e-Tax

ปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศ กำลังเร่งปรับระเบียบโครงสร้างด้านภาษี แต่ประเทศอินเดีย คือหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ หลังเดินหน้ารื้อระบบภาษีแบบเก่า และก้าวสู่ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax) เพื่อลดความยุ่งยากในการจัดเก็บภาษีของรัฐ…

highlight

  • นายกรัฐมนตรี Narendra Modi ของอินเดีย ได้เดินหน้านโยบายด้านภาษีของประเทศ โดยจะเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ที่เรียกว่า “ระบบ GST” (Goods and Services Tax) และผลักดันให้เกิดระบบภาษีใหม่ที่มีมาตราฐานเดียวกันทั้งประเทศ (One Nation, One Tax) มีแผนที่ยกเลิกภาษีทางอ้อมกว่า 15 ประเภท เช่น ภาษีขายระหว่างรัฐ, ภาษีเข้ารัฐ, ภาษีผ่านแดน, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต ให้มารวมกันอยู่ภายใต้ระบบ GST ทั้งหมด โดยรัฐบาลอินเดียคาดว่าระบบ GST จะช่วยให้ GDP ขยายตัวเพิ่มอีก 2% เลยทีเดียว

“อินเดีย โมเดล” กับนโยบายระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax) 

ปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศ กำลังเร่งปรับระเบียบโครงสร้างด้านภาษี เพื่อลดความยุ่งยากในการจัดเก็บภาษีของรัฐ ซึ่งประเทศไทยเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งในประเทศที่กำลังเร่งปรับตัวเข้าสู่การใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หลังจากที่มีการประกาสใช้ไปตั้งแต่วันที่ วันที่ 1 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา

แต่ถึงจะมีการประกาศใช้งานแล้ว แต่ในไทยกลับยังพบปัญหา และอุปสรรค อยู่อีกมาก โดยภาคธุรกิจยังขาดข้อมูล ความรู้ความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงการจัดทำภาษีสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้หากธุรกิจในวันนี้ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทัน แต่อย่างไรก็ดีวันนี้หน่วยงานภาครัฐเองที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้เอกชนเข้าใจ

หากมองในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ จากทั่วโลก ประเทศหนึ่งในประเทศที่เปลี่ยนแปลงระบบภาษีได้อย่างน่าสนใจ คือ ประเทศอินเดีย เพราะเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย และความซับซ้อนในหลายมิติ ทั้งด้านวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันของคนหลายกลุ่มจนทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีผู้คนรวมตัวกันมากกว่าพันล้านคน

แม้นี่จะเป็นจุดเด่นของอินเดียที่ดึงดูดสายตาจากนักลงทุนทั่วโลก แต่การเข้าไปทำธุรกิจในประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายหลเพราะมีข้อบังคับ และกฎระเบียบหลายอย่าง ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละรัฐ จนมีการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) อยู่ที่ 130 จาก 190 ประเทศทั่วโลกเลยทีเดียว

แต่วันนี้ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Narendra Modi ของอินเดีย ได้เดินหน้านโยบายด้านภาษีของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายสำคัญที่ประกาศในวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ว่าจะยกเครื่องระบบภาษีของอินเดีย ครั้งใหญ่ โดยจะเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ที่เรียกว่า “ระบบ GST” (Goods and Services Tax)

อินเดีย ชี้…รื้อระบบภาษีสุดยาก แต่ทำได้!!

e-Tax

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ และประชากรเยอะ ทำให้ระบบการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลาง โดยให้แต่ละรัฐดูแลระบบเศรษฐกิจของรัฐตนเอง ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้อินเดียมีทั้งรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นของ 29 รัฐ และมีอำนาจกำหนดกฎเกณฑ์ของแต่ละรัฐ รวมถึงอัตราภาษีที่แตกต่างกัน

ปัญหาในเรื่องของพื้นที่ที่กว้าง และการแบ่งบทบาทหน้าที่ให้แต่ล่ะรัฐดูแลกันเองนี่เอง ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่มีการเก็บภาษีที่ซับซ้อนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และทำให้อินเดียไม่สามารถดึงดูดสำหรับนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศของตนเองได้อย่างที่ควรจะเป็น แม้ว่าจะมีจำนวนประชากรมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลกก็ตาม

โดยอุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียนั้น ได้แก่ การศึกษาอัตราภาษีที่แตกต่างกันมาก จากปัญหาดังกล่าวนี้เองทำให้ผู้ทำธุรกิจในประเทศ มีความยุ่งยากในการประเมินต้นทุน หรือกำไรจากการขายแต่ละรัฐ เพราะในหลายรัฐของอินเดียมีการตรวจสอบสินค้า และเก็บภาษีก่อนผ่านเข้าเขตแดน 

