต่างๆ ที่จะติดอยู่กับถุงเลือดหรือหลอดแก้วเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือ สเต็มเซลล์ (Stem Cell) ในทุกขั้นตอน

นับตั้งแต่การบริจาคไปจนถึงการจ่ายให้กับโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการต่างๆ ด้วยเหตุนี้สภากาชาดไทยจึงต้องมั่นใจว่าฉลากที่ใช้ผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพ ทนทาน ไม่หลุดลอก เลอะเลือน หรือฉีกขาดง่าย และนำระบบออโต้ไอดีเข้ามาช่วยให้เกิดการบริหารจัดการงานที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำ

เพราะถ้าหากเกิดข้อผิดพลาดหรือความล่าช้าในระหว่างการระบุข้อมูลฉลากเหล่านี้ นั่นอาจหมายถึงความเสี่ยงถึงชีวิตของผู้ป่วยได้

Health Care
มร. ไดสุเกะ ทัตสึตะ หัวหน้ากลุ่มบริษัทซาโต้ ภูมิภาคเอเชีย และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซาโต้ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด และ บริษัท ซาโต้ ออโต้ไอดี (ประเทศไทย) จำกัด

มร. ไดสุเกะ ทัตสึตะ หัวหน้ากลุ่มบริษัทซาโต้ ภูมิภาคเอเชีย และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซาโต้ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด และ บริษัท ซาโต้ ออโต้ไอดี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง และช่วยผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์เข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการ ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

เราได้ผลิต และให้บริการด้านโซลูชั่นออโต้ไอดีแบบบูรณาการให้แก่สภากาชาดไทยในรูปแบบของฉลากติดถุงเลือด และสติกเกอร์ติดหลอดแก้วบรรจุสเต็มเซลล์ซึ่งได้รับมาจากผู้บริจาค ซึ่งจะบ่งบอกข้อมูลสำคัญ ได้แก่ กรุ๊ปเลือด วันหมดอายุ และหมายเลขของเลือดหรือสเต็มเซลล์ที่บรรจุอยู่ภายใน รวมทั้งหมดกว่า 60 รูปแบบ

Health Care
ฉลากบนหลอดตรวจเลือด

นอกจากนี้ สภากาชาดไทยยังใช้โซลูชั่นเครื่องพิมพ์ฉลาก ซึ่งติดตั้งระบบ AEP (Application-enabled printing) ลิขสิทธิ์เฉพาะของซาโต้ ทำให้สามารถพิมพ์ฉลากได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์

เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่สามารถพิมพ์ฉลากได้อย่างรวดเร็วกว่า 5,000 ใบภายในเวลาไม่กี่นาที เปลี่ยนจากเดิมที่ต้องป้อนข้อมูลและสั่งพิมพ์ฉลากทีละใบ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองเวลา และแรงงาน ได้มากขึ้น 

ฉลากที่ใช้ติดบนหลอดสเต็มเซลล์สามารถรองรับอุณหภูมิได้ถึงต่ำสุดที่ -30 องศา และทนทานต่อการปั่นในน้ำยาแยกพลาสม่ากว่า 4,000 รอบได้ เนื่องจากผลิตจากกาวห้องเย็นชนิดพิเศษที่ผ่านการทดสอบคำนวณอุณหภูมิ และริบบอน (หมึกพิมพ์) คุณภาพสูงที่สามารถทนต่อความเย็นในระดับอุณหภูมิเย็นจัดได้ มีคุณสมบัติไม่หลุดลอกเมื่อสัมผัสสารเคมีทางการแพทย์

Health Care

ด้าน อุดม ติ่งต้อย หัวหน้าฝ่ายผลิตน้ำยาแอนติซีรัมและผลิตภัณฑ์เซลล์  สภากาชาดไทย กล่าวว่า การเจาะเลือด และสเต็มเซลล์และการจัดเก็บนอกจากจะต้องใช้บุคลากรที่ผ่านการฝึกฝน และมีความรู้ความชำนาญ เพื่อให้สิ่งที่จัดเก็บสะอาดปราศจากเชื้อโรค และอยู่ในสภาพที่เหมาะสมที่สุดแล้ว

ยังต้องอาศัยเครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้คุณภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ขั้นตอนดำเนินไปอย่างราบรื่น รวมถึงป้องกันความผิดพลาดในขั้นตอนการลำเลียง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อผู้ป่วยได้ เนื่องจากกระบวนการบริจาคเลือดและสเต็มเซลล์ของสภากาชาดไทยต้องใช้ฉลากในปริมาณที่เยอะมากต่อวัน

เราจึงต้องมีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถทำการทดสอบและส่งต่อเลือดและสเต็มเซลล์ไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วที่สุด หลังจากเริ่มใช้โซลูชั่นออโต้ไอดี นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

สภากาชาดสามารถร่นระยะเวลาในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบ่งชี้อัตลักษณ์ (Identification) ในการรับ-จ่ายโลหิต ส่วนประกอบของโลหิต และสเต็มเซลล์ลงได้ถึง 97% เลยทีเดียว

