Cisco และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สานความร่วมมือหนุนนโยบายรัฐในการสร้าง เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้วยการนำเทคโนโลยีมาผสานกับการใช้ชีวิตของประชาชน…
highlight
- Cisco ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปั้นโครงการ สมาร์ท ซิตี้ ในชื่อ “พีเอสยู สมาร์ทซิตี้ โมเดล อิน แคมปัส” พร้อมตั้งเป้าหมายพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่สร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมาป้อนตลาดในประเทศ, ทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับไลฟ์สไตล์ในเมืองอัจฉริยะมากขึ้น และเป็นต้นแบบ เมื่องอัจริยะ (Smart City) ให้เมืองอื่นเอาไปขยายผลทำต่อได้
- คาดหวังให้อีก 10 ข้างหน้า เด็ก ๆ ที่จบออกไปจะสามารถเป็นแรงสานต่อ Smart City ต้นแบบในวันนี้ ขยายผลให้เติบโตออกไปในสเกลตำบล จังหวัด และระดับประเทศ
แหล่งเพาะกล้าบุคลากรดิจิทัลสายเลือดไทย
ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีโครงการนำร่อง เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เกิดขึ้นหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นที่ขอนแก่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ แต่สำหรับโครงการ “PSU Smart City Model in Campus” โดยความร่วมมือของ Cisco และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ครั้งนี้ แม้ขึ้นชื่อว่าเมืองอัจฉริยะเหมือนกัน
แต่ดูจะมีเป้าหมายที่พิเศษกว่าที่อื่นชัดเจน เพราะภารกิจของ “พีเอสยู สมาร์ทซิตี้” บนพื้นที่ 1,800 ไร่ในมอ. วิทยาเขตหาดใหญ่แห่งนี้ คือการ “สร้างคน” ปลุกปั้นบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะมาขับเคลื่อนชาติด้วยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นทรัพยากรมูลค่าสูงที่ไทยยังขาดแคลนอยู่มาก
Smart City เหมือนกัน แต่เป้าหมายต่างกัน
นิวยอร์กเป็นหนึ่งในเมืองอัจฉริยะที่มีชื่อเสียง เป้าหมายหลักคือการประหยัดทรัพยากรและรักษาสิ่งแวดล้อม มีการใช้แอปพลิเคชั่นตรวจสอบปริมาณการใช้น้ำ และถังขยะอัจฉริยะที่ช่วยวางแผนเวลาและเส้นทางการวิ่งเก็บขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สิงคโปร์ เวลาเป็นของมีค่า เป้าหมายจึงเป็นการเดินทางที่สะดวกและประหยัดเวลา ด้วยแอปพลิเคชั่นบอกเส้นทางและเวลาเดินรถสาธารณะ และอนาคตยังตั้งเป้าไปถึงการใช้รถยนต์ไร้คนขับ เพื่อเตรียมรองรับสังคมสูงวัยเต็มขั้น
ส่วนที่จังหวัดภูเก็ต เมืองอัจฉริยะนำร่องแห่งแรกของไทย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง Cisco และ ม.อ. เช่นเดียวกัน ในครั้งนั้นเป้าหมายหลักคือการสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยว มีการตั้งเสาสัญญาณ Wi-fi ฟรีทั่วเมือง ส่งเสริมการชำระเงินไร้เงินสด และการใช้ Smart Bus รับส่งนักท่องเที่ยวจากสนามบิน ซึ่งก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี
สำหรับ พีเอสยู สมาร์ทซิตี้ น้องใหม่นี้ ดูจะย่อส่วนลงมาในสเกลที่เล็กกว่าใคร แต่การจะสร้างเด็กรุ่นใหม่สายเลือดดิจิทัลมาขับเคลื่อนชาตินั้นไม่ใช่เป้าหมายที่เล็ก ๆ เลย เรียกว่าเป็นการสร้างเมืองอัจฉริยะบนความท้าทายใหม่ก็ว่าได้
