การปรับใช้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียง (Intelligent Personal Assistant) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจชี้มีแบรนด์มากถึง 91 เปอร์เซ็นต์ ที่ลงทุนในเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงอย่างจริงจัง…
highlight
- มีแบรนด์มากถึง 91% ที่ลงทุนในเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงอย่างจริงจัง โดย 71% ของแบรนด์เหล่านั้นมองว่าการสั่งงานด้วยเสียงจะช่วยพัฒนาประสบการณ์ผู้ใช้
- 94% ของผู้ที่ถูกสำรวจคิดว่าเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงใช้งานง่าย ช่วยให้ประหยัดเวลา และยกระดับคุณภาพชีวิต แต่กว่า 50% กลับมองว่าวิธีการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวมีความยุ่งยาก
- ผู้บริโภคเพียง 51% อยากให้เทคโนโลยีดังกล่าวทำงานได้เหมือนมนุษย์ แต่ 49% มองว่าไม่จำเป็นต้องพัฒนาให้มีคุณลักษณะเหมือนกับมนุษย์จริง ๆ
- ผู้ใช้เกือบ 3 ใน 5 เชื่อว่าการสั่งงานด้วยเสียงจะตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า
Intelligent Personal Assistant ทั่วโลกปรับใช้เพิ่มกว่า 91%
การปรับใช้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเทคโนโลยีผู้ช่วยเสมือนจริงจากค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon Alexa และ Google Assistant มีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน และล่าสุด รายงานที่ทางอะโดบีเปิดเผย พบว่า มีแบรนด์มากถึง 91% ที่ลงทุนในเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงอย่างจริงจัง โดย 71% ของแบรนด์เหล่านั้นมองว่าการสั่งงานด้วยเสียงจะช่วยพัฒนาประสบการณ์ผู้ใช้
โดย 94% ของผู้ที่ถูกสำรวจคิดว่าเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงใช้งานง่าย ช่วยให้ประหยัดเวลา และยกระดับคุณภาพชีวิต แต่กว่า 50% กลับมองว่าวิธีการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวมีความยุ่งยาก โดย 49% ระบุว่า ในบางครั้งพวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มใช้งานอย่างไร และใช้เพื่ออะไรได้บ้าง
และแม้ว่าผู้ใช้จะรู้สึกพึงพอใจ และทึ่งกับความสามารถของผู้ช่วยดิจิทัลที่สั่งงานด้วยเสียงในการตอบสนองต่อคำสั่ง และทำงานร่วมกับอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่กลับมีผู้ใช้ไม่ถึงครึ่งที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นประจำทุกวัน ซึ่งในปัจจุบันเราใช้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงในกิจกรรมประจำวันกันอย่างแพร่หลาย
เช่น ระบบนำทางในรถยนต์ การโทรออก ส่งข้อความ ตรวจสอบสภาพอากาศ และฟังเพลง แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองไม่ได้ใช้ระบบดังกล่าวสำหรับงานที่ซับซ้อน เช่น บริการด้านธนาคาร (61%) หรือจองที่พัก และตั๋วเครื่องบิน (52%)
โดยวันนี้แบรนด์ต่าง ๆ พยายามที่จะขยายช่องทางการโต้ตอบด้วยเสียงพูดให้ครอบคลุมมากขึ้น จากเดิมที่ใช้ในการทำธุรกรรม ขยายไปสู่การสนทนาและการติดต่อสื่อสารที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยนักออกแบบจะมีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการสร้างสรรค์ประสบการณ์ด้านการสั่งงานด้วยเสียงให้ใช้งานง่าย
และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเหมือนกับจอทัชสกรีนในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้นักออกแบบสร้างสรรค์ประสบการณ์โดยใช้เทคโนโลยีใหม่นี้
ควรทำงานได้หมือนมนุษย์จริง ๆ หรือไม่?
