ไมโครซอฟท์ (Microsoft) แสดงศักยภาพ AI ในไทย พร้อมมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำ มุ่งยกระดับศักยภาพของทุกคน และทุกองค์กร พร้อมเสริมศักยภาพมนุษย์ และผลักดันประเทศไทยสู่อนาคตในโลกดิจิทัล ด้วยนวัตกรรม ปัญญาประดิษฐ์ ในทุกรูปแบบ นับตั้งแต่ระบบฝึกสอนทักษะเฉพาะทางไปจนถึงความก้าวหน้าด้านงานวิจัยทางการแพทย์
Microsoft AI to Future Now : AI for Thais
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า งานวิจัยที่ไมโครซอฟท์จัดทำขึ้นร่วมกับไอดีซีระบุว่าเทคโนโลยีอย่าง เอไอ และ ไอโอที ถือเป็นนวัตกรรมอันดับหนึ่งที่กำหนดทิศทางในอนาคตของธุรกิจทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ในฐานะฟันเฟืองหลักที่จะขับเคลื่อนวิถีชีวิต และโลกธุรกิจไปสู่ยุคใหม่ที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น การวางรากฐานให้ เอไอ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคมไทยได้อย่างลงตัวและเต็มประสิทธิภาพนั้น จะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญใน 4 ด้านหลักๆ ด้วยกัน เริ่มต้นจากการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลให้กับคนไทยอย่างทั่วถึง
การปรับแต่งเทคโนโลยีให้เข้ากับสภาพการใช้งานจริง เช่นในด้านของภาษา วัฒนธรรม หรือแม้แต่กฎหมายและกรอบนโยบาย การยกระดับเครือข่ายพันธมิตรและนักพัฒนาทั่วประเทศให้นำ เอไอ มาใช้ได้อย่างเต็มที่ และความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ ออกแบบ และปรับแต่งผลิตภัณฑ์ และบริการมาโดยเฉพาะ เพื่อความสำเร็จของลูกค้าในประเทศไทย
อนาคตของ AI คือ ความสมดุลเชิงสังคม
ดร.พญ.พิจิกา วัชราภิชาต เป็นนักวิจัยชาวไทยผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการแพทย์ และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของทีม Microsoft Research ประจำศูนย์วิจัยที่เมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า เอไอ (AI) และ แมชชีน เลิร์นนิ่ง (machine learning) เป็นเทคโนโลยี
ที่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาโรคต่างๆ ได้ในอนาคต ซึ่งนวัตกรรมทั้งสองได้ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในด้านระบบการประมวลภาพทางการแพทย์และการวิเคราะห์ประวัติสุขภาพเชิงลึกแบบก้าวหน้า ขณะที่วงการการแพทย์ในภาพรวมก็กำลังมุ่งหน้าไปสู่ยุคของเวชศาสตร์เชิงป้องกัน
ด้วยการคาดการณ์และยับยั้งโรคร้ายอย่างรวดเร็ว แทนที่จะเยียวยารักษาอาการในภายหลัง นอกจากนี้ ศักยภาพของ AI ในการประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลอย่างชาญฉลาดยังจะช่วยเสริมความแม่นยำในการให้การรักษาถึงระดับบุคคล สนับสนุนให้การทำงานของบุคลากรแพทย์ในทุกขั้นตอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
และปูทางไปสู่การค้นพบใหม่ๆ อีกมากมาย เช่นการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ที่มีความซับซ้อนสูงสุดให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงแม้ว่า เอไอ จะสามารถทำงานในหลายๆ ด้านได้แม่นยำกว่ามนุษย์มาก แต่ เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ถือเป็นภัยต่อโอกาสในการทำงานของมนุษย์
ซึ่ง เอไอ ไม่ได้จะเข้ามาแทนที่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ แต่เป็นการเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้สามารถทำงานกับข้อมูลได้เต็มประสิทธิภาพ ตัดสินใจได้แม่นยำกว่า ทำให้เดินหน้าสู่การค้นพบในหลากหลายสาขาได้รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
อย่างที่ ซันนี่ พาร์ค ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและองค์กรสัมพันธ์ ไมโครซอฟท์ เอเชียแปซิฟิก ได้กล่าวเอาไว้ใน ผลวิจัยของไมโครซอฟท์และไอดี ซึ่งผลวิจัยบอกว่า 95% ของตำแหน่งงานในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีในช่วงสามปีข้างหน้า
โดยถึงแม้ว่าจะมีตำแหน่งงานราว 30% ที่จะถูกกระจายออกสู่แรงงานนอกประเทศ แทนที่ด้วยเทคโนโลยี หรือหมดความจำเป็นลงไป แต่ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีดิจิทัลก็จะทำให้มีตำแหน่งงานใหม่ๆ ปรากฎขึ้นในปริมาณที่ใกล้เคียงกันเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ในตลาดแรงงาน
ขณะที่อีก 35% จะยังคงรักษาตำแหน่งงานในรูปแบบเดิมเอาไว้ ข้อมูลทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีไม่ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียโอกาสในตลาดแรงงาน แต่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความต้องการด้านแรงงาน และการเสริมสร้างทักษะในด้านใหม่ๆ ต่อไป