“คนสร้างเมือง…เมืองสร้างคน” โจทย์ที่น่าสนใจของ พีเอสยู สมาร์ทซิตี้
ในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง Cisco และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในโครงการ “พีเอสยู สมาร์ทซิตี้ โมเดล อิน แคมปัส” ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้มีการเปิดเผยถึงที่มาของโครงการ ว่ามีเป้าหมายหลัก 3 ข้อ ได้แก่
- สร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมาป้อนตลาดในประเทศ
- ทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับไลฟ์สไตล์ในเมืองอัจฉริยะมากขึ้น
- เป็นต้นแบบ เมื่องอัจริยะ (Smart City) ให้เมืองอื่นเอาไปขยายผลทำต่อได้
วีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของการสร้าง Smart City คือการเอาเทคโนโลยีไปใส่ในมือของคนที่ไม่พร้อม ตั้งแต่บุคลากรที่ยังขาดความเชี่ยวชาญ ผู้ใช้งานที่ขาดความเข้าใจ ไปจนถึงจิตสำนึกของคนที่ไม่พอจะรักษาโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นสมบัติสาธารณะเอาไว้ได้
ถ้าไม่แก้ที่ตัวคนตรงนี้ก่อน การลงทุนทำ Smart City ก็จะเป็นได้แค่โครงการที่ฉาบฉวย และสูญเปล่าในที่สุด ดังนั้นการจะทำ Smart City ให้เป็นจริงได้ ต้องทำให้คน Smart ก่อนเท่านั้น
ด้าน วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Cisco กล่าวว่า เมืองอัจฉริยะในนิยาม Cisco คือต้องมีทั้งความ “Smart & Connected” นั่นคือนอกจากเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในแต่ละจุด ยังต้องเชื่อมโยงจุดเหล่านั้นเข้าหากันในทุกมิติ
เอาข้อมูลมาสร้างประโยชน์สูงสุดรอบด้าน เพื่อทำให้ชีวิตคนดีขึ้น ซึ่งดีเอ็นเอนี้ก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็น พีเอสยู สมาร์ทซิตี้ อย่างสอดคล้อง
ทำไมต้องมอ. อะไรคือศักยภาพที่ซ่อนอยู่?
ท่านผู้ว่าฯ วีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ยังได้เปิดเผยมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่ามีลักษณะคล้ายกับเมืองย่อส่วน ด้วยความที่มีอาณาเขตกว้าง มีประชากรมาก เป็นประชากรที่มีความรู้ มีศักยภาพสูง มีนโยบาลและโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นระบบปิด สามารถควบคุมได้ง่าย
จึงเหมาะที่สุดที่จะเป็นโมเดลเมืองอัจฉริยะ อีกทั้งยังเปรียบเสมือนแหล่งผลิตมันสมองของภาคใต้ จึงน่าจะเป็นศูนย์กลางที่ดี ในการสร้างประชาชนที่มีทั้งความรู้และจิตสำนึกต่อส่วนรวม
Cisco พาร์ทเนอร์ที่ติดปีก PSU Smart City ด้วยเทคโนโลยีระดับโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยมีความยินดีอย่างมากที่ได้ Cisco เข้ามาเป็นพันธมิตร ช่วยให้ทางมหาวิทยาลัยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน ใช้งานได้จริง จำเป็นต้องมีฮาร์ดแวร์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม และซอฟต์แวร์
ที่มีความเสถียร รองรับข้อมูลมหาศาลได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Cisco เข้ามารับบทบาทสำคัญ ในฐานะ Smart Infrastructure Provider ควบคู่กับการวางกลยุทธ์ด้าน Data Security ขั้นสูง ด้วยองค์ความรู้และมาตรฐานระดับสากล ประกอบเป็นโครงสร้างพื้นฐานมิติใหม่บนพื้นที่ Campus ได้แก่
