NDID

National Digital ID (NDID) จะทำให้การบริการภาคธนาคารมีความสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากข้อมูลลูกค้าที่มีกับธนาคารแห่งหนึ่งสามารถนำไปใช้กับธนาคารได้…

NDID กุญแจแห่งความเชื่อมั่นที่คนทำธุรกิจไม่รู้ไม่ได้

ปฏิเสธไม่ว่าปัจจุบันเรากำลังอยู่ในโลกยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีสร้างผลกระทบทำให้ธุรกิจแบบเก่าล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็ว จากการที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของธุรกิจให้สอดรับกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

ซึ่งหากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังคงนิ่งเฉยไม่เร่งเตรียมพร้อม ก็อาจจะเป็นเหยื่อรายต่อไปได้ไม่ยากเย็นและหากพิจารณาจากข้อมูลที่ทาง ไอดีซีประเทศไทยได้เปิดเผยถึงแนวโน้ม ที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตจากรายงานชื่อ “FutureScapes 2018” จะเห็นว่ามีใจความที่สำคัญคือการทำให้เกิด

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ของทั้งองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะกลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคต ซึ่งองค์กรที่จะสามารถแข่งขัน และ เติบโตได้ในเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยดิจิทัล

จะต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้กลายเป็นองค์กรดิจิทัลโดยสมบูรณ์ (Digital Native Enterprise) เพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม จนนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ในที่สุดแน่นอนว่าการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Cloud, IoT, AI ฯลฯ

เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้แก่ธุรกิจ คือสิ่งที่ผู้ที่ประกอบธุรกิจวันนี้น่าจะทราบกันดีว่าจำเป็นต้องลงทุนเพื่อให้องค์กรปรับตัวได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง แต่หากมองให้ลึกลงไปยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่จำเป็นต้องคำนึงถึง นั่นก็คือ “การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์” (Cyber Security)

หลายท่านอาจจะสงสัยแล้วมันเกี่ยวกับเรื่องของ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (National Digital ID) อย่างไร มันไม่ใช่เรื่องของการวางระบบเพื่อป้องกันองค์กรจากภัยคุกคามทางไซเบอร์หรอกหรือ? แน่นอนว่าการที่องค์กรต้องเร่งลงทุนในการวางระบบการรักษความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อรักษาข้อมูลทั้งส่วนของบริษัทฯ

และของลูกค้า เป็นเรื่องที่ควรเร่งลงมือทำ แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าหากการลงทุนเรื่องของเทคโนโลยีความปลอดภัยนั้นต่อยอดไปถึงเรื่องของความเชื่อมั่น และสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจในยุคที่ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือเอกชน เชื่อมโยงกัน (Eco System for Data Sharing)

โดยแนวคิดดังกล่าวนี้คือการสร้างระบบสำหรับการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล สำหรับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ให้สามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ของทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน และทำให้เกิดความเชื่อมั่นในธุรกิจการค้าบนแฟลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Commerce)

NDID

ซึ่งเป็นการทำให้เกิดแพลตฟอร์มสำหรับธุรกรรมทางการเงินแบบดิจิตอลที่ (e-Payment) และก้าวสู่สังคมของการที่ไม่ต้องพึ่งพาการใช้เงินสด (Cashless Society) และใช้งานผ่านบริการทางการเงินโมบาย (Mobile Payment) อีกทั้งวันนี้ธุรกิจการค้าดิจิตอลกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยในประเทศที่เพิ่งเริ่มสร้างสังคมดิจิตอล ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการใช้บริการผ่านรูปแบบนี้ เช่นกัน และอีกหนึ่งเหตุผลที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องคำนึงถึงคือ

วันนี้ประเทศไทยได้มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ Digital ID ให้เกิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังปี 2561ที่ผ่านมา และกำลังจะเชื่อมโยงฐานข้อมูลเต็มรูปแบบโดยเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยมีเป้าหมายที่นอกเหนือไปจากการทำให้ธุรกรรมทุกอย่างมีความถูกต้องตรวจสอบได้แล้ว

