โคนิก้า มินอลต้า (KONICA MINOLTA) มองเทรนด์อุตสาหกรรมการพิมพ์
KONICA MINOLTA ยันอุตสาหกรรมการพิมพ์ยังโต
มาซาชิ มิยาโมโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคนิก้า มินอลต้า บิสสิเนส โซลูชันส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานสัมมนา “Packaging on Demand” ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ และตลาดดิจิทัลในประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
หากอ้างอิงตามผลการวิจัยฉบับหนึ่งจะพบว่า ในปี 2013 มีการประเมินมูลค่าของอุตสาหกรรมการพิมพ์บรรจุภัณฑ์และฉลากดิจิทัลสูงกว่า 7.3 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 15.3 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2018 และคาดว่ายังคงทะยานสูงขึ้นจนถึง 22.1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี 2022
โดยสาเหตุที่ทำให้วงการอุตสาหกรรมการพิมพ์บรรจุภัณฑ์และฉลากจะต้องพึ่งพาการพิมพ์แบบดิจิทัลมากขึ้น เป็นเพราะว่าปัจจุปันเรามีกลุ่มลูกค้า SME มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ SMEถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้จากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
รวมถึงการเติบโตของดิจิทัลแพลตฟอร์มและระบบ E-commerce ที่ส่งผลทำให้ธุรกิจ SME และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้การพิมพ์แบบอนาล็อกอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับลูกค้ากลุ่มนี้
ด้าน พงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายกสมาคมการพิมพ์ไทย กล่าวว่า ในอดีตอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย เติบโตจากธุรกิจครอบครัว มาเป็น Small and medium Enterprise แต่ด้วยเทรนด์ “Smart Printing Transformation”
ในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อก้าวไปสู่ Smart and Medium Enterprise จากการดิสรัปชั่น (Disruption)ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี อันส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์แทบจะตั้งรับไม่ทัน จากเดิมสื่อสิ่งพิมพ์ กระดาษ ที่เคยจับต้องได้
เปลี่ยนมาอยู่ในรูปของแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน และสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ทุกอย่าง จึงส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้มองว่าการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่ยุค “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แต่เป็น “ปลาเร็ว กินปลาช้า”
ดังนั้นการที่ธุรกิจในอุตสาหกรรมการพิมพ์จะเดินต่อไปได้ ต้อง Transforms ให้ไปในทิศทางเดียวกัน คือ ธุรกิจต้องมียุทธศาสตร์ มีความ Smart มีแผนธุรกิจและการตลาดชัดเจน โดยเฉพาะกลยุทธ์เพื่อรองรับตลาดในยุค “แพจเกจจิ้ง 4.0” ในทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูก
ตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองธุรกิจนี้ว่ามีการเติบโตเฉลี่ย 3-5 % จากการปรับตัวทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ในปี 2561 มีประมาณ 4.63 ล้านตัน เติบโตขึ้นกว่า 3.9 % โดยบรรจุภัณฑ์ที่เติบโตมากที่สุดคือ กระดาษ มีประมาณกว่า 48 % บรรจุภัณฑ์พลาสติกประมาณ 23.5 %
บรรจุภัณฑ์ประเภทแก้วประมาณ 20 % และโลหะประมาณ 15 % ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ให้อุตสาหกรรมการพิมพ์ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามการปรับตัวของผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการลงทุนเรื่องเทคโนโลยี เครื่องจักร แท่นพิมพ์ดิจิทัล เพื่อตอบสนองเรื่อง “Packaging 4.0” เพราะการพิมพ์ดิจิทัลในอนาคตไม่ใช่เพียงแค่Mass Production แต่จะเป็น Customize Production มีเรื่องของ Packaging และ การตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง
เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว โดยจะเห็นว่าในปัจจุบันมีหลายโรงงานนำแผนธุรกิจไปขอการสนับสนุนจาก SME Bank เพื่อ Transforms ธุรกิจใหม่
