ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ผ่าอนาคตประเทศไทย กับการตั้งเป้าเป็นชาติแห่งนวัตกรรม..เป็นจริงได้จริงหรือ ??

หากกล่าวถึงเรื่องนวัตกรรม สำหรับประเทศไทยอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และเข้าถึงได้ยาก แต่แท้จริงแล้วประเทศไทยกับนวัตกรรมนับเป็นจุดเด่นที่ควรได้รับการบอกต่อต่อคนทั้งในและต่างประเทศ

ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมของคนไทยที่มีเพิ่มมากขึ้นในทุกวัน และต้องการสร้างการรับรู้ หรือความเชื่อมั่น ต่อยอดเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์มากที่สุด

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

 

E-leader ได้รับเกียรติจาก ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่เป็นผู้ริเริ่มแคมเปญนวัตกรรมประเทศไทย “Innovation Thailand” มาเล่าถึงอีกมุมมองของนวัตกรรมในประเทศไทย

 

จุดเริ่มต้นของการริเริ่มแคมเปญนวัตกรรมประเทศไทย
“Innovation Thailand”

 

 

เชื่อว่าเราทุกคนต่างเคยได้ยิน หรือคุ้นหูกับคำว่า ‘นวัตกรรม’ แต่ก็คงมีใครอีกหลาย ๆ คนที่ยังไม่ทราบว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบริษัท Start-Up ที่ทำเกี่ยวกับด้านนวัตกรรมอยู่มากมาย แต่ไม่ได้เป็นที่พูดถึงเท่าที่ควรนัก ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักกับ ‘Innovation Thailand’ กันให้มากขึ้นว่า จุดริเริ่มของแคมเปญนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

“เวลาที่เราพูดถึงนวัตกรรม เราจะไม่คิดว่าประเทศไทย มีบริษัทหรือมีคนทำนวัตกรรมอยู่มากมาย หรือแม้แต่คนต่างประเทศที่มองประเทศไทย ก็จะนึกถึงในเรื่องแทนมากกว่าเรื่องนวัตกรรม ดังนั้นโครงการนวัตกรรมแห่งประเทศไทย เราจึงต้องการสร้างอัตลักษณ์ของนวัตกรรมให้เกิดความชัดเจน โดยสื่อสารผ่านศักยภาพของบริษัทที่ทำนวัตกรรมเป็นหลัก ทำให้คนนึกถึงนวัตกรรม และควบคู่ไปกับคำว่าประเทศไทย จึงกลายเป็นที่มาของแคมเปญ Innovation Thailand”

เมื่อเอ่ยถึงอัตลักษณ์ของนวัตกรรม ที่ต้องการสร้างความชัดเจนที่ว่า ถ้ากล่าวถึงนวัตกรรมจะนึกถึงประเทศไทย หรือถ้ากล่าวถึงประเทศไทยจะนึกถึงนวัตกรรม แล้วอัตลักษณ์ที่ถือเป็นจุดเด่นของนวัตกรรมของประเทศไทย หรือ ‘Innovation for Crafted Living’ ที่เป็นสิ่งที่จะทำให้คนนึกถึงคืออะไร

“ก่อนอื่นเราต้องย้อนกลับมาคิดว่าคนไทยตั้งคำถามกับคำว่า นวัตกรรมไว้อย่างไร และเราจะสามารถนำนวัตกรรมเข้าไปเชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ หรือการใช้ชีวิตของคนไทยได้ในรูปแบบใดบ้าง”

“แน่นอนว่าอาหารถือเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตคนไทยก็เป็นอัตลักษณ์ที่ทำให้คนต่างกลับมาประเทศไทยเช่นกัน ดังนั้นการเอาไลฟ์สไตล์ไปผูกกับนวัตกรรม และส่งออกนวัตกรรมเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จัก หรือออกแบบนวัตกรรมที่ช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างลงตัว นับเป็นความท้าทาย เพื่อให้คนจดจำนวัตกรรมไทยได้ทั้งในและต่างประเทศ เช่นเดียวกับการที่เราเห็นนวัตกรรมจากประเทศเยอรมัน ประเทศญี่ปุ่น ก็จะนึกถึงความชั้นนำทางด้านนวัตกรรม”

