Sharing Economy หรือ Gig Economy เป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน โดยได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกตั้งแต่ปี 1978 ในบทความเชิงวิชาการเรื่อง “Community Structure and Collaborative Consumption” โดย Marcus Felson และ Joe Spaeth ซึ่งทั้งคู่เป็นนักสังคมศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัย Illinois at Urbana-Champagne
ในปัจจุบัน แนวคิดนี้สะท้อนถึงความสามารถในการสร้างรายได้ที่มาจากการแลกเปลี่ยนการบริโภคสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้แล้วระหว่างบุคคลและกลุ่มคนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มรูปแบบต่าง ๆ
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้นมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1. สภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอภายหลังจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีอัตราการว่างงานสูง และ 2. การเข้าถึงข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์และการประมวลผลแบบ Cloud Computing ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เข้าถึงข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณซึ่งเกี่ยวกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ธุรกิจสามารถใช้เทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัลในการจับคู่ระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ โดยผู้ให้บริการสามารถจัดสรรช่วงเวลาเพื่อแบ่งปันสินค้าหรือการบริการนั้น ๆ ขณะที่ผู้บริโภคก็สามารถเลือกและเข้าถึงสินค้าหรือการบริการดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อมาเป็นเจ้าของ เช่น รถยนต์ ที่อยู่อาศัย จักรยาน หรือเครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น
ตัวอย่างของธุรกิจยอดฮิตในแบบ Sharing Economy ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ได้แก่ Airbnb และ Uber โดย Airbnb เป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมบริการที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2008 และให้บริการที่พักในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ห้องพักเดี่ยวสำหรับ 1 คืน ที่พักในปราสาทสำหรับ 1 สัปดาห์ หรือที่พักในวิลล่าสำหรับ 1 เดือน ปัจจุบันมีเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมถึง 34,000 เมืองใน 191 ประเทศ
นอกจากนี้ Uber ธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาในปีเดียวกัน ก็นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมขนส่งและคมนาคม โดยปัจจุบันให้บริการใน 494 เมืองทั่วโลก รวมถึงในประเทศสังคมนิยมอย่างจีน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ Didi Chuxing ธุรกิจรถร่วมโดยสารสัญชาติจีนได้ควบรวมกิจการโดยเข้าซื้อธุรกิจ Uber ในจีนเป็นที่เรียบร้อย ด้วยวงเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากตัวอย่างข้างต้นสะท้อนได้ว่า sharing economy ได้กลายเป็นกระแสนิยมไปทั่วโลก โดยความสำเร็จและอิทธิพลของธุรกิจดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงการบริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป จากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการประเมินสินค้าและการบริการรวมถึงความคุ้มค่าในเรื่องของเวลา ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่าง ๆ จากการซื้อสินค้าและบริการนั้น ๆ
ข้อดีของ Sharing Economy
ข้อดีที่สำคัญของแนวคิดนี้คือ 1. ลดค่าใช้จ่ายแทนการซื้อสินทรัพย์หรือการเช่าสินทรัพย์จากผู้ให้เช่าในรูปแบบเดิม และ 2. ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการคำนึงถึงความคุ้มค่าและการจัดสรรทรัพยากรที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่จะต้องตัดสินใจซื้อสินค้าที่สามารถแบ่งปันกันได้หรือสินค้าที่มีราคาสูง
งานวิจัยของ Ernst & Young ในปี 2015 ประเมินมูลค่าของสินค้าที่สามารถแบ่งปันได้ เช่น ยานพาหนะ อุปกรณ์เจาะ เครื่องตัดหญ้า คิดเป็น 20-30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือน และจากผลสำรวจของ Harvard Business Review ได้พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะยอมแบ่งปันทรัพยากรถ้าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อย 25% ของราคาสินทรัพย์นั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าที่มีอายุน้อยมักจะมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ
Sharing Economy มีข้อเสียอย่างไร
ข้อเสียประการแรกของแนวคิดนี้คือก่อให้เกิดวัฒนธรรมการบริโภคแบบชั่วคราว โดยผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เน้นความสะดวกและราคา มากกว่าคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคและกลุ่มธุรกิจ เพราะส่วนใหญ่จะใช้บริการสินค้าหรือบริการนั้น ๆ เพียงครั้งเดียว
นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อมาตรฐานและตลาดแรงงาน โดยเฉพาะงานบางประเภทที่ผู้ให้บริการไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้มาก่อน และเข้ามาดำเนินการเพื่อเป็นอาชีพเสริม รวมถึงอาจมีกลุ่มคนทำงานบางส่วนเปลี่ยนมาหารายได้จากการปล่อยเช่าสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มากขึ้นแทนการทำงานประจำ
ซึ่งจะทำให้ลดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะการทำงานเฉพาะ ซึ่งนั่นอาจจะก่อให้เกิดปัญหาความไม่สอดคล้องของการศึกษาต่อตลาดแรงงาน (Labor Market Mismatch)
หน่วยวิจัย Oxford Martin School ได้ประเมินผลกระทบของ Sharing Economy ว่าคิดเป็น 0.25% ของ GDP ถึงแม้สัดส่วนของผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะยังไม่สูงมากนัก หากแต่สามารถส่งผลกระทบอย่างสูงกับบางอุตสาหกรรม เช่น
ในช่วงเวลาตั้งแต่สิ้นปี 2016 การแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการมีทิศทางที่ดุเดือดขึ้น เมื่อธุรกิจ Airbnb ได้ให้บริการห้องพักจำนวนหลายล้านห้อง ซึ่งมากกว่าห้องพักที่โรงแรมในเครือ InterContinental และ Hilton ทั่วโลก ซึ่งเปิดให้บริการในช่วงเวลาเดียวกัน หรือบริการของธุรกิจ Uber และธุรกิจรถร่วมโดยสารที่ทำให้จำนวนรถแท็กซี่ใหม่ในสหราชอาณาจักรลดลงถึง 97% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2016
การสำรวจของนักวิจัยจาก Boston Fed ในเดือนธันวาคม 2013 พบว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่ผู้ใช้บริการชำระให้กับผู้ให้บริการอย่าง Uber และ Airbnb ไม่ได้นำมานับรวมในการคำนวณ GDP ดังนั้น ทำให้รายได้รวมจากการทำงานนอกระบบเพิ่มขึ้น หรือคิดเป็น 4.4% ของรายได้จากการทำงานในระบบ
การพัฒนาล่าสุดในด้านกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ทั่วโลก
รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ได้ริเริ่มการกำหนดกฎระเบียบสำหรับกำกับดูแลแชริ่งอีโคโนมี่ เช่น ในเดือนมิถุนายน 2016 นายกเทศมนตรีจากนิวยอร์ก ปารีส และเมืองอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง ได้ตกลงร่วมกันเพื่อร่างข้อกำหนดและจัดตั้งกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับแอพพลิเคชันสำหรับการเช่าบ้านและการว่าจ้างรถยนต์
นอกจากนี้ หน่วยงานที่กำกับดูแลยังชี้ให้เห็นอีกว่าผู้ให้บริการบางส่วนอาจจะไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ หรือเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการบริหารที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการกลุ่มนี้มีความได้เปรียบและสามารถกำหนดราคาสินค้าให้ต่ำกว่าผู้ประกอบการอื่นได้
ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานที่กำกับดูแลจากทั่วโลกจึงตั้งใจที่จะแก้ปัญหาในประเด็นด้านภาษี ยกตัวอย่างในปี 2015 รัฐบาลฝรั่งเศสได้บังคับให้ Airbnb เริ่มคิดภาษีท่องเที่ยวกับห้องพักในปารีส ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท และต่อมาได้ขยายขอบเขตการใช้มาตรการเดียวกันนี้ในอีก 18 เมืองทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2016 เป็นต้นมา
ผลกระทบกับประเทศไทย
ในขณะที่ในต่างประเทศได้เริ่มมีการวางกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อรองรับแชริ่งอีโคโนมี่แล้ว แต่รัฐบาลไทยในปัจจุบันยังไม่ได้กำหนดให้มีการใช้หรือปรับแก้กฎหมายใด ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ยังคงใช้กฎหมายเดิมเพื่อกำหนดตลาด
เช่น กรมการขนส่งทางบกได้สั่งหยุดการให้บริการของ GrabBike และ UberMoto เนื่องจากการบริการของธุรกิจดังกล่าวขัดกับกฎระเบียบของการขนส่งสาธารณะ ซึ่งช่องโหว่ในนโยบายที่เกี่ยวกับแชริ่งอีโคโนมี่ดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจไทยขาดประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ จากการต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคจากข้อบังคับของกรอบกฎหมายที่ล้าสมัย
อย่างไรก็ดี สมาคมต่าง ๆ ในไทยไม่ได้ละเลยประเด็นดังกล่าว โดยมีความพยายามคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทยได้เปิดตัวแอพพลิเคชัน Go Bike ซึ่งพัฒนาในไทย เพื่อแก้ไขปัญหาทางกฎหมายที่กระทบต่อแอพพลิเคชันเรียกบริการแท็กซี่ในลักษณะเดียวกัน
เช่น Grab และ Uber จากประเด็นข้างต้น จึงเห็นว่าแนวโน้มของแชริ่งอีโคโนมี่มีความชัดเจน โดยจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต ดังนั้น การพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความครอบคลุมและสอดคล้องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาอย่างยิ่งในระยะต่อไป