กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 เมื่อ Tim Berners-Lee ผู้สร้าง World Wide Web ได้ชี้ให้เห็นว่า “ข้อมูลจะเป็นวัตถุดิบชนิดใหม่ของศตวรรษที่ 21” ในเวลานั้นเขาได้อธิบายไว้อย่างแจ่มแจ้งว่าทิศทางของเศรษฐกิจด้านต่างๆ จะเปลี่ยนจากการทำงานในระบบอุตสาหกรรมหนึ่งๆ ไปเป็นการใช้ข้อมูลเชิงลึกและความชาญฉลาด

แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ข้อมูลได้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบทุบสถิติกันทีเดียว เปลี่ยนจากแนวทางที่เป็นขั้นเป็นตอนซึ่งสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ยึดมั่นตามหลักการทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีมานานแล้ว แต่ข้อมูลแตกต่างจากวัตถุดิบอื่นๆ เพราะเมื่อข้อมูลมากขึ้น ก็จะมีค่ามากขึ้นตามไปด้วย

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตสหภาพยุโรป (GDPR) ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม เป็นกฎหมายล่าสุดที่วางมาตรฐานและคุ้มครองการใช้ข้อมูล โดยกำหนดให้มีกฎในการใช้ข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมข้อมูลของตนได้มากขึ้น

GDPR แม้ดูเหมือนจะส่งผลต่อธุรกิจที่อยู่ในสหภาพยุโรป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะไม่ได้รับผลกระทบไปด้วย องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างด้านความปลอดภัยของตน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดใหม่ของ GDPR ซึ่งย่อมเกี่ยวข้องกับธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป

ในอาเซียนประเทศไทยเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับสามของสหภาพยุโรป และสหภาพยุโรปเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในตลาดไทยเป็นอันดับสองรองจากประเทศญี่ปุ่น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจในประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามกฎระเบียบใหม่ๆ

GDPR เป็นโอกาส ไม่ใช่ภาระ

กฎข้อบังคับใหม่นี้อาจดูเหมือนเป็นการเพิ่มภาระ แต่เราควรมองว่า เป็นโอกาสที่จะช่วยให้องค์กรทั้งหลายใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้มากที่สุด เรากำลังก้าวสู่โลกที่ขับเคลื่อนด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อกัน การใช้อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ และปัญญาประดิษฐ์รูปแบบใหม่ๆ ซึ่งล้วนมีบิ๊กดาต้าเป็นศูนย์กลาง การที่จะประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ วิธีการบริหารจัดการข้อมูลของธุรกิจต่างๆ จะต้องได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนทั่วไป

นอกจากนี้ ข้อมูลที่ธุรกิจเป็นเจ้าของอาจสร้างความต่างในการแสวงหาโอกาสดีๆ ทางการตลาด หรือนำไปสู่ความสำเร็จเหนือคู่แข่งได้อีกด้วย ข้อมูลอาจช่วยชี้ให้เห็นโอกาสที่จะลดค่าใช้จ่ายหรือเปิดตลาดใหม่ๆ ข้อมูลจึงมีค่ามากกว่าแค่การรับรู้ แต่ต้องได้รับการบันทึกแยกแยะ ให้ความสำคัญ และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์

การ์ทเนอร์ได้ทำการสำรวจระดับโลก โดยขอให้ผู้ตอบแบบสำรวจให้คะแนนด้านความสมบูรณ์ของข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทต่างๆ โดยแบ่งเป็นห้าระดับด้วยกัน

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ผลสำรวจพบว่า 48 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรในเอเชียแปซิฟิกรายงานว่าข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลของตนมีความสมบูรณ์อยู่ในสองระดับสูงสุด ในขณะที่ในอเมริกาเหนือมีความสมบูรณ์ในระดับเดียวกันนี้ 44 เปอร์เซ็นต์ และเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ในยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา (EMEA)

