เอคเซนเชอร์ เผยผลวิจัย “ธุรกิจโรงกลั่นอัจฉริยะ” (Intelligent Refinery) ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สามารถสร้างผลกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นกว่า 7% ในช่วง 12 เดือน…
Intelligent Refinery สร้างกำไรธุรกิจน้ำมัน และแก๊สเพิ่มขึ้น
เอคเซนเชอร์ (ACN) เผยผลวิจัยชุดใหม่พบธุรกิจโรงกลั่นสามารถสร้างผลตอบแทนทางการเงินได้จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ แต่ก็ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่จากการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีอันก้าวล้ำ
“ธุรกิจโรงกลั่นอัจฉริยะ“ (Intelligent Refinery) เป็นงานวิจัยชิ้นที่สองที่เอคเซนเชอร์จัดทำเป็นรายปี เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมัน โดยได้ข้อมูลจากการสำรวจกลุ่มผู้บริหาร หัวหน้าสายงาน และวิศวกรในอุตสาหกรรมโรงกลั่น 170 คนทั่วโลก
ซึ่งนอกจากผลวิจัยจะระบุถึงผลประโยชน์ทางการเงินจากเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่าธุรกิจโรงกลั่นยังลงทุนไม่เต็มที่พอที่จะสามารถจัดการกับปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่เพิ่มปริมาณขึ้นตามเทคโนโลยีดิจิทัล
โดยจากแบบสำรวจ 41% ระบุว่า บริษัทของตนมองเห็นผลตอบแทนทางการเงินที่ได้จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้แล้ว ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่มีสัดส่วน 30% ที่ยอมรับว่าเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นกว่า 7% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ 1 ใน 5 หรือ 20% ของผู้ตอบยังกล่าวว่าเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเพิ่มมูลค่าของธุรกิจได้ 50-100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออาจมากกว่านั้น ขณะที่ ผู้ตอบ 1 ใน 3 หรือ 33% ระบุว่า มูลค่าที่เพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 5-50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ผลตอบแทนทางการเงินที่จับต้องได้อาจเป็นส่วนช่วยอธิบายถึงสาเหตุของการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลของกิจการมากกว่าครึ่ง (59%) ที่สำรวจในปีนี้ ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยกิจการต่าง ๆ ได้ลงทุนด้านดิจิทัลมากขึ้นหรือมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับการลงทุนในระยะ 12 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ 3 ใน 4 หรือ 75% ของผู้ตอบแบบสำรวจยังมีแนวโน้มเพิ่มการลงทุนอีกในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 60% ของผู้ตอบในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ายังมีความต้องการเทคโนโลยีดิจิทัลอีกมาก
ในทำนองเดียวกัน ธุรกิจโรงกลั่นเกือบครึ่ง (48%) ประเมินว่าได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กรเต็มที่หรือค่อนข้างเต็มที่แล้ว (เพิ่มขึ้น 44% ในการสำรวจปีที่แล้ว) อย่างไรก็ดี โรงกลั่นส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลนอกเหนือจากระบบที่พัฒนาแล้วเช่น อนาลิติกส์ (Analysis)
เมื่อถามถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมากที่สุดสำหรับธุรกิจโรงกลั่น ผู้ตอบส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นระบบควบคุมกระบวนการปฏิบัติงานที่ทันสมัย และระบบวิเคราะห์อนาลิติกส์ที่ก้าวหน้า ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ผู้ตอบ 61% และ 50% ตามลำดับ ซึ่งเป็นสองเทคโนโลยีที่คาดว่าจะมีการลงทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
ในขณะที่เทคโนโลยีอื่นๆที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น เซนเซอร์เทคโนโลยี IoT เอดจ์คอมพิวติ้ง (edge computing) เทคโนโลยีความจริงผสม (mixed reality) เทคโนโลยีโมบิลิตี้ (mobility) บล็อกเชน/สมาร์ตคอนแทร็กส์ (blockchain / smart contract) จะนำมาใช้เพียงบางส่วนหรือใช้เป็นโครงการนำร่อง
จึงมีแนวโน้มว่าจะได้รับการจัดสรรเงินทุนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่ใช้อยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ องค์กรจึงจำเป็นต้องบริหารยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริหารประมาณ 1 ใน 4 หรือ 24% เปิดเผยว่า ยังไม่มีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนว่าใครจะมาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล
ซึ่งที่จริง ผู้บริหารประมาณ 43% ยังเผยว่า การไม่มีกลยุทธ์ด้านดิจิทัลที่ชัดเจนนี้เอง ที่เป็นอุปสรรคในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ เข้ามาใช้กับธุรกิจโรงกลั่น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว แม้จะมีผู้บริหารเพียง 11% ที่เผยว่ามีประธานเจ้าหน้าที่ด้านดิจิทัลเข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนวาระต่าง ๆ ด้านดิจิทัล
