IBM เผย ในอีก 5 ปีข้างหน้า วงจรการผลิตอาหารจะเผชิญกับปัญหาที่หนักหน่วงกว่าเดิม ทำให้ต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้น…

IBM เผย 5 นวัฒกรรมพลิกโฉมการผลิตอาหาร

ปฐมา จันทรักษ์ เข้าดำรงตำแหน่งรองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม จำกัด กล่าวว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะแตะระดับ 8 พันล้านคนเป็นครั้งแรก วงจรการผลิตอาหารที่ซับซ้อนและกำลังเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงปริมาณน้ำที่มีจำกัด จะต้องเจอบททดสอบที่หนักหน่วงกว่าเดิม ทำให้เราต้องเริ่มมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เครื่องมือก้าวล้ำ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

รวมถึงแนวคิดใหม่ๆ ในเรื่องการจัดการด้านความปลอดภัยของอาหาร เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้น
โดยในปีที่ผ่านมานักวิจัยไอบีเอ็มทั่วโลกได้เริ่มศึกษาถึงแนวทางการแก้ปัญหาในทุกระยะของวงจรการผลิตอาหาร ตั้งแต่การช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร

การรับมือกับผลผลิตด้อยคุณภาพที่ทำให้เราต้องสูญเสียปริมาณอาหารที่มีไปถึง 45% การพัฒนาใยดักจับจุลินทรีย์ก่อโรคและสิ่งปนเปื้อนก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนป่วย หรือแม้แต่การคิดค้นแนวทางการแยกขยะพลาสติกออกจากหลุมฝังกลบขยะและมหาสมุทร 
 
นับตั้งแต่ปี 2549 ศูนย์วิจัยไอบีเอ็มได้เริ่มเผยแพร่รายงาน 5 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนชีวิตคนในอีก 5 ปีข้างหน้า (IBM 5 in 5) เพื่อแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรม และความก้าวล้ำทางวิทยาศาสตร์ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การทำงาน

และการปฏิสัมพันธ์ของคนในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยนวัตกรรมทั้ง 5 ที่นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มได้ทำนายไว้ในปีนี้ ประกอบด้วย

การเติบโตเป็นเท่าตัวของเกษตรกรรมดิจิทัลจะช่วยให้สามารถรับมือกับปริมาณประชากรที่เพิ่มขึ้นได้ด้วยทรัพยากรที่น้อยลง

IBM

ธนาคารจะอนุมัติเงินกู้ให้แก่เกษตรกรที่ไม่เคยไปธนาคารได้อย่างไร? ในอีก 5 ปีข้างหน้า การนำระบบดิจิทัลมาใช้ และการเก็บข้อมูลในทุกมิติของการทำการเกษตร ตั้งแต่คุณภาพของดิน ทักษะของคนขับรถแทรกเตอร์ ไปจนถึงราคาผลผลิตที่ขายในตลาด หรือที่เรียกว่าดิจิทัลทวิน (Digital Twin) จะทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้

การนำเอไอ (AI) มาใช้กับข้อมูลเหล่านี้จะทำให้สามารถคาดการณ์ปริมาณผลผลิตได้อย่างแม่นยำ ขณะที่ธนาคารและสถาบันการเงินก็จะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประกอบการพิจารณาให้กู้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้ต่อไป

บล็อกเชนจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร

IBM

ในอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะสามารถลดค่าใช้จ่ายแสนแพงอันเกิดจากการขาดความรู้เกี่ยวกับวงจรการผลิตอาหารได้ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ชาวนาไปจนถึงซัพพลายเออร์ร้านขายผักผลไม้สด จะรู้ว่าต้องปลูก สั่งสินค้า และจัดส่งสินค้าปริมาณเท่าใด

การผสานรวมเทคโนโลยีบล็อกเชน อินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ และเอไอ จะช่วยลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตได้อย่างมาก และผลผลิตที่อยู่ในรถเข็นของผู้บริโภคก็จะสดใหม่กว่าเดิม

การทำแผนที่ไมโครไบโอมจะช่วยป้องกันแบคทีเรียที่ไม่ดี

IBM

ภายใน 5 ปี ผู้ตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารทั่วโลกจะสามารถใช้เชื้อจุลินทรีย์นับล้านเพื่อปกป้องอาหารที่เราทานได้ เชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ กำลังถูกนำมาใช้ในการผลิตอาหารที่ฟาร์ม โรงงาน และร้านขายของชำ

โดยเทคนิคใหม่ในการวิเคราะห์เชิงพันธุกรรม จะช่วยให้เชื้อจุลินทรีย์สามารถบ่งบอกได้ว่าอาหารที่เราทานปลอดภัยแค่ไหน  

เซ็นเซอร์เอไอจะช่วยให้เราสามารถตรวจจับเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษได้แม้อยู่ที่บ้าน

IBM

ภายใน 5 ปี เกษตรกร ผู้ผลิตอาหาร และคนขายผักผลไม้สด รวมถึงพ่อบ้านแม่บ้านหลายพันล้านคน จะสามารถตรวจจับสารปนเปื้อนอันตรายในอาหารได้อย่างง่ายดาย ด้วยโทรศัพท์มือถือหรือโต๊ะครัวที่ติดเซ็นเซอร์เอไอ

โดยนักวิจัยไอบีเอ็มกำลังพัฒนาเซ็นเซอร์เอไอพกพาที่สามารถตรวจจับเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษอย่างเชื้ออีโคไลและเชื้อซาลโมเนลลาได้ทุกที่ทุกเวลา จากเดิมที่ใช้เวลาตรวจเป็นวันเหลือเพียงไม่กี่วินาที

กระบวนการรีไซเคิลแบบใหม่จะช่วยต่ออายุให้กับเศษพลาสติกเก่า

IBM

ในอีก 5 ปีข้างหน้า กระบวนการกำจัดขยะและการผลิตพลาสติกใหม่จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เราจะสามารถรีไซเคิลทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นลังใส่นม กล่องคุกกี้ ถุงช็อปปิง หรือแม้แต่ผ้ากรองอาหาร จากนั้นบริษัทผู้ผลิตโพลีเอสเตอร์จะแปรรูปสิ่งเหล่านี้ให้เป็นของที่นำไปใช้ประโยชน์ได้

โดยอาศัยเทคโนโลยีโวลแคท (VolCat) ซึ่งเป็นกระบวนการเร่งปฏิกิริยาทางเคมีที่ช่วยย่อยพลาสติกบางชนิด (โพลีเอสเตอร์) ให้เป็นสสารที่สามารถป้อนกลับเข้าไปในเครื่องผลิตพลาสติกได้โดยตรง เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ต่อไป

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่