Eleader

ฆษิต สุขสิงห์

ฆษิต สุขสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ทีซีซี เทคโนโลยี จำกัด ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ภายใต้กลุ่มทีซีซี กล่าวว่า นโยบาย Digital Economy ของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ จะช่วยสร้างความคึกคักต่ออุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย ผ่านการสร้างตลาดใหม่ๆ ให้กับผู้ให้บริการ

นอกจากนั้น การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของดาต้าเซ็นเตอร์ การเป็น Tier 3 จะมีค่าใช้จ่ายการลงทุนถึงเท่าตัวเมื่อเทียบกับ Tier 2 โดยประเด็นที่รัฐอาจจะต้องเพิ่มเติมคือ หน่วยงานรัฐที่จะมาใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ของเอกชน ต้องมีวงจรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วไม่ต่ำกว่า 10 กิกะบิตต่อวินาที เนื่องจากหากหน่วยงานรัฐมีอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ การใช้งานระหว่างสำนักงานกับยังดาต้าเซ็นเตอร์จะไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ แม้ดาต้าเซ็นเตอร์จะมีมาตรฐานที่ Tier สูง ก็ตาม

อีกทั้งการคัดเลือกควรต้องคำนึงถึงความสามารถการใช้นวัตกรรมด้านระบบบริหารจัดการดาต้าเซ็นเตอร์สมัยใหม่ ขณะเดียวกัน การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวนแปดปี อาจจะน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับระยะเวลาคุ้มทุนของดาต้าเซ็นเตอร์ที่โดยมากต้องใช้เวลากว่าสิบถึงยี่สิบปี

นอกจากนั้นรัฐควรจะได้กำหนดความต้องการใช้งานของหน่วยงานรัฐได้อย่างชัดเจน และมีการการันตีการใช้งาน เนื่องจากการลงทุนในธุรกิจนี้ต้องใช้เงินจำนวนมาก

วัลล์ชัย เวชชีวะดำรงค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือไอเน็ต กล่าววว่า โครงการดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ จะพลิกโฉมหน้าทำให้ธุรกิจการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยที่เดิมมีน้อยและราคาค่อนข้างสูง จะกลายเป็นธุรกิจที่มีจำนวนมากและราคาต่ำลง และสามารถสร้างให้ประเทศไทยมีความโดดเด่นขึ้นเป็นผู้นำในการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ในอาเซียนได้จากการได้เปรียบด้านที่ตั้งเชิงกายภาพของประเทศ และต้นทุนที่แข่งขันได้ดีขึ้น

ปัจจุบันดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยยังมีพื้นที่ให้บริการไม่มาก เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศ โดยพื้นที่ให้บริการยังเล็กกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ราวสามถึงสี่เท่า

โดยข้อมูลจากฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน คาดการณ์ว่า บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ในเอเชียแปซิฟิก ปี 2555-2562 ประเทศไทย จะอยู่ในกลุ่มตลาดเติบโต รายได้จากบริการดาต้าเซ็นเตอร์ มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 25% อยู่ในกลุ่มเดียวกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่า 20%

“นโยบาย Digital Economy อาจทำให้รายได้จากการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ของไทย ขยับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มตลาดที่มีรายได้เติบโตสูง ในกลุ่มเดียวกับจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย”

ทั้งนี้ ในการคัดเลือกเอกชนผู้ให้บริการในโครงการ ควรเปิดกว้างที่ไม่จำกัดจำนวนผู้ให้บริการน้อยรายเกินไป เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์ หากมีน้อยเกินไป การลงทุนที่ต้องใช้เงินจำนวมากในธุรกิจดังกล่าว จะเหลือเพียงบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทุนมาก แต่อาจไม่มีประสบการณ์การทำธุรกิจนี้มาก่อน

“การมีกฎหมายจะช่วยส่งเสริมการทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ต การสร้างคอนเทนต์และบริการใหม่ๆ ทั้งช่วยสร้างความมั่นใจให้เอกชนและประชาชนในการทำธุรกรรมต่างๆ ออนไลน์ ก็เหมือนการลงทุนสร้างถนนกว้างพร้อมรองรับรถยนต์จำนวนมาก หากไม่มีรถวิ่งก็จะเป็นการลงทุนโดยเปล่าประโยชน์” วัลล์ชัย กล่าว