“Smart Gate” แค่ก้าวแรกที่เข้ามา เราก็จะเจอกับประตูรั้วอัจฉริยะ มีกล้องตรวจจับใบหน้าคนขับ คนนั่งข้างคนขับ ป้ายทะเบียนรถ โดยผู้ผ่านเข้าออกจะต้องสแกนบัตรบุคลากรหรือประจำตัวประชาชน เพื่อเก็บข้อมูลด้านความปลอดภัย ทดแทนการแลกบัตรแบบเดิม ๆ
หากพบคนมีพฤติกรรมต้องสงสัย ระบบจะทำการแบล็กลิสต์ และส่งสัญญาณให้กล้องวงจรปิดตัวอื่นในมหาวิทยาลัยตรวจจับหารูปพรรณสัณฐานที่ตรงกันได้ทันที เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยไปพร้อมกัน
“Smart Bus Stop” ป้ายรถอัจฉริยะ ทำงานควบคู่กับ GPS บนตัวรถมินิบัสไฟฟ้า สามารถบอกได้ว่าเมื่อไรที่รถกำลังจะมา พร้อมกับรายงานสถานการณ์จราจรแบบเรียลไทม์บนป้ายดิจิทัล (Digital Signage)
“Smart Parking” ที่จอดรถอัจฉริยะ มีเซนเซอร์บอกได้ว่าที่จอดรถตรงไหนว่าง และส่งข้อมูลมาขึ้นแสดงบนป้าย Digital Signage หรือบนแอปพลิเคชั่น ช่วยให้ผู้ขับรถวางแผนเรื่องที่จอดได้ล่วงหน้า ไม่เสียเวลาเสียเชื้อเพลิงวนหาที่จอดรถ
“Smart Pole” เสาไฟฟ้าอัจฉริยะ ยอดบนสุดมีเครื่องปล่อยสัญญาณ Wi-fi และเครือข่าย IoT ไร้สาย สามารถปล่อยสัญญาณได้ครอบคลุมรัศมี 10-20 กม. มีเซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น ทิศทางลม ฝน และมลพิษ PM 2.5 แสดงผลแบบเรียลไทม์บนป้าย Digital Signage ด้านล่างสุดเป็นจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
“Smart Lighting” ไฟถนนอัจฉริยะ สามารถปรับแสงตามความสว่างของสภาพแวดล้อมได้โดยอัตโนมัติ และมีเซนเซอร์ตรวจจับคนที่เดินผ่าน เมื่อไรมีคนผ่านมาในบริเวณ ไฟก็จะสว่างขึ้น และปิดได้เองเมื่อไม่มีคน ตอบโจทย์ทั้งความปลอดภัยและการประหยัดพลังงาน
“PSU Smart Farm” ฟาร์มอัจฉริยะ ระบบเกษตรปราณีต (Precision Agriculture) ควบคุมดูแลด้วยเซนเซอร์วัดน้ำหนัก เชื่อมกับ AI และ IoT สามารถกำกับดูแลปริมาณน้ำ แสง และสารอาหารอัตโนมัติในระบบปิด ตัดปัญหาจากปัจจัยธรรมชาติ พร้อมกับควบคุมคุณภาพของพืชได้อย่างแม่นยำขั้นสุด
ขนาดที่เลือกระดับความหวานของผลไม้ให้ตรงตามที่ลูกค้าระบุไว้ได้ ปัจจุบันพืชต้นแบบที่นำมาปลูกได้สำเร็จคือเมล่อน มีการเปิดจำหน่ายล่วงหน้าแล้ว เป็นพื้นที่เพาะกล้านักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรที่ติดอาวุธความรู้ด้านเทคโนโลยี
“Smart Environment” สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Hatyai Monitoring รับข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษในอากาศจากสถานีต่าง ๆ ทั่วหาดใหญ่ รวมถึงระดับน้ำฝน ระดับออกซิเจนในแหล่งน้ำ การเฝ้าระวังอุทกภัย เพื่อส่งแจ้งเตือนถึงประชาชนได้อย่างทันท่วงที
“Intelligent Operating Center” หรือ IOC ศูนย์กลางบัญชาการระบบ Smart City ทั้งหมด เปรียบเสมือนนิวเคลียสของ Smart Ecosystem ควบคุมดูแลด้วยฮาร์ดแวร์มาตรฐานสูงของ Cisco
“City Data Platform” แพลตฟอร์มอัจฉริยะระดับเมือง เก็บข้อมูลจากสถานีทั่วเมืองหาดใหญ่และภูเก็ต ทั้งสภาพจราจร การแทร็กรถยนต์ การทำงานของตำรวจท่องเที่ยว สถิติการเข้าออกของเรือ การกระจาย Wi-fi สาธารณะ ฯลฯ
เพื่อสร้างความเข้าใจด้าน Smart City ให้กับคนในท้องที่อย่างทั่วถึง และปั้นคนพื้นที่ให้เป็นปราชญ์ด้านเทคโนโลยีมาดูแลโครงการให้ไปต่อได้ในระยะยาว
