Eleader January 2015

มีข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด Penny Stock Lab ระบุว่า ปริมาณเครื่องโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตที่แพร่กระจายอยู่บนโลกนี้มีตัวเลขสูงถึง 7.7 พันล้านเครื่อง โดยแซงหน้าจำนวนประชากรโลกในปี 2014 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7.1 พันล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว โดยในจำนวนนี้ เป็นสัดส่วนการใช้สมาร์ตโฟนมากกว่า 1.4 พันล้านเครื่อง ขยับใกล้จำนวนการใช้งานคอมพิวเตอร์ ที่มีอยู่ราว 2 พันล้านเครื่องเข้าไปทุกขณะ

รวมทั้งเปรียบเทียบการขยายตัวด้านการใช้สมาร์ตโฟนว่า มีสัดส่วน 1 เครื่องต่อประชากร 4.5 คน ไม่นับรวมยอดจำหน่ายใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1.8 ล้านเครื่องต่อวัน หรือคิดเป็น 5 เท่าตัวของจำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละวัน

ตัวเลขข้างต้น เปรียบเสมือนสัญญาณบ่งชี้ว่า โลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคทองของโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์พกพาส่วนบุคคล ด้วยจุดเด่นของความสะดวกในการพกพา ความสะดวกสบายในการใช้เป็นเครื่องมือทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งกิจกรรมความบันเทิงและการทำงาน ทั้งจากความสามารถอันชาญฉลาดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

พร้อมทั้งระบุถึง 5 แนวโน้มที่เกิดขึ้นตามแรงขับเคลื่อนในการปรับใช้เทคโนโลยีของผู้บริโภคในองค์กร ได้แก่ 1.The “mobility mismatch” กล่าวคือ แม้พฤติกรรม BYOD ของพนักงานในการใช้อุปกรณ์ส่วนบุคคลเข้าถึงข้อมูลองค์กรจะขยายตัวขึ้นต่อเนื่อง แต่การยอมรับจากส่วนงานที่รับผิดชอบด้านไอทีองค์กร กลับไม่ได้ขยับตามในระดับเดียวหรือใกล้เคียงกัน)

2.หลายองค์กรจะเริ่ม “คิดข้ามช็อต” เพื่อบริหารจัดการ BYOD เพื่อให้การนำอุปกรณ์ส่วนบุคคลเข้ามาใช้กับธุรกิจขององค์กร เป็นไปอย่างมีระบบ และอยู่ภายใต้แนวทางการจัดการขององค์กรอย่างเป็นทางการ โดยมีทั้งรูปแบบการสนับสนุนโซลูชันบริหารจัดการตัวอุปกรณ์ ตอบโจทย์ความจำเป็นด้านการปกป้องและความปลอดภัยข้อมูล

3.องค์กรจะบรรจุกรอบการบริหารจัดการการใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับองค์กร (EMM) ลงในยุทธศาสตร์สถานที่ทำงาน โดยจะมีจำนวนองค์กรที่ให้ความสำคัญกับข้อนี้เพิ่มขึ้น ครอบคลุมทั้งการจัดการแอพพลิเคชันและเครื่องลูกข่ายทุกเครื่องที่ใช้ทำงาน (endpoint) อำนวยความสะดวกให้พนักงานเข้าถึงเครื่องมือและข้อมูลที่ต้องการได้ตลอดเวลา ด้วยทุกอุปกรณ์พกพาที่อยู่ตรงหน้า ทั้งนี้ผลลัพธ์ทางอ้อมอีกข้อหนึ่ง ก็คือ เพื่อตอบรับแนวโน้มพฤติกรรมแบบหลายหน้าจอ (multi-screening) ด้วย

4.ผู้บริหารอาวุโสทุกสายงานเผชิญแรงกดดันร่วม เนื่องจากการแพร่กระจายของ BYOD ในองค์กร ผลักดันให้องค์กรต้องผนวกกรอบ EMM เข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร ดังนั้นทุกส่วนงานจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเข้ามาร่วมทำกรอบยุทธศาสตร์รองรับเทรนด์ BYOD โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงในส่วนงานทรัพยากรบุคคล, ฝ่ายจัดซื้อ และฝ่ายปฏิบัติการ

5.เอสเอ็มอีและคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การทำธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับความท้าทายปีแห่ง “more mobile-centric” เพื่อเกาะติดกับโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดจาก “ความต้องการอันไม่รู้จบ (“long tail” of demand) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ให้บริการที่ต้องสร้างความมั่นใจในการส่งมอบบริการไอที