แต่หลายองค์กรในธุรกิจโรงกลั่นได้มุ่งไปที่การปรับแนวทางกำกับดูแล เพื่อให้องค์กรสามารถปรับโฉมปฏิรูปไปสู่ยุคดิจิทัล (digital transformation)ได้ดียิ่งขึ้น พร้อมรับมือกับการหลอมรวมระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบปฏิบัติการต่าง ๆ
สัดส่วนที่แน่ชัดคือ 1 ใน 3 หรือ 34% ของผู้บริหาร เปิดเผยว่ากำลังเร่งปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และมากกว่า 1 ใน 4 หรือ 28% เผยว่ามีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ และ 15% กล่าวว่ามีการตั้งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง (C-level) ใหม่เพิ่มขึ้น
“ปัจจุบันนี้ ธุรกิจโรงกลั่นนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับศักยภาพแท้จริงที่ดิจิทัลสามารถทำได้”
อินทิรา เหล่ามีผล กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจพลังงาน และทรัพยากร เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว สิ่งที่ควรทำต่อไปคือ การผสานและใช้งานเทคโนโลยีต่างๆอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ในธุรกิจใหม่ และปรับเปลี่ยนการทำงานในโรงงานทั้งหมด
ซึ่งรายงานล่าสุดของเอคเซนเชอร์เรื่อง ดัชนีชี้วัดระดับความเสี่ยงของธุรกิจต่อการถูกเปลี่ยนโฉม (Disruptability Index) ได้ชี้ชัดว่า อุตสาหกรรมพลังงานจัดเป็นประเภทธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนโฉม (disruption) ในอนาคตมากที่สุด การเพิ่มการลงทุนด้านดิจิทัลอย่างมียุทธวิธี
จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพ และผลการดำเนินงาน และช่วยให้โรงกลั่นผ่านพ้นสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งมีสัญญาณปรากฏให้เห็นแล้วว่า ธุรกิจต่างตระหนักถึงเรื่องนี้ และกำลังดำเนินการเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลให้ได้อย่างเต็มที่
ภัยคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มขึ้น ยิ่งต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเพิ่มเพื่อป้องกัน
การคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลองค์กรต้องยกระดับความสามารถของระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในการต้านทาน และโต้ตอบอยู่ตลอดเวลา โดยเห็นได้ชัดเมื่อ 28% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า เล็งเห็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา
ประเด็นที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือ ภัยนี้เกิดขึ้นในช่วงที่การดำเนินงานในองค์กรต่างๆเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันมากกว่าในอดีต ซึ่งกลายเป็นเป้าสำหรับภัยคุกคามหลายลักษณะ โดย 1 ใน 3 หรือ 33% ของผู้ตอบยอมรับว่า ไม่ทราบจำนวนการโจมตีทางไซเบอร์ว่าเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วกี่ครั้ง
ความจำเป็นเรื่องนี้ยิ่งมีแรงกดดันมากขึ้น เมื่อ 38% ของผู้ตอบยอมรับว่า ความปลอดภัยทางข้อมูลเป็นอุปสรรคต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กร โดยความเสี่ยงที่ผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่ามีส่วนสัมพันธ์กับความปลอดภัยทางไซเบอร์ คือ
ผลกระทบต่อการดำเนินงาน (67%) ผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน (39%) และการละเมิดข้อมูล (39%) อย่างไรก็ตาม มีผู้บริหารเพียง 28% ที่ระบุให้เครื่องมือด้านดิจิทัลที่เข้ามาเพิ่มสมรรถนะความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็น 1 ใน 3 เรื่องสำคัญที่สุดในการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
และผู้ตอบก็กังวลว่าการลงทุนด้านดิจิทัลที่ไม่เพียงพอนั้น จะส่งผลต่อความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างไร (ระบุโดย 67% ของผู้ตอบ) กังวลว่าดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มอัตรากำไรได้อย่างไร (64%) และกังวลว่าการลงทุนด้านดิจิทัลที่ไม่จริงจัง อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินงานอย่างไร (58%)
“ยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันมากขึ้น มีความเสี่ยงและเป็นเป้าโจมตีได้ง่ายขึ้น ก็ยิ่งจำเป็นต้องลงทุน อย่างน้อยก็ต้องให้ก้าวหน้ากว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น“
การจะก้าวไปข้างหน้าได้ก็ต้องเริ่มการลงทุนตั้งแต่วันนี้ เพื่อวางพื้นฐานความสามารถในการรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อการป้องกับระบบการดำเนินงานต่าง ๆ ในอนาคต
ส่วนขยาย
* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุประสงค์มุ่งเพื่อโจมตีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Digital Content)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่