สำหรับคำถามนี้ ก็คงต้องตอบว่าไม่จำเป็นต้องทำงานเหมือนกับมนุษย์ แต่อย่างใด เพราะในผลการสำรวจชี้ว่ามีผู้บริโภคเพียง 51% อยากให้เทคโนโลยีดังกล่าวทำงานได้เหมือนมนุษย์ แต่ 49% มองว่าไม่จำเป็นต้องพัฒนาให้มีคุณลักษณะเหมือนกับมนุษย์จริง ๆ โดยเฉพาะในมุมของที่สัมผัสในอารมย์ของนุษย์
อาทิ การแสดงความเห็นอกเห็นใจ หรือการแสดงอารมณ์ขัน ซึ่งมีความละเอียดอ่อนของเรื่องจังหวะที่เหมาะสม แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ก็ยังมีการเดินหน้าพัฒนาในบริบทดังกล่าวยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยผู้ใช้ราว 70% พึงพอใจกับความสามารถของเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงด้านการโต้ตอบ
แต่สิ่งที่ต่างจากมนุษย์ก็คือ เทคโนโลยีดังกล่าวมักจะประสบปัญหาในการทำความเข้าใจคำสั่งหรือคำถามของผู้ใช้งาน โดยผู้ใช้เกือบครึ่งหนึ่งระบุว่า ระบบจดจำเสียงพูดเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดสำหรับการใช้เทคโนโลยีนี้ โดยมีผู้ใช้เพียง 69% ที่ระบุว่าตัวช่วยสั่งงานด้วยเสียงรับคำสั่ง หรือเข้าใจคำถามได้ถูกต้องแม่นยำ
และบางครั้งการโต้ตอบกับผู้ช่วยสั่งงานด้วยเสียงก็สร้างความอึดอัดใจให้แก่ผู้ใช้ โดย 47% ระบุว่าในบางครั้งตนเองรู้สึกเขิน ๆ ที่จะพูดคุยกับอุปกรณ์ของตัวเอง ดังนั้นนักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (UX) ทราบดีว่า ด้วยวิธีการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวที่แตกต่างกันย่อมต้องอาศัยแนวทางที่ต่างกัน
และในการออกแบบโปรแกรมผู้ช่วยที่สั่งงานด้วยเสียงให้มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ในหลายๆ ระดับ นักออกแบบจำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับความต้องการของผู้ใช้ ตัวอย่างเช่น เตาอบไมโครเวฟที่สั่งงานด้วยเสียงอาจไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเหมือนมนุษย์
แต่ระบบ GPS ที่รองรับการสนทนาควรจะมีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่า แทนที่จะมุ่งเน้นการจำลองแบบให้เหมือนกับมนุษย์ แบรนด์ต่าง ๆ ควรจะให้ความสำคัญกับการสร้างโปรแกรมผู้ช่วยที่รองรับการสั่งงานด้วยเสียงและประสบการณ์ที่ใช้งานสะดวก และง่ายดาย ด้วยการให้ความสำคัญกับความต้องการใช้งาน
เช่น ผู้บริโภคจะใช้โปรแกรมผู้ช่วยในสถานการณ์แบบไหน นักออกแบบจะสามารถสร้างสรรค์การโต้ตอบที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติและใช้งานง่ายขึ้น และท้ายที่สุดแล้วจะช่วยกระตุ้นการใช้งานให้แพร่หลาย และทำให้ผู้ใช้รู้สึกคุ้นเคยกับสื่อประเภทใหม่นี้เพิ่มมากขึ้น
การสั่งงานด้วยเสียงเข้ากับสกรีน คืออนาคตของ Digital Experience
ปัจจุบันการโต้ตอบด้วยเสียงส่วนใหญ่มีทั้งแบบที่โต้ตอบด้วยกระบวนการที่ซับซ้อน และโต้ตอบตรงไปตรงมา แต่เราพบว่าผู้ใช้จำนวนมากต้องการใช้เทคโนโลยีนี้ในกิจกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยรูปแบบความต้องการใช้งานแบ่งได้ ดังนี้ 37% นัดหมายเพื่อพบแพทย์, 31% การขอสิ่งอำนวยความสะดวกของโรงแรม
และ 30% การจัดส่งสินค้า ขณะที่ ยิ่งงานมีความซับซ้อนมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ผู้บริโภคไม่เลือกใช้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงกับงานดังกล่าวมากขึ้นเท่านั้น จากที่กล่าวมาทั้งหมด พบว่า การผสานรวมระบบสั่งงานด้วยเสียง และหน้าจอเข้าด้วยกัน
คือทางออกสำคัญที่นักออกแบบควรปรับใช้เพื่อให้เทคโนโลยีการโต้ตอบเหล่านี้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้และทำงานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้งานปัจจุบัน 85% ใช้งานบนสมาร์ทโฟน ขณะที่การใช้งานผ่านลำโพงอัจฉริยะอยู่ที่ 39%
ซึ่งนับเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเสียงพูด และหน้าจอคือเทคโนโลยีคู่หูที่จะทำให้ผู้ช่วยอัจฉริยะด้านการโต้ตอบด้วยเสียงทำงานได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด และ80% ผู้ใช้ส่วนใหญ่ เห็นตรงกันว่า องค์ประกอบด้านการแสดงผลจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ในกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น
โดย 83% ระบุว่าหน้าจอที่เปิดยืนยันคำสั่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากเลยทีเดียว ที่สำคัญก็คือ เพื่อให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อินเทอร์เฟซของเสียงจะต้องได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ดังนั้นนักออกแบบควรศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่รองรับการสั่งงานด้วยเสียง
เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ ประสบการณ์ผู้ใช้ของแอปและวิธีการโต้ตอบที่จะถูกสร้างขึ้น โดยอาจลองใช้งานลำโพงอัจฉริยะหรือโปรแกรมผู้ช่วยดิจิทัลบนสมาร์ทโฟน และทำความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงเป็นอินเทอร์เฟซหลัก
เพื่อเรียนรู้แนวทางการออกแบบที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้นักออกแบบจะทราบได้อย่างรวดเร็วว่าควรจะปรับปรุงการโต้ตอบในส่วนใดโดยอาศัยองค์ประกอบของหน้าจอเป็นหลัก ในอนาคตระบบสั่งงานด้วยเสียงมีศักยภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับรูปแบบการสื่อสารที่มีเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโต้ตอบกันระหว่างบุคคลและแบรนด์ต่าง ๆ โดยผู้ใช้เกือบ 3 ใน 5 เชื่อว่าการสั่งงานด้วยเสียงจะตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า และต้องการให้แบรนด์ต่าง ๆ ยกระดับประสบการณ์การโต้ตอบที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และเสียง โดยมีฝ่ายครีเอทีฟเป็นผู้สร้างสรรค์
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com **** ที่มาข้อมูล Adobe
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่