ผลสำรวจ ตลาดไอทีเซอร์วิส (IT Services) ปี 2018 พบมูลค่าตลาดพุ่งแตะ 92 พันล้านบาท ขณะที่ไทยมีมูลค่าการใช้จ่ายเป็น No.2 ของภูมิภาคอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์…
highlight
- ไอดีซี เผย ภาพรวมทิศทางของตลาดไอทีเซอร์วิส (IT Services) ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 พบว่ามีมูลค่าสูง 47 พันล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตที่ 9.3% (YoY) ส่งผลให้มูลค่าตลาดรวมของทั้งปี 2561 นั้นอยู่ที่ 92 พันล้านบาท โดยหากนับเฉพาะประเทศไทยพบว่ามีการการใช้จ่ายด้านไอทีเซอร์วิส มากเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์เท่านั้น
- แรงผลักดันในการทำให้เกิดการลงทุนในเรื่องของไอทีเซอร์วิส เป็นผลมาจากความต้องการสร้างบริการใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี อย่าง บล็อคเชน (Blockchain) หรือคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrencies) ไอโอที (IoT) โรโบติกส์ (Robotics) ออโตเมชัน (Automation) และโลเคชันเบสเซอร์วิส (Location Based Service) บิ๊ก ดาต้า (Big Data) และ เอไอ (AI)
IT-Services ไทยครึ่งปีหลัง (2561) โตแตะ 47 พันล้านบาท
จากผลสำรวจล่าสุดที่ทาง ไอดีซี (IDC) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้มีการใช้จ่ายด้านไอทีเซอร์วิสในประเทศนั้นมีหลายปัจจัย ครอบคลุมในแทบทุกอุตสาหกรรม อาทิเช่น การมีบริการใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) หรือคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrencies) ในภาคธุรกิจการเงิน การลงทุน
ขณะที่การพัฒนาด้าน ไอโอที (IoT) โรโบติกส์ (Robotics) ออโตเมชัน (Automation) และโลเคชันเบสเซอร์วิส (Location Based Service) สำหรับการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นในภาคโรงงานอุตสาหกรรม การริเริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการปรับปรุงพัฒนาการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ
รวมถึงเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในประเทศ เช่น แผนการลงทุนในเทคโนโลยีตรวจสอบ และจดจำใบหน้าออนไลน์ (Online Facial Recognition System) ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดขั้นตอน
และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการลดโอกาสการเกิดข้อผิดพลาดจากการทำงานของมนุษย์ เป็นต้น
ตลาดไอทีเซอร์วิสในภาพรวม และ Key Attributes ใน 3 กลุ่ม
- Project-oriented market หรือการทำสัญญาการจ้างงานระยะสั้น นั้น ข้อเสนอ และงานบริการสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า ความเป็นเจ้าของด้านสินทรัพย์ (Assets) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโอนย้ายระหว่างลูกค้า และผู้ให้บริการ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น
- Managed services market หรือการทำสัญญาการจ้างงานระยะยาว นั้น ข้อเสนอ และงานบริการปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งสินทรัพย์บางส่วนจะมีผู้ให้บริการเป็นเจ้าของ และรับผิดชอบดูแลแทนลูกค้า และการรักษามาตรฐานการให้บริการ (On-Going Service Level Agreement หรือ SLA) รวมถึงการปรับใช้ให้เหมาะสมถือเป็นผลสำเร็จของงานที่คาดหมายไว้
- Support services market หรือการทำสัญญาการจ้างงานระยะยาว นั้น ข้อเสนอ และงานบริการเป็นรูปแบบมาตรฐานไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ความเป็นเจ้าของด้านสินทรัพย์ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโอนย้ายระหว่างลูกค้า และผู้ให้บริการ รวมไปถึงช่วยแก้ปัญหาที่ตกลงไว้
ภาพรวมทิศทางของตลาดไอทีเซอร์วิส ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561
ในกลุ่มของกรบริการในรูปแบบของ การทำสัญญาการจ้างงานระยะสั้น (Project-oriented market) ได้มีการริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชัน (DX) ในด้านที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมเทคโนโลยี บิ๊ก ดาต้า (Big Data) เอไอ (AI) บล็อกเชน (Blockchain) และการพัฒนาคลาวด์เบสแอปพลิเคชัน
นอกจากนั้นยังมีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีขนาดใหญ่ ขับเคลื่อนโดยโครงการต่าง ๆ หลากหลาย อาทิเช่นโครงการสมาร์ทซิตี้ ที่ช่วยเพิ่มความต้องการงานไอทีเซอร์วิสในด้านงานที่ปรึกษา (IT Consulting Services) และงานรวมระบบ (Systems Integration Services) ให้กับอุตสาหกรรมการขนส่ง และการก่อสร้าง