ด้าน ผศ.ดร.นุชจรินทร์ เหลืองสะอาด ผู้ดูแลและกำกับ ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เทรนด์งานพิมพ์ดิจิทัล มาแน่นอน เพราะมีความต้องการ จากการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce จะเห็นว่า ปัจจุบันมีแบรนด์เล็ก ๆ เข้ามาแทรกในตลาด
ซึ่งเป็นโอกาสให้เกิดนักธุรกิจหน้าใหม่ เช่นเดียวกัน นักศึกษาในมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ถ้าไปถาม หลายคนบอกว่า อยากขายสินค้าออนไลน์ ขณะที่บางคนบอกว่า อยากเป็น บิวตี้ บล็อกเกอร์ หรือไม่ก็ยึดอาชีพอิสระกันมากขึ้น นักศึกษาบางคนเมื่อจบไปแล้วไปทำแบรนด์สินค้าของตัวเอง
อาทิ ไปทำแบรนด์ทุเรียนทอดขายทางออนไลน์ โดยใช้ความรู้เรื่องบรรจุภัณฑ์ที่เรียนมา ซึ่ง ธุรกิจเกิดใหม่เหล่านี้ต้องมีเครื่องพิมพ์ดิจิทัล ในการพิมพ์ฉลากสินค้าต่าง ๆ ซึ่งเทรนด์บรรจุภัณฑ์จะมองเรื่องวัสดุที่นำมาใช้ สามารถย่อยสลายได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ราคาไม่แพง ใช้งานได้สะดวก ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
และเน้นที่การออกแบบแพจเกจจิ้งดูให้มีคุณค่า ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคจะเห็นว่า สินค้าบางแบรนด์ ไม่ได้เป็นแบรนด์ที่โด่งดัง แต่มีการออกแบบฉลากที่ดี มีการนำประวัติศาสตร์มาเล่าเรื่อง ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่น่าสนใจ และขายได้
ด้าน บุญรัตน์ เรืองขำ Production Print Business Development บริษัท โคนิก้า มินอลต้า บิสสิเนส โซลูชันส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าในยุคปัจจุปันที่ผู้ประกอบการแวดวงอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จะต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง จากการลดลงของปริมาณการผลิตสิ่งพิมพ์
และระบบการพิมพ์ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปต์ของ โคนิก้า มิตอลต้า ในการตอบโจทย์ตลาดดิจิทัล ปริ้นติ้ง
ทำให้ในปัจจุบัน โคนิก้า มินอลต้า ยังสามารถครองอันดับ 1 และ 2 ของตลาดทั่วโลกได้ ด้วยคุณภาพและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เทคโนโลยีของ IQ-501 ซึ่งสามารถตรวจสอบค่าสีระหว่างการพิมพ์ แบบ real-time ทุก ๆ แผ่น เพื่อช่วยให้งานพิมพ์ของเรามีคุณภาพใกล้เคียงและสม่ำเสมอกัน
โดยระบบการทำงานจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการเตรียมงานก่อนการพิมพ์ และส่วนการตรวจสอบการทำงานระหว่างการพิมพ์ ซึ่งปกติต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ แต่ด้วยเทคโนโลยี IQ-501 ที่ภายในประกอบ scanner 2 ชุด และ เครื่อง Spectrophotometer ซึ่งเป็นการทำงานแบบ Hybrid
โดยจะทำงานทั้ง 2 ระบบไปพร้อมกัน ในการทำงานของ IQ-501 นี้ สามารถลดระยะเวลาในการเตรียมเครื่องเพียงกดปุ่ม “Start” จากนั้นเครื่องจะทำการตรวจสอบตำแหน่งของกระดาษ ค่าสี และปรับแต่งให้เป็นไปตามการตั้งค่าตลอดเวลา ฟังก์ชั่นการใช้งานง่าย ช่วยลดความผิดพลาดในการพิมพ์
ด้าน อุทัย พิริยะเกียรติสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสแควร์ ปริ้นซ์ 93 จำกัด กล่าวว่าจากประสบการณ์ลงทุนในธุรกิจดิจิทัลปริ้นครั้งแรก เริ่มลงทุนด้วยตัวเล็ก ๆ ก่อน และเริ่มเรียนรู้ทักษะในงานพิมพ์ดิจิทัล สร้างมูลค่างานพิมพ์ ด้วยการทำแพคเกจจิ้ง ออนดีมาน
ไม่ว่าจะเป็นถุงช้อปปิ้ง งานที่ยาก ๆ อะไรที่ลูกค้าอยากได้ ต้องทำให้ได้หมด และไม่เคยปฏิเสธงาน ทำให้ลูกค้าบอกต่อ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องมีพนักงานขาย ขณะเดียวกันเราต้องผลักดันพนักงานของบริษัทให้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพราะธุรกิจสิ่งพิมพ์มีการแข่งขันสูงมาก
อย่างไรก็ตาม เมื่องานเราดีแล้ว เราต้องบอกต่อ โดยอาศัย Social Media อาทิ เฟสบุ๊ค อินสตราแกรม ในการนำเสนอผลงานออกไป เพื่อให้โลกรู้ว่าเรามีอะไรดี ถือเป็นการ Transformsธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจการพิมพ์ของเราอยู่รอดได้ไม่ยาก
ส่วนขยาย
* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุประสงค์มุ่งเพื่อโจมตีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Digital Content)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่