จากผลสำรวจเบื้องต้น อาจกล่าวได้ว่า องค์กรธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกได้เริ่มต้นกระบวนการจัดการข้อมูลแล้ว และมีการวิเคราะห์ข้อมูลที่สมบูรณ์ครบถ้วนกว่าองค์กรในลักษณะเดียวกันทั่วโลก องค์กรธุรกิจในภูมิภาคนี้พร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากการจัดการข้อมูลที่ชัดเจนและแข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการนำข้อมูลไปใช้ และแสวงหาโอกาสเชิงกลยุทธ์ให้กับองค์กรของตนมากขึ้นได้ในที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่า การที่องค์กรธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกต่างทำให้ข้อมูลของตนมีความสมบูรณ์ได้เท่าใด ก็จะช่วยให้ทำกำไรได้มากขึ้นในการทำธุรกิจตามเงื่อนไข GDPR

กฎข้อบังคับต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้นองค์กรธุรกิจควรมองว่า GDPR เป็นโอกาสดีที่จะปรับระเบียบองค์กรให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากช่วยให้บริษัทต่างๆ ทำงานได้ประสิทธิผลมากขึ้นแล้ว กฎเกณฑ์ในการปกป้องข้อมูลจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากขึ้น และแนวทางที่ชัดเจนในการเคลื่อนย้ายข้อมูลในธุรกิจต่างๆ จะเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง

ความสำคัญของการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลใกล้แตะระดับที่ต้องให้ความระมัดระวังเช่นเดียวกับการที่การเงินของธุรกิจจะต้องได้รับการตรวจสอบ เก็บรายละเอียด บันทึก และควบคุมอย่างรัดกุม หรืออาจกล่าวได้ว่าการดูแลข้อมูลก็เหมือนกับการกำกับดูแลด้านการเงินที่เหมาะสมของธุรกิจหนึ่งๆ ซึ่งจะเชื่อมโยงถึงคุณค่าและความสำเร็จของธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากคิดในแนวทางนี้แล้ว ข้อมูลก็จะได้รับการพัฒนาจนสมบูรณ์เช่นเดียวกับวัตถุดิบอื่นๆ การค้นพบข้อมูลและการสร้างสรรค์แนวทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อเสาะแสวงหาและเก็บรวบรวมข้อมูล ก็เป็นการสร้างมูลค่าอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่คุณค่าที่แท้จริงของมันจะปรากฎขึ้นก็ต่อเมื่อมีใครคนหนึ่งได้เริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ จากวัตถุดิบเหล่านั้น

เมื่อการใช้ข้อมูลเหล่านั้นได้ถึงระดับที่มีมูลค่าต่อธุรกิจแล้ว จำเป็นต้องมีมาตรฐานการใช้ที่เข้มงวดมากขึ้น และต้องควบคุมเพื่อคงคุณค่าและคงความพร้อมใช้ข้อมูลเหล่านั้นไว้ ในขณะที่ต้องมั่นใจได้ว่ามีการนำไปใช้อย่างมีความรับผิดชอบ

คว้าโอกาสจากข้อมูลที่สร้างรายได้

องค์กรธุรกิจในภูมิภาคนี้จึงไม่ควรรอดู และทำตามข้อกำหนดขั้นต่ำของกฎเกณฑ์นี้เท่านั้น ในทางตรงกันข้าม หากลงมือทำทันที บริษัทจะสามารถรับรองได้ว่า แนวทางการเข้าใช้ข้อมูลของตนเป็นไปตามข้อกำหนด และมีความมั่นใจที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าของตนอย่างต่อเนื่อง

ด้วยบริการที่เป็นส่วนตัวให้ตรงความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ดีขึ้น และมากขึ้น องค์กรที่ทำงานเชิงรุกและมองข้ามภาระด้านกฎระเบียบระยะสั้นไปได้เท่านั้น จะได้รับโอกาสใหญ่ๆ ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นเสมอ