Eleader April 2015
งานแสดงเทคโนโลยีไร้สายและโทรศัพท์มือถือแห่งปี “โมบายล์ เวิลด์ คองแกรส 2015” หรือ MWC 2015 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 มีนาคมที่ผ่านมา ณ กรุงบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน ภายใต้แนวคิด “The Edge of Innovation” ได้สร้างสถิติใหม่ๆ ที่น่าทึ่ง เกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวันของพลเมืองโลก ณ พ.ศ. นี้ เป็นการตอกย้ำการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันของคนทั่วโลก ว่าได้ก้าวสู่รูปแบบดิจิทัลไลฟ์สไตล์อย่างเต็มตัวแล้ว
ทางสมาคม GSMA ผู้จัดงานได้สรุปสถิติใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในงานปีนี้ว่า สามารถดึงดูดยอดผู้เข้าชมจากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก มาร่วมงานได้มากกว่า 93.000 คน มากกว่าที่ประมาณการณ์ไว้เดิมร่วม 10,000 คน ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในวงการมาเปิดตัวผลิตภัณฑ์และแสดงเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ต่ำกว่า 2,000 บริษัท ขณะที่ ผู้บริหารระดับสูงรวมถึงซีอีโอ เดินทางเข้ามาชมงานนี้และร่วมการประชุมระดับสูงกว่า 5,000 คน ที่สำคัญเป็นงานที่สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมทั่วโลก ให้ความสนใจมาเกาะติดกระแสความเคลื่อนไหวของงานนี้มากกว่า 3,800 คน
จอห์น ฮอฟฟ์แมน ซีอีโอ สมาคมจีเอสเอ็มเอ ให้มุมมองที่น่าสนใจถึงความสำเร็จของ MWC 2015 ว่า ส่วนหนึ่งมาจากความคึกคึกในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคสามารถใช้งานได้เลย หรือซื้อหามาใช้งานได้ในอนาคตอันใกล้ ขณะเดียวกัน ยังได้รับความสนใจจากเหล่าผู้ทรงอิทธิพลแห่งโลกโซเชียล และโลกไร้สายยุคใหม่ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของเทคโนโลยีมือถือ ไม่ว่าจะเป็น มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก, ซันดาร์ พิชัย ประธานฝ่ายพัฒนาแอนดรอยด์ของกูเกิล
การจัดงาน MWC 2015 ยังปลุกกระแสความตื่นเต้นให้ผู้ที่หลงใหลเทคโนโลยีมือถือใหม่ๆ รวมทั้งคนในวงการ ด้วยกระแสข่าวหลุดของหลายผลิตภัณฑ์ที่เตรียมเผยโฉมในงานนนี้ และที่แน่ๆ เมื่อถึงวันเปิดตัวจริง ก็ล้วนได้รับเสียงตอบรับอย่างท่วมท้น ชนิดเหล่าสาวกทั่วโลกรอควักกระเป๋าซื้อมาไว้ครอบครองกันทีเดียว แบรนด์สุดล้ำที่ชิงพื้นที่ข่าวจากงานนี้ได้ลำดับต้นๆ ได้แก่ ซัมซุง กาแล็คซี่ เอส6, เอชทีซี วัน เอ็ม9, แอลจี สมาร์ตวอทช์รุ่นใหม่, เอเซอร์ กับสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน และหัวเว่ย พาเหรดแท็บเล็ตและเทคโนโลยีสวมใส่ได้รุ่นใหม่มาเปิดตัว
จับกระแสแนวโน้มใหม่เทคฯโมบายล์
โบมายล์ เวิลด์ คองเกรส เปรียบเสมือนเวทีแบ่งปันความคิดเห็นที่จะบ่งชี้ทิศทางการพัฒนาโมบายล์ เทคโนโลยี ตลอดจนบทบาทต่อวิถีชีวิตและการทำธุรกิจ โดยสิ่งที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ปีนี้ไป ได้แก่ 1.โลกกำลังพัฒนาคือดินแดนทำเงินแห่งใหม่ โดยไม่ได้จำกัดแต่เพียงผู้ให้บริการมือถือ แต่ยังรวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และเจ้าของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์บนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต อย่างกูเกิล เพราะยิ่งผลักดันให้ผู้บริโภคเชื่อมต่อออนไลน์ผ่านมือถือมากเท่าไร นั่นหมายถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะตามมา
2.เป็นอุตสาหกรรมที่มากกว่าสมาร์ตโฟน การแข่งกันเปิดตัวสมาร์ตโฟนฟีเจอร์สุดล้ำรุ่นใหม่ๆ ของบริษัทผลิตมือถือ ที่สร้างความแตกต่างด้วยดีไซน์ทั้งด้านรูปลักษณ์และวัสดุ เพื่อเป็นจุดขาย ตลอดจนการสร้างสรรค์ดีไวซ์ใหม่ๆ ที่เป็น Internet of Everything และเทคโนโลยีสวมใส่ได้ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกที่ ทุกเวลาอย่างง่ายดาย ทำให้ ณ วันนี้สมาร์ตโฟน ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของนวัตกรรม เพราะทุกสิ่งที่กล่าวมามีผลต่อการตัดสินใจซื้อ และสิ่งที่ตามมาหลังการซื้อ ก็คือ การใช้เป็นเครื่องมือเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ ซึ่งจะสร้างแหล่งช่องทางรายได้ใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรมนั่นเอง