“Research Market” แพลตฟอร์มตลาดงานวิจัยออนไลน์ เป็นตัวกลางให้นักวิจัย และผู้ประกอบการได้มาเจอกัน ซื้อขายงานวิจัยเพื่อเอาไปต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ แก้ปัญหางานวิจัยไทยขึ้นหิ้งที่มีศักยภาพแต่ยังไม่ถูกเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์
“Cisco Network Academy” สำนักวิทยบริการด้านไอที เปิดสอนหลักสูตรพิเศษให้ความรู้เรื่อง DevNet และ IoT กับนักศึกษาและนักเรียนมัธยมที่สนใจ สอนโดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์จาก Cisco โดยตรง เนื้อหาเน้นเพื่อใช้ทำงานจริงโดยเฉพาะ มีการฝึกปฏิบัติเข้มข้น
“PSU Working Space” พื้นที่อเนกประสงค์ให้นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ตามอัธยาศัย แหล่งรวมเทคโนโลยีมากมาย เช่น Pepper Robot, ARM Robot, Coding Robot, 3D Printer, Laser Cutter, ฯลฯ ทั้งหมดเปิดให้นักศึกษาเข้ามาใช้งานได้
พร้อมกับฐาน Open Data ที่เปิดเป็น Sandbox ให้กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพเข้ามาใช้ประโยชน์ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างก่อสร้าง จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2562
จะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมทั้งมหาวิทยาลัย เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและโอกาสเรียนรู้ไม่สิ้นสุด เปิดให้นักศึกษาได้เข้ามาฝึกปรืออย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้เอาความรู้จากในห้องเรียน มาประยุกต์ใช้จริงในภาคปฏิบัติ ให้พวกเขาได้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าทึ่ง พร้อมกับสร้างพื้นที่เปิดกว้างทางความคิด
ให้ทุกคนสามารถเสนอไอเดีย สร้างงานวิจัย ลงสนามทดสอบจริง จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ผ่านการพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเอาไปพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ มีการสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เปิดให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาศึกษา และยังมีการกระจายองค์ความรู้แบบเชิงรุกสู่ประชาชนในท้องที่เมืองหาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง
ถอดบทเรียนจากอดีต เพื่อการเริ่มต้นที่ดีกว่าเดิม
เมื่อ 3 ปีก่อน Cisco และ มอ. เคยร่วมกันสร้าง Phuket Smart City มาแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นก่อนจะสำเร็จได้ทางคณะทำงานก็ต้องพบกับปัญหาหลาย ๆ อย่าง เกิดจากฮาร์ดแวร์ที่ทนทานไม่พอกับสภาพอากาศร้อนชื้นของภาคใต้ ดังนั้นในการสร้าง พีเอสยู สมาร์ทซิตี้ ครั้งนี้
จึงได้มีการนำบทเรียนที่ได้จากโครงการที่แล้วมาปรับปรุง อุดกลบช่องโหว่ต่าง ๆ พัฒนาตัวเครื่องให้แข็งแรงทนทานกว่าเดิม เช่น เครื่องปล่อยสัญญาณ Wi-fi ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานที่สมบุกสมบันโดยเฉพาะ ไปจนถึงตัวเซิร์ฟเวอร์ที่เสถียรขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่า พีเอสยู สมาร์ทซิตี้ จะสามารถสร้างมาตรฐานใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้
โครงการนี้จะต่อเนื่องได้แค่ไหน ในสภาวะการเมืองที่ไม่แน่นอน?