ไม่หยุดพัฒนาเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่า

มร. ไดสุเกะ ทัตสึตะ กล่าวเสริมว่า แม้ว่าะบบที่มีอยู่จะดีอยู่แล้วเราก็ยังไม่หยุดพัฒนา เพื่อช่วยยกระดับงานบริหารจัดการของการแพทย์ให้ดีกว่าที่เป้นอยู่ จึงได้เปิดตัวโซลูชั่นใหม่ที่มีชื่อว่า PJM (Phase Jitter Modulation) เพื่อต้อนรับการเปลี่ยนผ่านของแวดวงการแพทย์ไทยสู่ยุค 4.0

โดยมุ่งเน้นการดำเนินการที่ไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโลหิตเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโลหิตของไทยให้ได้มาตรฐานระดับโลก ซึ่งโซลูชั่น PJM เป็นโซลูชั่นที่เราพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบและอ่านค่าบนฉลากของถุงบรรจุเลือดและหลอดสเต็มเซลล์อย่างครบวงจร

Health Care
Phase Jitter Modulation

โดยนำ “เทคโนโลยีบ่งชี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Identification) หรือ RFID มาใช้ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ป้าย และ อุโมงค์เครื่องอ่าน พร้อมสื่อสารกับผู้ใช้งานผ่านจุดเชื่อมต่อ (Interface) แบบต่างๆ ตลอดกระบวนการทำงาน

โดยโซลูชั่นดังกล่าวจะช่วยให้การทำงานระหว่างฉลาก และเครื่องอ่าน สามารถรับส่งกันในรูปแบบของคลื่นความถี่ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถอ่านข้อมูลบนฉลากได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวัตถุจำนวนมากซึ่งถูกจัดเรียงไว้ในลักษณะเป็นแถวหรือชั้นต่อกัน

ช่วยลดปัญหาการปนเปื้อนจากการเปิดภาชนะเพื่อตรวจสอบในระหว่างจัดส่ง รวมถึงความความคลาดเคลื่อนอันเกิดจากการอ่านข้อมูลโดยมนุษย์ ที่สำคัญคือระบบเครื่องอ่านอัตโนมัตินี้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของระบบอ่านข้อมูลป้ายโดยทั่วไปตรงที่สามารถอ่านและประมวลข้อมูล

Health Care

เช่น กรุ๊ปเลือด จำนวนของถุงเลือดที่ขนส่งมา หมายเลขของเลือด และวันหมดอายุ พร้อมทั้งแสดงผลได้อย่างแม่นยำ 100% แม้ในกรณีที่ถุงเลือดหรือหลอดสเต็มเซลล์ถูกวางซ้อนทับกันเป็นจำนวนมาก อีกหนึ่งประโยชน์สำคัญของโซลูชั่น PJM คือสามารถรักษาคุณภาพของเลือดให้คงที่ได้จนถึงจุดหมายปลายทางของการขนส่ง

กล่าวคือเมื่อเลือดหรือสเต็มเซลล์ถูกจัดส่งไปยังโรงพยาบาลที่หมาย เจ้าหน้าที่ผู้รับจะสามารถตรวจสอบถุงเลือดและสเต็มเซลล์ได้ง่ายๆ ในทันทีโดยการนำภาชนะหรือกระติกที่ใส่เลือดหรือสเต็มเซลล์มาไปผ่านอุโมงค์เพื่ออ่านข้อมูล โดยใม่ต้องเปิดภาชนะออกมาสัมผัสและตรวจสอบทีละชิ้น

ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองเวลา ก่อให้เกิดการเจือปนได้ง่าย และทำให้อุณหภูมิของเลือดไม่คงที่ ซึ่งอาจทำให้เลือดหรือสเต็มเซลล์นั้นๆ เสื่อมคุณภาพจนไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ในที่สุด ซึ่งการนำเทคโนโลยี RFID มาใช้ในโซลูชั่นนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นกลุ่มเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้กับวัตถุที่ต้องอาศัยความรัดกุม

และแม่นยำในการตรวจสอบสถานะเป็นอย่างสูง โดยปัจจุบันโรงพยาบาลกว่า 100 แห่ง ในประเทศออสเตรเลียใช้โซลูชั่นดังกล่าวในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกและกล้ามเนื้อ และมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตข้างหน้า ประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงก็มีโอกาสที่จะนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ประโยชน์

ทางการบริหารจัดการคลังเลือดเช่นกัน โดยซาโต้วางแผนที่จะเปิดตัวเทคโนโลยี PJM รุ่นล่าสุดสำหรับด้านเวชศาสตร์บริการโลหิตพร้อมทั้งนำเสนอผลทดสอบการทำงานของเครื่อง ณ งานประชุมนานาชาติ International Society of Blood Transfusion (ISBT) ที่ประเทศแคนาดา ในเดือนมิถุนายนปีนี้

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการนำเอาระบบออโต้ไอดีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการโลหิตในปัจจุบันนั้นก่อให้เกิดประโยชน์แก่การบริหารจัดการโลหิตในสภากาชาดไทยอย่างมากมาย ทั้งในด้านความรวดเร็วและความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล

อีกทั้งยังช่วยให้สามารถควบคุมทั้งคุณภาพของเลือดในระหว่างการจัดแก็บ และแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศได้ นับเป็นอีกเครื่องพิสูจน์ว่าไม่ว่าธุรกิจหรือองค์กรของคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็ตาม

ระบบออโต้ไอดีจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินงานก้าวต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างแน่นอน

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่