ยังเป็นการทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนจากต่างชาติอีกด้วย เนื่องจากผลสำรวจ Doing Business 2016 ของ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ  (World Bank) จากจำนวน 189 ประเทศ ในเรื่องของประเทศที่ง่ายต่อการเข้าไปทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) หากเทียบกับผลสำรวจปีที่แล้ว

โดยภาพรวมประเทศสมาชิกในอาเซียนมีทั้งที่คงเดิม คือ สิงคโปร์ที่ยังคงรักษาแชมป์เป็นที่หนึ่ง และมาเลเซียเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และรักษาลำดับ 18 ของประเทศทั้งหมด ซึ่งที่ลำดับลดลง คือ ประเทศไทย จากเดิมลำดับ 26 ลดมาเป็นลำดับที่ 49 แต่ยังคงเป็นลำดับที่สามของประเทศในกลุ่มอาเซียน

ขณะที่เวียดนามลำดับลดลงจากผลสำรวจปีที่แล้วจาก 78 เป็น 90 และยังเสียอันดับที่ 4 ของอาเซียนให้แก่บรูไน จากเดิม 101 ขยับขึ้นมาเป็นลำดับที่ 84 โดย 5 ประเทศสมาชิกที่เหลือลำดับในกลุ่มอาเซียนยังคงเดิมโดยมีลำดับโลกสูงขึ้น มีเพียงฟิลิปปินส์ที่อันดับลดลงจาก 95 เป็น 103

นั่นหมายความว่าการเร่งทำให้เกิด Eco System for Data Sharing ย่อมจะส่งผลบวกต่อธุรกิจไทยด้วยเช่นกั นอกจากนี้การมีระบบ National Digital ID จะเปลี่ยนวิธีการยืนยันตัวตน จากเดิมที่ต้องดำเนินการด้วยตัวเองพร้อมเอกสาร

มาเป็นการยืนยันตัวตนผ่านช่องทางหลากหลาย รวมถึงการยืนยันตัวตนผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย  เป็นการเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบกิจการอีกด้วย

NDID

โอกาสที่มาพร้อมความเชื่อมั่นที่เพิ่มมากขึ้น

แน่นอนว่าอุตสาหกรรมที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้วในประเทศไทย คืออุตสาหกรรมทางการเงิน เพราะทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารแล้ว ว่าอนุญาตให้ธนาคารให้บริการยืนยันตัวตนของลูกค้า หรือการให้ข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล ตั้งแต่ช่วง กันยายน ของปี 2561

ซึ่งในปัจจุบัน มีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเตรียมแผนให้บริการการรู้จักลูกค้าด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Know Your Customer หรือ e-KYC) ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกที่จำเป็นก่อนนำไปสู่การทำธุรกรรมในขั้นต่อ ๆ ไป ซึ่งแม้ว่าวันนี้ยังมีข้อจำกัดด้านจำนวนเงินในบัญชีที่ต้องไม่เกิน 1 แสนบาท

และเปิดได้เฉพาะบัญชีออมทรัพย์ และให้ e-KYC ใช้ได้กับผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่ำเท่านั้น และการใช้จ่ายผ่านบริการทางการเงินโมบาย (Mobile Payment) หรือ e-Wallet ต่าง ๆ จะยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ พ.ร.บ. Digital ID ใหม่นี้

จะช่วยทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถให้บริการเต็มรูปแบบโดยใช้ e-KYC เป็นฐานได้ โดยเฉพาะบริการด้านสินเชื่อทั้งที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจแล้ว เราก็คงหนีไม่ได้ที่ต้องทำธุรกรรมกับทางธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ

และเงินทุนที่ทางธนาคารจะอนุมัตินั้นในอดีตจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบนาน กว่าจะอนุมัติ แต่หากสามารถเชื่อมโยงและพิสูจน์ตัวตนในรูปแบบของดิจิทัลได้ ขั้นตอนเหล่านั้นจะใช้เวลาเพียงไม่นาน ซึ่งระยะเวลาในการได้เงินทุนมาหมุนเวียนในธุรกิจในหลาย ๆ ครั้ง ก็สามารถชี้ชะตาธุรกิจได้เลย

และหากมองในอีกมุมหากข้อมูลที่ถูกเชื่อมโยงกันมากขึ้น และธนาคารได้ข้อมูลที่มากพอก็อาจจะส่งผลต่อเม็ดเงินที่จะอนุมัติได้ด้วยเช่นกัน และหากธุรกิจของคุณจำเป็นต้องทำงานกับพาทเนอร์ในหลายส่วนแล้วล่ะก็ การใช้ระบบ National Digital ID จะยิ่งทำให้คุณสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ ที่จะต้องทำธุรกรรมระหว่างกันได้อีกด้วย

NDID

และจะทำให้ปัญหาเรื่องของการเลือกบริษัทฯ ที่ไม่มั่นคง และเสี่ยงต่อการทิ้งงานที่สำคัญในโครงการต่าง ๆ ลดลงอย่างมหาศาล ขณะที่ในแง่ของการลงทุนในตลาดหุ้นเองก็ถือว่าเป็นโอกาสของการลงทุนด้วยเช่นกันเนื่องจากแผนกลยุทธ์ (EERR) ปี 62-64 ของทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เปิดเผยในช่วงต้นปี 62 ที่ผ่านมา

ว่ามีเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และต่อยอดธุรกิจใหม่ ผ่าน 4 กลยุทธ์ ได้แก่ขยายขอบเขตการทำธุรกิจ (Expand), แสวงหาโอกาสใหม่ด้วยเทคโนโลยี (Explore) ลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการและกฎเกณฑ์ (Reform),  และปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Restructure)

ซึ่งการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในครั้งนี้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ และตอบสนองความท้าทายในยุคที่สภาพแวดล้อมของตลาดทุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และไม่หยุดนิ่งของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยหากมองในมุมของที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ

ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนแบบครบวงจร ที่ครอบคลุม ระบบส่งคำสั่งซื้อขาย และบริหารความเสี่ยง รวมถึงระบบหลังการซื้อขาย ทั้งหมดเพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของตัวกลาง (โบรกเกอร์) และการเข้าถึงข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจของตลาดทุน

การที่ที่สามารถทำให้พิสูจน์ตัวตนทางธุรกิจได้ย่อมหมายถึงโอกาสที่นักลงทุนที่จะเชื่อมั่นในการทำธุรกรรม และลงทุนได้มากขึ้น เพราะสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น และยังเป็นการช่วยทำให้เรื่องของการสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิดที่ครบวงจรให้กับทุกภาคส่วน

และเป็นต่อยอดระบบการเข้าถึงกองทุนรวม (Fund Connext) ทำให้สามารถซื้อขายกองทุนข้ามประเทศการชำระเงินระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ และผู้ลงทุนแบบข้ามธนาคาร ตลอดจนพัฒนาบริการเพิ่มเติมเพื่อให้การเปิดบัญชีเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบได้ง่ายดายมากขึ้น

เนื่องจากสามารถลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการ และกฎเกณฑ์ ต่าง ๆ ทำให้เพิ่มความคล่องตัว ลดค่าใช้จ่ายของอุตสาหกรรมตลาดทุนทั้งระบบ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจได้ระยะยาว

*หากอยากรู้ว่า NDID จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจได้ขนาดไหน สามารถรอติดตามข้อมูลดีได้จากงาน Thailand DIgital ID Symposium 2019 ในช่วงเดือน มิถุนายน ที่จะถึงนี้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA, ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กต. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.), www.set.or.th

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่