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต อาจารย์ผู้ดูแลโครงการ เปิดเผยว่า แม้ว่าในขั้นเริ่มต้น พีเอสยู สมาร์ทซิตี้ จะเกิดขึ้นจากงบประมาณรัฐบาล แต่ด้วยสภาวการณ์ทางการเมืองที่อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ทางมหาวิทยาลัย และ Cisco
จึงได้มีการวางแผนเร่งสร้างรายได้หล่อเลี้ยงให้ระบบทั้งหมดอยู่ได้ด้วยตัวเอง (Self-funding) เช่น การจัดจำหน่ายผลผลิตจาก Smart Farm การขายพื้นที่โฆษณาบนป้าย Digital Signage ไปจนถึงการเตรียมนำฐานข้อมูล Big Data ที่มีอยู่
ไปสร้างเป็น Business Model ใหม่ ๆ ในอนาคต เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการจะเดินหน้าต่อเนื่องไปถึงจุดหมายได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาล
PSU Smart City ในมุมมองของนักศึกษา มอ.
หลังจากเริ่มต้นโครงการ พีเอสยู สมาร์ทซิตี้ มาได้ไม่ถึงปี ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีจากบุคลากร และนักศึกษา เด็ก ๆ ให้ความสนใจเกี่ยวกับ Smart City มากขึ้น ชีวิตในมหาวิทยาลัยมีความสะดวกสบาย มั่นใจในความปลอดภัย และมีความภาคภูมิใจในสถาบัน
ส่วนปัญหาที่พบเบื้องต้นก็จะเป็นการที่ Smart Infrastructure เหล่านี้ยังรองรับจำนวนผู้ใช้ได้ไม่มาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักศึกษา เช่น มีเสียงเรียกร้องให้เพิ่มจำนวนป้ายรถเมล์อัจฉริยะให้มีมากขึ้น พื้นที่กว้างขึ้น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็มีแผนจะขยายให้ในอนาคตถ้ามีงบประมาณที่เพียงพอ
มองภาพ PSU Smart City ในอีก 10 ปีข้างหน้าไว้อย่างไร?
ภาพระยะยาวของ พีเอสยู สมาร์ทซิตี้ ไม่ได้หยุดอยู่แค่สร้างบุคลากรเท่านั้น แต่ต้องการสร้าง Ecosystem การทำงานให้ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังสำนึกรักบ้านเกิด การส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ ๆ มาเปิดสาขาในพื้นที่ใกล้เคียง
เพื่อที่จะให้เด็กจบใหม่ได้ใช้ความสามารถมาพัฒนาชุมชน ทำงานใกล้บ้าน แทนที่เรียนจบแล้วจะหลั่งไหลเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หรือสมองไหลไปต่างประเทศ โดยคาดหวังให้อีก 10 ข้างหน้า เด็ก ๆ ที่จบออกไปจะสามารถเป็นแรงสานต่อ Smart City ต้นแบบในวันนี้ ขยายผลให้เติบโตออกไปในสเกลตำบล จังหวัด และระดับประเทศได้
PSU Smart City แห่งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็น New Hope ของไทยทั้งชาติ ในการเป็นหัวเรือใหญ่พาเราโต้ฝ่ากระแสความเปลี่ยนแปลงที่พัดโหม ให้เติบโตเทียบทันสังคมดิจิทัลในระดับโลกได้อย่างที่รอคอย
ถึงตอนนี้จะยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่ด้วยเจตนารมณ์ที่แรงกล้า และการผนึกกำลังของพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เรารู้ดีว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการเดินทางที่ยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่