3.(อิทธิพล) แอปเปิลอยู่ในทุกที่ แม้ว่าค่ายแอปเปิล เจ้าของแบรนด์ไอโฟน มีแนวทางชัดเจน ในการจัดงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในงานที่จัดโดย แอปเปิล และไม่สนใจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้แสดงเทคโนโลยีใน MWC 2015 แต่ก็ไม่ใช่ว่า แอปเปิล จะหายไปจากประสบการณ์ไร้สายของผู้บริโภค เพราะบริการเด่นๆ ตอบโจทย์ดิจิตอลไลฟ์สไตล์ อย่างเช่น Apple Pay ซึ่งมีการเปิดตัวร่วมกับไอโฟน 6 และไอโฟน 6 พลัส ได้สร้างแรงบันดาลใจให้คู่แข่งรายสำคัญเปิดตัวบริการชำระเงินผ่านมือถือ ที่มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนใกล้เคียงกันออกมาเช่นกัน ขณะเดียวกัน งานนี้ยังเห็นการเปิดตัวสมาร์ตวอทช์จากหลายค่าย เช่น หัวเว่ย, แอลจี, Pebble ดักหน้างานเปิดตัวแอปเปิล วอทช์
4.รถยนต์ไร้คนขับกำลังจะมา แม้จะเป็นงานแสดงเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ แต่ปีนี้ไม่ใช่มีแต่กองทัพสมาร์ตโฟนสุดล้ำ หรือหลากหลายดีไวซ์พกพาที่สนับสนุนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมาโชว์กัน เพราะผู้ผลิตรถยนตร์ระดับโลกหลายค่าย ก็จัดเต็มกับงานนี้เช่นกัน ด้วยการนำนวัตกรรมรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มาอวดสายตาผู้ชมงาน โดยไฮไลต์ก็คือ เป็นรถยนต์ไร้คนขับที่สามารถขับเคลื่อนได้เพียงแค่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นผลงานจากการทำงานร่วมกันระหว่างค่ายรถยนต์ และบริษัทโทรคมนาคม ตัวอย่างเช่น ออดี้และเอทีแอนด์ที ซึ่งมีแผนเปิดตัวรถยนต์ไร้คนขับ เชื่อมต่อข้อมูลจราจรผ่านเครือข่าย 4จี ในปี 2559 สำหรับตลาดสหรัฐฯ รวมทั้งเตรียมอินทิเกรทหลายๆ แอพบนสมาร์ตโฟนไว้ในรถยนต์รุ่นนี้ด้วย
5.โลกไซไฟกลายเป็นจริงกับยุค 5จี หลากหลายวิสัยทัศน์ของผู้นำอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือในงานนี้ มองไกลไปถึงเทคโนโลยีไร้สายยุค 5 จี ที่จะสนับสนุนโลกการเชื่อมต่อเครือข่ายในอุดมคติ ที่เป็นแบบทุกที่ ทุกเวลาอย่างแท้จริง เป็นการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อระหว่างไว-ไฟ และโมบาย ดาต้า ที่สำคัญมีจำนวนแบนด์วิดธ์เพียงพอสำหรับการสร้างยุค Internet of Everything อย่างแท้จริง
พลเมืองโลกกับเทคโนโลยีมือถือ
สมาพันธ์อุตสาหกรรมชั้นนำของโลก TM Forum ที่มีสมาชิกเป็นบริษัทชั้นนำมากกว่า 900 รายทั่วโลก ได้เปิดเผยข้อมูลน่าสนใจที่เป็นสัญญาณบวกต่อการพัฒนาเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ และตอกย้ำบทบาทของเทคโนโลยีด้านนี้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก โดยระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวนซิมการ์ดที่ถูกใช้งานอยู่มากกว่า 7 พันล้านซิม จากจำนวนผู้ใช้มือถือ 3.7 พันล้านคน ขณะที่ ผู้บริโภค 1 คน มีชื่อสำหรับเข้าใช้บริการโดยเฉลี่ย 26 ชื่อ และรหัสผ่าน 5 รหัส
นอกจากนี้ พบว่าคนใน 16 ประเทศทั่วโลก มีบัญชีบริการชำระเงินผ่านมือถือในจำนวนที่มากกว่าผู้มีบัญชีธนาคาร และจำนวนการใช้มือถือยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยภายในปี 2563 ประชากรโลก 90% จะมีโทรศัพท์มือถือ และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 3.8 พันล้านคน
ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีโครงข่ายไร้สายนั้น ปัจจุบันทั่วโลกมีการติดตั้ง 4 จี ซึ่งเป็นโครงข่ายมือถือยุคล่าสุดที่เปิดเชิงพาณิชย์แล้ว ไม่ต่ำกว่า 350 โครงข่าย (นับตั้งแต่โครงข่ายแรกเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา) โดยครอบคลุมประชากร 1 ใน 4 ของโลก และ 7% ของการเชื่อมต่อทั่วโลก