จิสด้า (Gistda) เผยความร่วมมือกรมการพัฒนาชุมชน เร่งใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการวิเคราะห์ วางแผน ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาชุมชน สนับสนุนการแก้ไขปัญหาชุมชน ในมิติด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน สังคมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของจังหวัดนครพนม
Gistda จับมือ กรมการพัฒนาชุมชน เร่งใช้ Big Data “ลดความเหลื่อมล้ำ”
อดุลย์ อินทรพาณิชย์ หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า จังหวัดนครพนมมีความโดดเด่น และอัตลักษณ์ที่น่าสนใจในหลายมิติ จะทำอย่างไรให้ประชาชนในจังหวัดนครพนมมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยใช้ศักยภาพของจังหวัดที่มีอยู่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ประชาชนในจังหวัดมีรายได้เพิ่มขึ้น และนักท่องเที่ยวเดินทางมาจังหวัดเพิ่มขึ้น ในยุคที่โลกไร้พรมแดน โลกแห่งพลังโซเชี่ยล จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่หลากหลายรูปแบบ การให้ความรู้แก่ประชาชน
รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ ให้เข้าถึงข้อมูล เทคโนโลยี และองค์ความรู้ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญมาก
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้าจึงได้นำเทคโนโลยี นวัตกรรมภูมิสารสนเทศเข้ามาให้ความรู้กับหน่วยงาน และประชาชน
ซึ่งนับว่าจะเป็นอีกกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนามิติต่างๆ ของจังหวัดนครพนมได้ตามนโยบายเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด
ซึ่งในส่วนของกรมการพัฒนาชุมชนนั้นมีฐานข้อมูลที่ถือได้ว่า เป็น Big Data ของประเทศที่เกี่ยวกับการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนเลยก็ว่าได้ การทำงานร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน จะเป็นแนวทางการทำงานยุคใหม่ ที่เน้นการบูรณาการเชื่อมโยง ข้อมูล องค์ความรู้ สร้างเครือข่าย เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ
เพื่อร่วมวิเคราะห์ วางแผน ติดตามและประเมินผลการพัฒนาชุมชน โดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ซึ่งจังหวัดนครพนมถือว่ามีศักยภาพเชิงพื้นที่ มีความโดดเด่นและเป็นจังหวัดที่มีความเป็นเมืองแห่งความสุข สงบใช้ชีวิตแบบ Slow Life นอนนครพนม 1 คืน อายุยืน 1 ปี แสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองที่อากาศดีมีความสงบ
เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีสภาพภูมิอากาศดี สภาพภูมิประเทศริมแม่น้ำโขงที่สวยงาม มีองค์พระธาตุพนมซึ่งเป็นพระธาตุเก่าแก่ที่สุด ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ มี Land Mark องค์พญาศรีสัตตนาคราช มีสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) เป็นสะพานข้ามโขงที่สวยงามที่สุด
และยังเป็นเมืองที่ได้รับการประกาศว่าเป็นเมืองแห่งความสุขในประเทศไทยเมื่อปี 2556 นอกจากนี้ จังหวัดนครพนม ยังมุ่งหวังการพัฒนาด้านเกษตรปลอดภัยแบบอินทรีย์นวัตกรรมนครพนมสู่ไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ไม่ว่าจะเป็น ข้าว (หอมมะลิ ,ข้าวเหนียว) โคเนื้อคุณภาพสูง ปลาแม่น้ำโขง ลิ้นจี่นครพนม (พันธุ์นพ.1) โดยการสร้างแบรนด์ ยกระดับไปสู่ตลาดคุณภาพสูง การแปรรูปเพิ่มมูลค่า เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร รวมถึงการยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ให้สามารถแข่งขันได้ ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งใน และต่างประเทศ
ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริม สร้างความตระหนัก และพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ทั้งพัฒนาชุมชนส่วนจังหวัด และส่วนอำเภอ สำหรับจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 25-26 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา
นับได้ว่าเป็นจังหวัดที่ 3 ที่ จิสด้าและกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคลากรระดับจังหวัด โดยมีนักวิชาการพัฒนาชุมชน พัฒนาการอำเภอธาตุพนม รวมทั้งผู้นำชุมชนจากตำบลดอนนางหงส์และตำบลนาถ่อนเข้าร่วมประชุม
และรับฟังการนำเสนอเกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านภูมิสารสนเทศจากทีมนักวิชาการของจิสด้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทดลองใช้งานระบบสนับสนุนการตัดสินใจ ลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ บนฐานการรักษาความมั่นคงของทรัพยากร (G – Social)
และเพื่อให้เห็นมิติเชิงภาพฉาย (Scenario) ของการประยุกต์ใช้งานด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ การดำเนินงานบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล กชช.2ค และ จปฐ. สู่การวางแผน ติดตาม ประเมินผล ด้านการพัฒนาชุมชน
“การจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรนั้น
จำเป็นต้องมีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ ชุดข้อมูล ดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข ความเหลื่อมล้ำของประชาชนคนไทย โดยมีการนำเสนอและแสดงผลในรูปแบบแผนที่ และข้อมูลสถิติที่เข้าถึงได้ง่ายไม่ซับซ้อน
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและทรัพยากรของประเทศได้อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ก็เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามแนวนโยบายของรัฐบาล สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า SDGs ร่วมกันนั่นเอง
จังหวัดนครพนม ถือเป็นจังหวัดชายแดนริมแม่น้ำโขง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากกรุงเทพประมาณ 740 กิโลเมตร มีประชากร 717,805 คน ประชากร 50% ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จากการจากข้อมูล จปฐ. ปี 2560 มีประชาชน 16,409 คน จาก 4,608 ครัวเรือน
คิดเป็น 2.77% ซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์เป้าหมาย 38,000 บาท/ครัวเรือน/ปี จากการสำรวจครัวเรือนทั้งหมด 166,482 (ที่มา : พช.)
*ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของ ได้ที่ www.gistda.or.th
ส่วนขยาย
* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่