ทำให้การค้าขายระหว่างรัฐในอินเดียเปรียบเสมือนการค้าขายระหว่างประเทศต่าง ๆ กว่า 29 ประเทศ และด้วยการที่หน่วยงานภาษีของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ล่ะรัฐต่าง ๆ ทำงานแยกกัน ทำให้ตรวจสอบได้ยาก และทำให้เรื่องของการขอเครดิตภาษีคืนในแต่ละขั้นการผลิตก็ทำได้ยาก

จากที่ปกติแล้วผู้ผลิตที่เคยเสียภาษีไปเมื่อซื้อวัตถุดิบมา สามารถนำภาษีส่วนดังกล่าวมาหักลบจากภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อขายสินค้าต่อไปได้ หรือเรียกว่าได้เครดิตภาษี แต่เมื่อผู้เก็บภาษีทำงานแยกกันก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ผลิตได้เสียภาษีวัตถุดิบไปอย่างถูกต้อง หรือไม่ 

ซึ่งความยุ่งยากนี่เองยังส่งผลต่อเรื่องของการตรวจสอบ ทำให้เกิดกรณีการทุจริต และติดสินบนเจ้าหน้าที่ เนื่องจากบางกรณีอาจต้องใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการประเมินภาษี เพราะไม่มีกฎหมายกลางที่กำหนดอัตราภาษีที่ตายตัว และยังต้องตรวจสอบเอกสารจำนวนมากที่ใช้เจ้าหน้าที่

และยังทำให้เกิดการซื้อระหว่างรัฐ ที่มีต้นทุนสูง ทั้งในแง่ของเงินทุน และเวลาในการขนส่ง โดยจากรายงานของ World ฺBank ระบุว่า 60% ของระยะเวลาที่รถบรรทุกใช้ในการขนส่งสินค้าในอินเดีย ส่วนใหญจะเสียเวลาในการจอดรถอยู่เฉย ๆ เพราะต้องต่อคิวในจุดผ่านแดนของรัฐต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบ และเสียภาษี

ทำให้คาดเดาเวลาในขนส่งที่ชัดเจนได้ยาก ซึ่งผลกระทบยังเชื่อมโยงไปยังเรื่องของการภาคของการส่งออกสินค้า และการผลิตด้วย เพราะต้องใช้วิธีในการเลี่ยงเส้นทางในการขนส่งที่จะต้องผ่านตรวจสอบ และเสียภาษี ในหลาย ๆ รัฐ และจากที่ที่พยายามหลบหลีกนี่เองต้นทุนขนส่งในอินเดียสูงกว่าการส่งออกจากประเทศอื่น 2-3 เท่า เลยทีเดียว

e-Tax

อีกทั้งยังทำให้การซื้อวัตถุดิบหลาย ๆ ชนิดจากรัฐอื่น ๆ มีต้นทุนแพงกว่าการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้บริษัทใหญ่หลายรายไม่ต้องการใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศอินเดียเอง จากอุปสรรคทั้งหมดจึงทำให้รัฐบาลอินเดียเร่งทำการศึกษา และวางแผนใหม่ และผลักดันให้เกิดระบบภาษีใหม่ที่มีมาตราฐานเดียวกันทั้งประเทศ (One Nation, One Tax) 

โดยรัฐบาลอินเดียนั้นมีแผนที่ยกเลิกภาษีทางอ้อมกว่า 15 ประเภท เช่น ภาษีขายระหว่างรัฐ (Central sale tax) ภาษีเข้ารัฐ (Entry tax) ภาษีผ่านแดน (Octori) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีสรรพสามิต ให้มารวมกันอยู่ภายใต้ระบบ GST ทั้งหมด และจะกำหนดอัตราภาษีของสินค้า และบริการแต่ละประเภทให้มีอัตราภาษีที่เท่ากัน

พร้อมกับปรับทุอย่างให้ขึ้นไปอยู่บนระบบออนไลน์ทั้งหมด เพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างผู้เสียภาษี และเจ้าหน้าที่ของรัฐ และใช้สูตรในการแบ่งภาษีระหว่างส่วนกลาง และรัฐต่าง ๆ แบบ 50:50 กล่าวคือการขายสินค้า และบริการในรัฐเดียวกันผู้ประกอบกิจการจะต้องเสียภาษีให้รัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลาง เท่า ๆ กัน