Richard Absalom นักวิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายเอนเตอร์ไพรส์ โมบิลิตี้ ของโอวุ่ม กล่าวว่า แรงกดดันจากฟากผู้ใช้งานที่สร้างแรงกระทบต่อตลาด EMM เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น บ่งชี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่องค์กรจะต้องเร่งเดินเกมรุกในการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านโมบิลิตี้ หนุนเสริมให้ทั้งแอพพลิเคชัน อุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งของพนักงานและองค์กร สามารถทำงานร่วมกับเครื่องลูกข่ายทั้งหมดขององค์กรได้เป็นอย่างดี เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่ช่วยให้เกิดการสร้างการใช้งานใหม่ๆ หรือบริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่มากมายขึ้นเรื่อยๆ

หนุนตลาดโซลูชัน-ซิเคียวริตี้-แอพฯ
ขณะที่ ผลการศึกษาประจำปีของ CompTIA ที่จัดทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 “3rd Annual Trends in Enterprise Mobility” ได้สรุปผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับ CIO ขององค์กรตั้งแต่ขนาดใหญ่-เอสเอ็มอี พบว่าประมาณ 50% ขององค์กรขนาดใหญ่ และเกือบ 60% ขององค์กรระดับเอสเอ็มอี ได้มีการลงทุนรองรับ BYOD ไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะเห็นประโยชน์ในการปรับปรุงโพรดักติวิตี้ ประสิทธิภาพในการทำงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย และสร้างโอกาสใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารก็ยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดทำนโยบาย BYOD ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของผู้ใช้งาน กับการบริหารจัดการองค์กร และความปลอดภัยข้อมูล โดยแนวโน้ม 5 อันดับแรกที่พบว่าจำเป็นต่อการจัดทำนโยบายด้านนี้ สำหรับปี 2015 ประกอบด้วย

1.โซลูชันเฉพาะสำหรับ BYOD จะมีเพิ่มขึ้น โดยผู้พัฒนามองถึงโอกาสการจับลูกค้าได้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด รวมถึงกลุ่มที่มีความต้องการจำเพาะ 2.ความใส่ใจด้านความปลอดภัยจะถูกโยกจากตัวอุปกรณ์มามุ่งเน้นที่ข้อมูล โดยปัญหาด้านความปลอดภัยข้อมูล และการเข้าถึงระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต จะเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของหลายบริษัทที่ลงทุนโซลูชันด้านการใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่

3.จำนวนแอพพลิเคชันเพื่อการทำงานจะเพิ่มขึ้นมหาศาล มีองค์กรจำนวนมากขึ้นทำการผสานโมบาย แอพพลิเคชัน เข้าไปอยู่ในกระบวนการทำงาน โดยมีตัวเลขประมาณการณ์จาก VisionMobile ระบุว่า ตลาดแอพพลิเคชันสำหรับองค์กรบนมือถือ (mobile enterprise app) จะสูงถึง 58 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2016 เมื่อเทียบกับตัวเลขปี 2013 ที่ประเมินการใช้จ่ายของภาคธุรกิจในแอพพลิเคชันด้านนี้ไว้ 28 ล้านดอลลาร์ สำหรับแนวโน้มแอพพลิเคชันที่มาแรงในตลาดนี้ ต้องตอบโจทย์การเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่, เพิ่มการมีส่วนร่วมกับลูกค้า และเพิ่มผลผลิตในการทำงานของพนักงาน

4.เทคโนโลยีสวมใส่ได้จะแพร่กระจายยิ่งขึ้นในสถานที่ทำงาน และเห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษในบางอุตสาหกรรม ได้แก่ ด้านสุขภาพ, เหมืองแร่ และธนาคาร ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความนิยมของการเปิดตัวแอปเปิล วอทช์ ตลอดจนแรงหนุนจากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะออกสู่ตลาด ซึ่งมีความฉลาดและความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

5.บริษัทต่างๆ จะสร้างให้พนักงานมีความรู้ด้านเทคโนโลยีโมบิลิตี้เพิ่มขึ้น โดยมุ่งให้เกิดความเข้าใจในเชิงลึกลงไปถึงระบบการทำงาน ความสามารถในการเข้ารหัส ตลอดจนแอพพลิเคชันใหม่ๆ ที่ธุรกิจมีความต้องการ

“ยุคทอง” โทรศัพท์มือถือ   ขนาดของตลาดโทรศัพท์มือถือ
จำนวนสมาร์ตโฟน มากกว่า 1.4 พันล้านเครื่อง
สมาร์ตโฟน 1 เครื่อง/ประชากร 4.5 คน
จำนวนคอมพิวเตอร์ 2 พันล้านเครื่อง
ปี 2014 มีจำนวนการใช้โทรศัพท์มือถือ+แท็บเล็ต รวม 7.7 ล้านเครื่อง
โลกมีจำนวนประชากรเพียง 7.1 พันล้านคน
สมาร์ตโฟน มียอดขาย 1.8 ล้านเครื่อง/วัน
มากกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่/วัน 5 เท่า