Eleader May 2015

มติเอกฉันท์จากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ให้ความเห็นชอบหลักการฯ เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องไปกับแผนงานจัดตั้ง “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”  ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ และ สังคม

เมธินี เทพมณี

เมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้มุมมองต่อนโยบาย Digital Economy ในการช่วยยกระดับประเทศไทยให้ก้าวหน้าว่า แบ่งเป็น 2 ส่วนที่นโยบายระดับประเทศให้ความสำคัญ คือ 1.ด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามามีบทบาทกับทุกภาคส่วนในการประกอบธุรกิจ การทำงาน การใช้ชีวิต แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนทำกิจกรรมต่างๆ

และ  2.ด้านสังคม โดยไอซีทีจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งยวดในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงให้กับผู้ด้อยโอกาส รวมถึงสังคมผู้สูงอายุ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ให้ก้าวข้ามข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งยังคงสามารถใช้ศักยภาพของตนเองให้เกิดประโยชน์กับประเทศ

ปัจจุบันจะเห็นว่า รัฐบาลพูดเรื่องการบูรณาการฐานข้อมูลบ่อยมาก และเริ่มเห็นในเชิงรูปธรรม จากการบูรณาการของแต่ละเซ็กเตอร์โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ สังคม และเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งทุกวันนี้มีฐานข้อมูลพร้อมแล้วในการให้บริการประเภท “คลิกแล้วรู้” จำนวนมาก ทั้งที่เป็นความต้องการของตัวเกษตรกรเอง กลุ่มเกษตรกร ชุมชนนั้นๆ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเกษตร”

ปลัดกระทรวงไอซีที ย้ำด้วยว่า เศรษฐกิจดิจิทัล จะมีความหมายมาก โดยเฉพาะเมื่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขยายการเข้าถึงไปยังคนในทุกพื้นที่ ให้สามารถเชื่อมต่อเข้ามาได้ ในราคาที่สามารถจ่ายได้ ดังนั้น ภารกิจในการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานประเภท Hard Infrastructure ในเรื่องอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

โดยเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้คือ เครือข่ายที่จะสร้างขึ้นสนับสนุนความเร็วได้สูงสุดคือ 100 Mbps ทั้งนี้เพื่อพร้อมรองรับความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะจัดลำดับความสำคัญในการเข้าถึงความเร็วสูง เช่น พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในบางแห่งอาจอยู่ติดชายแดนจะจัดให้อยู่ในกลุ่มต้นๆ ที่ได้รับการจัดหาเครือข่ายความเร็วสูงสุด และสำหรับพื้นที่ซึ่งมีความต้องการลำดับรองจะทยอยจัดหาความเร็วของเครือข่ายในระดับที่ลดหลั่นกัน

กล่าวได้ว่า โครงสร้างพื้นฐานในส่วนของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ได้กลายเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไปแล้ว เป็นความจำเป็นพื้นฐานเช่นเดียวกับไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งเป็นพัฒนาการตามวิถีชีวิตของคนที่คุ้นเคยขึ้นเรื่อยๆ กับการใช้อุปกรณ์สื่อสารพกพา การเข้าถึงข้อมูลและติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต”

“กระทรวงดิจิทัลฯ จะทำงานในลักษณะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) แต่เป็นสภาพัฒน์ฯ ด้านไอซีที โดยมีคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นเลขานุการ  และมีคณะกรรมการย่อย 6 ชุด แต่ละชุดจะมีผู้บริหารจากหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง ดำรงตำแหน่งประธานและเลขานุการ มั่นใจว่าด้วยโครงสร้างนี้ หลังจากปรับปรุงเสร็จ ภายใน 3 ปีจะเห็นผลสำเร็จได้ และก้าวไปสู่การทำงานบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ” ปลัดดิจิทัลคนแรกกล่าวสรุป