ในขณะที่ธุรกิจการบริการส่วนบุคคลจะมีความต้องการการพัฒนาในเรื่องของแอปพลิเคชันในแบบที่สามารถบริหารจัดการเอง (Customized) ได้ง่ายมากขึ้น ขณะที่ในด้านฝั่งธุรกิจภาคการเงินการธนาคาร มีแนวโน้มต้องการพัฒนาปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเอไอ และบล็อกเชนสูงมากขึ้น
และภาคโรงงานอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้งานเทคโนโลยีด้านไอโอที จะส่งผลต่อการเติบโตที่มีนัยยะ ซึ่งจะทำให้งานไอทีเซอร์วิสด้านงานที่ปรึกษาด้านเน็ตเวิร์ค และงานรวมระบบ (Network Consulting Services & Integration) เป็นสิ่งที่ต้องการมากขึ้น
ในส่วนของ การทำสัญญาการจ้างงานระยะยาว (Managed services market) ได้เริ่มเห็นการวางแผนด้านเงินลงทุนรายปีโดยเฉพาะเพื่อการพัฒนาในด้านดิจิทัลนั้น มีความพยายามในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น และเน้นในเรื่องของนวัตกรรม
ทำให้งานด้านไอทีบางส่วนที่มีลักษณะงานประจำ (Routine tasks) ทำซ้ำ ๆ (Repeatable tasks) ภายในองค์กรถูกโอนย้ายไปจัดการโดยผู้ให้บริการภายนอก ซึ่งในภาพรวมนั้นมีต้นทุนที่ถูกกว่าการจ้างพนักงานเพื่อมาดูแลงานประจำเหล่านั้นโดยเฉพาะ
และยังสามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานด้านไอทีที่มีอยู่ เพื่อบริหารจัดการงานที่ซับซ้อนมากขึ้นจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำเข้ามาใช้เพิ่มเติมในองค์กร หนึ่งแนวโน้มที่จะเห็นการ ลงทุนพัฒนาแอปพลิเคชัน ที่รันอยู่บนระบบคลาวด์เบสแอพพลิเคชั่นของตนเองเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะในภาคธุรกิจการเงินการธนาคาร การค้าปลีก การบริการส่วนบุคคล และภาคการขนส่ง ซึ่งการลงทุนจากกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ให้เกิดการใช้บริการจากไอทีเซอร์วิสในด้าน การบริหารจัดการแอปพลิเคชั่น (Hosted Application Management) มากขึ้น
ในส่วนของการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะใช้ในการสร้าง และพัฒนาแอปพลิเคชัน (Tools) อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทีมนักพัฒนา (AppDev) สามารถใช้ผลิต และออกแอพพลิเคชั่นเวอร์ชันใหม่ ๆ หรือออกฟีเจอร์ใหม่ ๆ ได้รวดเร็วขึ้น
ขณะที่ การทำสัญญาการจ้างงานระยะยาว (Support services market) ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากความต้องการย้ายโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีมาที่ระบบคลาวด์ส่วนตัวแบบออนพรีมิส (On-premise private cloud) ขององค์กรต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดความต้องการอัพเกรดระบบอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้ตอบสนอง
ต่อการทำงานที่เปลี่ยนไปด้วย รวมไปถึงการเก็บรวบรวม คัดแยก และใช้ประโยชน์จากดาต้าหลากหลายที่มาและหลากหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มที่มาของแหล่งรายได้ให้กับองค์กรนั้น ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ มีการลงทุนในฮาร์ดแวร์จำพวก SOL server และ Stimulation Systems ตลอดไปจนถึงซอฟท์แวร์ด้านความปลอดภัย
ทางไซเบอร์ และ อนาไลติกส์ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งโดยปกติการลงทุนในระบบโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะต้องมีการอบรมพนักงานให้สามารถใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีการทำงานที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามรูปแบบของระบบเหล่านั้นให้สอดคล้อง และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งงานซับพอร์ตเซอร์วิสในส่วนนี้ นั้นเป็นไอทีเซอร์วิสประเภท IT Education and training ส่วนใหญ่จะถูกระบุรวมอยู่ในสัญญาการจ้างงานเพื่อลงระบบอยู่แล้ว
จากแนวโน้มทั้งส่งผลให้ตลาดไอทีเซอร์วิส (IT Services) ของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 นั้นมีมูลค่าสูง 47 พันล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตที่ 9.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้มูลค่าตลาดรวมของทั้งปี 2561 นั้นอยู่ที่ 92 พันล้านบาท โดยที่ประเทศไทยนั้นมีมูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีเซอร์วิส ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com **** ขอขอบคุณข้อมูลจาก IDC Research (Thailand)
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่