โดยปัจจุบัน ไมโครซอฟท์กำลังทำงานร่วมกับหลากหลายภาคส่วนเพื่อเร่งพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโครงการสำหรับเยาวชน เช่นความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในโครงการ Coding Thailand หรือโครงการอื่นๆ
สำหรับบุคลากรในตลาดแรงงานปัจจุบัน เมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟท์ได้จับมือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอีกหลายรายภายใต้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลให้กับแรงงานทั่วภูมิภาคอาเซียน ภายใต้โครงการ ดิจิทัล อาเซียน ของเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับทักษะของแรงงานกว่า 20 ล้านคน ภายในปี 2563
สิ่งที่จำเป็นที่จะต้องวางรากฐานเชิงศีลธรรมและกฎหมายเพื่อรองรับ และควบคุมการพัฒนา เอไอ เพราะ เอไอ จะทวีความสามารถมากขึ้นในอนาคต และเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และภาคเอกชน ต่างต้องร่วมมือกัน
เพื่อกำหนดหลักการและกรอบนโยบายสำหรับการสร้าง และใช้งานระบบ เอไอ ในอนาคต โดยหลักการเหล่านี้จะมุ่งส่งเสริมให้ เอไอ ทำงานอย่างยุติธรรม มั่นคง ปลอดภัย รักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และมีความโปร่งใส
หากให้สรุปสั้นๆ ก็คือ เอไอ จะต้องทำงานโดยมีความรับผิดชอบนั่นเอง การจะไปให้ถึงจุดนี้ได้ เราจะต้องมีกฎหมายที่แน่นหน้าในด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และไมโครซอฟท์เองก็มีความยินดีที่ได้เห็นหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการร่างกฎหมายที่ครอบคลุมประเด็นหลักทั้งสองนี้
AI เติมศักยภาพเชิงดิจิทัลให้ทุกคน
ด้าน เพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท บลูโอเชี่ยน เทคโนโลยี กล่าวว่า บลู โอเชียน เทคโนโลยี นำโซลูชั่น VRSIM ผสมผสานเทคโนโลยี VR และ machine learning เข้าด้วยกัน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการฝึกสอนผู้ควบคุมเครื่องจักรเพื่อการเกษตร ตัวอย่างเช่นรถตัดอ้อย
ซึ่งนอกจากระบบดังกล่าวจะสามารถก้าวผ่านข้อจำกัดของวิธีฝึกสอนแบบเดิมๆ ไปได้แล้ว ยังช่วยเสริมประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวอ้อยผ่านทาง machine learning ได้อีกด้วย โดยปกติแล้ว การฝึกสอนพนักงานขับรถตัดอ้อยเป็นกระบวนการที่กินเวลานาน และยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับผลิตผลอีกด้วย
และหากนับจากช่วงเริ่มแรกในการสังเกตการณ์พนักงานผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงการขับรถเก็บเกี่ยวด้วยตนเอง ก็อาจกินเวลารวมทั้งหมดนานถึง 3 ปี แต่ VRSIM ทำให้เทคโนโลยี VR สามารถเปิดโอกาสให้นักขับมือใหม่ได้ฝึกฝน และเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง
โดยที่ไม่ต้องรอฤดูเก็บเกี่ยวหรือเสี่ยงไปกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และด้วยพลังจาก machine learning เรายังสามารถนำประสบการณ์ และความเข้าใจของนักขับรถตัดอ้อยมืออาชีพมาวิเคราะห์ เพื่อแนะนำเส้นทางการขับรถเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยให้ได้รวดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่เก็บเกี่ยวมากที่สุด
จากปัจจุบันสู่อนาคต
นอกจากจะเป็นพลังขับเคลื่อนนวัตกรรมจากนักคิด นักสร้างสรรค์ เจ้าของธุรกิจ และพันธมิตร ทั้งในประเทศไทย และทั่วโลกแล้ว แพลตฟอร์ม เอไอ ของไมโครซอฟท์ยังเต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยทั้งในระดับโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือแม้แต่ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่พร้อมใช้งานได้จริง
ส่วนสถาบันวิจัย Microsoft Research (MSR) ยังคงเป็นผู้นำในด้านการสำรวจทุกขอบเขตทางนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สำหรับการใช้งานหลากหลายรูปแบบ ศูนย์วิจัยสาขาเอเชียของไมโครซอฟท์ (MSRA) เพิ่งจะฉลองครบรอบ 20 ปีเต็มไปเมื่อเร็วๆ นี้
หลังจากที่ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยรวมแล้วทั้งสิ้นเกินกว่า 5,000 ชิ้น ซึ่งล้วนถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงสถานะความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของบริษัท
“เราภูมิใจมากที่แพลตฟอร์มคลาวด์และ AI ของไมโครซอฟท์ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระบบนิเวศทางเทคโนโลยีของทั้งประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกให้รุดหน้าต่อไป ให้ทุกภาคส่วนได้มุ่งหน้าสู่ความสำเร็จไปด้วยกัน เพราะสำหรับไมโครซอฟท์แล้ว เครื่องวัดความสำเร็จของเราและพันธมิตรก็คือความสำเร็จของลูกค้านั่นเอง” ธนวัฒน์ กล่าวเสริม
ส่วนขยาย
* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก : www.pexels.com
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่