การลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชียแปซิฟิกมาแรง! ครึ่งแรกของปี 2564 ลงทุนไปแล้วกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 59,000 ล้านบาท) คาดตัวเลขการลงทุนจะสูงกว่าปีที่แล้ว หลังมีการปิดดีลสำคัญเพิ่มเติมในครึ่งหลังของปี 2564
รายงานฉบับล่าสุดของ CBRE ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ เปิดเผยว่า โดยในปี 2563 การลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์แถบเอเชียแปซิฟิก แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากระบบดิจิทัลเติบโตอย่างมากจากที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19
น่าจับตาว่าครึ่งแรกของปี 2564 มีการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชียแปซิฟิกไปแล้วกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 59,000 ล้านบาท) ซึ่งการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรก คิดเป็น 80% ของมูลค่าตลาดการลงทุนในทรัพย์สินทั้งหมดในปี 2563 แล้วโดย CBRE คาดว่า ปริมาณการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในปีนี้เป็นที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากจะมีการปิดดีลสำคัญเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
ประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์สูงที่สุด คือ จีน โดยมีการปิดการขายหลายดีลสำคัญในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 เช่น การที่จีแอลพี เข้าซื้อหุ้น 50% ในซงเจียง อินเตอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ ในเซี่ยงไฮ้ และการที่จีดีเอส ซื้อดาต้าเซ็นเตอร์ในกรุงปักกิ่งจากซิติก กรุ๊ป
ความต้องการใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชียแปซิฟิก ได้รับแรงหนุนจากความกังวลเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและข้อกำหนดของภาครัฐ เนื่องจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ได้เพิ่มความเข้มงวดเกี่ยวกับข้อกำหนดในการจัดเก็บข้อมูล เช่น จีนออกกฎหมายด้านการรักษาความปลอดภัยทางข้อมูล ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ได้กระตุ้นให้บริษัทต่างๆ จัดทำศูนย์เพื่อจัดเก็บข้อมูลของบริษัทเองกันมากขึ้น
ขณะที่ผู้ให้บริการคลาวด์ขนาดใหญ่ระดับไฮเปอร์สเกล ยังได้ขยายพื้นที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โดยบริษัทใหญ่หลายแห่งส่งสัญญาณว่ากำลังจะสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่ในจีนและฮ่องกง
โอกาสการลงทุนยังมีแนวโน้มที่ดีในตลาดชั้นนำของเอเชียแปซิฟิก โดยยังรักษาระดับของอัตราพื้นที่ว่างได้ดีอยู่ โดยปริมาณการใช้ดาต้าเซ็นเตอร์สุทธิช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ในโตเกียว ซิดนีย์ สิงคโปร์ และฮ่องกง ชะลอตัวลงเหลือ 70 เมกะวัตต์จากเดิมครึ่งหลังของปี 2563 ใช้อยู่ที่ 123 เมกะวัตต์
ส่วนผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ยังรักษาอัตราพื้นที่ว่างได้อยู่ที่ราว 20% เพื่อไว้เป็นพื้นที่ที่รองรับความต้องการขยายพื้นที่จากผู้เช่า โดยผู้ให้บริการจะเริ่มวางแผนการพัฒนาโครงการใหม่เมื่อดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีอยู่ถูกจับจองไปราว 60-70% แต่พื้นที่ที่ยังไม่ได้ขายอีก 10% หรือน้อยกว่านั้นมักจะถูกจับจองโดยผู้เช่าที่มีอยู่มากกว่าจะมาจากผู้ใช้ใหม่
หากมาดูที่กำลังไฟฟ้าโดยรวมของพื้นที่สำหรับการวางเซิร์ฟเวอร์ (Colocation) ในตลาดชั้นนำทั่วเอเชียแปซิฟิก ณ เดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 1.876 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2563 โดยอาจเป็นผลมาจากโครงการใหม่ ๆ เพิ่มเข้าสู่ระบบออนไลน์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ยกตัวอย่างเช่น โตเกียว ที่เป็นเมืองที่มีแผนการขยายในอนาคตมากที่สุดในบรรดาตลาดชั้นนำทั้ง 4 แห่งในเอเชียแปซิฟิกในช่วง 3 ปีข้างหน้า
CBRE เอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นว่า โอกาสที่สำคัญในการเข้าซื้อน่าจะมาจากเจ้าของดาต้าเซ็นเตอร์รายใหญ่ในภูมิภาค เช่น บริษัทด้านโทรคมนาคม ที่ต้องการสร้างรายได้จากทรัพย์สินของตนเอง ผ่านการขายทรัพย์สินแล้วเปลี่ยนเป็นการเช่าคืนจากนักลงทุน ถึงแม้การพัฒนาโครงการขึ้นมาใหม่จะเป็นอีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้ในการเข้าสู่ตลาด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาโดยผู้ให้บริการ มากกว่าโดยนักลงทุน
CBRE เอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นต่อว่า อย่างไรก็ดี นักลงทุนให้ความสนใจอย่างมากต่อธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ เราจึงเห็นนักลงทุนจะพิจารณาเข้าร่วมลงทุนในทางอ้อมด้วยเช่นกัน เช่น การเข้าเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการ การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการ หรือผ่านการลงทุนในตราสารทุน
ส่วน ตัวแทน CBRE ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ไทยมีความสนใจในตลาดดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์เพียงไม่กี่ราย ซึ่งรูปแบบการลงทุนมีทั้ง การดำเนินการลงทุนเองหรือร่วมทุนกับผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคที่มีความเชี่ยวชาญ ส่งผลให้ข้อตกลงของที่ดินสำหรับสร้างดาต้าเซ็นเตอร์มีแนวโน้มที่จะมีความพิเศษมากกว่าการสร้างโรงงานผลิตทั่วไป โดยในข้อตกลงดังกล่าวจะมีการระบุเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและการเชื่อมต่อใยแก้วนำแสงที่ละเอียดกว่าอย่างชัดเจน