หากมองประโยชน์ของระบบ GST ก็จะน่าจะบอกได้ว่า คือ ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และลดการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน ทำให้อินเดียเป็นตลาดเดียวกันทั้งประเทศ กำจัดการเก็บภาษีระหว่างรัฐ และทำให้ผู้ผลิตสินค้าสามารถขอเครดิตภาษีคืนจากการซื้อสินค้าขั้นกลางหรือวัตถุดิบได้เต็มจำนวน

ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาระภาษี และต้นทุนสินค้าในอินเดียลดลง ส่งผลต่อเนื่องไปสู่การบริโภคที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความยุ่งยากสำหรับผู้ประกอบการ เกิดการจัดเก็บที่โปร่งใสและรัดกุม ลดระยะเวลาขนส่งสินค้า ลงอีกด้วย โดยรัฐบาลอินเดียคาดว่าระบบ GST จะช่วยให้ GDP ขยายตัวเพิ่มอีก 2% เลยทีเดียว

เพราะการให้เครดิตภาษีคืนได้เต็มจำนวนยังเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการจะได้เครดิตภาษีคืนก็ต่อเมื่อซื้อวัตถุดิบมาจาก supplier ที่มีการลงทะเบียนในระบบ GST supplier ที่ไม่ได้ลงทะเบียนก็อาจมีลูกค้าน้อยลง

ขณะที่ผู้ผลิตก็ต้องเข้าระบบเพราะหากไม่เข้าก็จะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่งนั่นเอง โดยรัฐบาลอินเดียคาดว่าระบบ GST จะทำให้มีผู้ประกอบเข้ามาสู่ระบบภาษีมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยชดเชยรายได้บางส่วนที่เสียไปนั่นเอง ขณะที่ระบบ GST ยังมีการแบ่งอัตราภาษีออกเป็น 4 อัตรา

ได้แก่ 5% 12% 18% 28% โดยยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว ธัญพืช หรือนม ขณะที่อาจเก็บภาษีสูงถึง 28% สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ ตั๋วภาพยนตร์ ขณะที่ภาษีในส่วน ปิโตรเลียม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะยังไม่ถูกนำเข้าไว้ในระบบ GST

แต่โดยร่วมแล้วจะทำให้สินค้าที่อยู่ภายใต้ระบบ GST มีราคาลดลง ทั้งหมดจะถูกเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 18% ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกเก็บภาษีในอัตราต่ำกว่าหรือพอ ๆ กับในระบบเก่า ล่าสุด TCI บริษัทวิจัยด้านการขนส่งของอินเดียคาดว่า ระบบ GST จะทำให้ราคาสินค้า และบริการในอินเดียลดลงเฉลี่ยราว 10%

ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคซึ่งกว่า 30% เป็นผู้บริโภคระดับกลางที่มีกำลังซื้อตัดสินใจบริโภคสินค้าเพิ่มขึ้น จึงนับเป็นโอกาสที่ไทยจะขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในอินเดียได้ นอกจากนี้ การปฏิรูประบบภาษีของอินเดียยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในอินเดียมากขึ้น

สำหรับการพัฒนาระบบภาษีของอินเดียน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีในการวางแผนของภาครัฐไทย และสะท้อนให้เห็นแง่มุมของการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานเอกชน ได้เป็นอย่างดี ว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากความเปลี่ยนแปลงสู่ ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ของสรรพากร ในครั้งนี้

e-Tax

สำหรับผู้ประกอบการ ที่ยังไม่หายสงสัย หรือยังคงข้องใจกับการยกระดับกระบวนการด้านภาษีขององค์กรเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ภาษีอิเล็กทรอนิกส์ สามารถรอลงทะเบียนเข้าร่วมงาน “THE THAILAND e-TAX SYMPOSIUM 2019” ที่จะขึ้นโดย บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) กรมสรรพากร และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)

โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นภายในวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนทัล กรุงเทพฯ เวลา 8.30-16.00 น. โดยภายในงานผู้เข้าร่วมจะได้รับข้อมูลที่มีประโยชนน์ และเกี่ยวข้องกับด้านภาษี จากผู้ให้บริการ และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยเบื้องต้นขอสงวนสิทธิ์ในการเข้ารับฟังได้แก่กลุ่มผู้บริหารก่อน

e-Tax

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ บริษัท เออาร์ไอพี  จำกัด (มหาชน) Tel. 02-642-3400 ต่อ 4400 Fax. 02-641-2331 และ www.arip.co.th

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพประกอบ และข้อมูลบางส่วนจาก www.pexels.com, ขวัญใจ เตชเสนสกุล EXIM BANK
                                        www.thansettakij.com

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่ eleaderfanpage