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

 

Innovation Thailand กับบทบาทสำคัญในการสร้างการรับรู้
และความเชื่อมั่นต่อนวัตกรรมไทย
ให้เกิดการยอมรับในฐานะประเทศแห่งนวัตกรรม

เราได้เห็นมุมมองของคนไทยและคนต่างประเทศที่มองนวัตกรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้นสิ่งต่อไปที่นวัตกรรมประเทศไทยต้องทำคือ การสร้างบทบาทการรับรู้ และความเชื่อมั่นต่อนวัตกรรมฝีมือคนไทยเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในฐานะประเทศแห่งนวัตกรรม ‘Innovation Nation’ ซึ่งเหตุผลที่ต้องสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นให้เป็นที่ยอมรับทั้งจากคนไทย และนานาชาติ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ได้กล่าวไว้ว่า

“ความคาดหวังของคำว่านวัตกรรมระหว่างคนไทยและต่างประเทศมองคนละแบบกัน การสื่อสารจึงจำเป็นต้องออกเป็นสองกลุ่ม โดยเน้นที่คนไทย ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มสูงวัย และกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ”

แล้วทำไมถึงเน้นการสร้างการรับรู้ และความเชื่อมั่นที่ 3 กลุ่มนี้ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ได้กล่าวต่อไว้ดังนี้

“คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมกับนวัตกรรม เพียงแค่เราเข้าไปสร้างการรับรู้ และความชัดเจนให้มากขึ้นว่านวัตกรรมกับประเทศไทยมีหน้าตาอย่างไรเท่านั้น ส่วนกลุ่มสูงวัย แม้ว่าจะเกษียณ แต่หลายคนก็ผันตัวมาเป็นนวัตกรซึ่งถือเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ และกลุ่มสุดท้ายกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และเป็นผู้นำเทรนด์ ทำให้เรามองว่าหากสื่อสารกับกลุ่มคนเหล่านี้ให้เกิดการรับรู้ และเข้าใจ เชื่อว่าภาพนวัตกรรมไทยจะไปได้ไกล”

 

โอกาสของประเทศไทยกับการเป็นชาติแห่งนวัตกรรม
และติดใน 30 อันดับแรกของดัชนีนวัตกรรมโลก
“GIobal Innovation Index (GII)

เป้าหมายสำคัญของการริเริ่มแคมเปญ  Innovation Thailand คือการตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นชาติแห่งนวัตกรรม และขึ้นไปอยู่ใน Top 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลก โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม และนวัตกรจะได้รับแรงผลักดัน และแรงสนับสนุนจากแคมเปญนวัตกรรมประเทศไทยอย่างแน่นอน

“หน้าที่หลักสำคัญของทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน และภาคประชาสังคม คือการผลักดันข้อมูล และความสามารถทางนวัตกรรม ทำให้เกิดพันธมิตรนวัตกรรมไทยขึ้นมา และให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่จัดการข้อมูลนวัตกรรม เป็นกระบอกเสียงสำคัญ”

“ในส่วนของอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก เราต้องมีการใช้วิธีการทางนวัตกรรมเชิงข้อมูล เพื่อยกระดับนวัตกรรมในระยะยาว แต่ในส่วนระยะสั้น และระยะกลาง เราควรเน้นการปรับตัว สร้างความแข็งแกร่งให้กับนวัตกรรมให้ได้มากที่สุด”

 

จากอันดับ 112 ก้าวสู่ 1 ใน 30 ของโลกได้อย่างไร

อย่างที่ทราบกันว่าในปัจจุบันประเทศไทยอยู่อันดับที่ 112 จาก 132 ประเทศ ซึ่งได้นอกจากความร่วมมือทุกภาคส่วน ยังต้องมองเห็นถึงจุดอ่อนของนวัตกรรมไทย ซึ่งในตอนนี้คงไม่พ้นเรื่อง กฎระเบียบในการเอื้อต่อการทำนวัตกรรม ทั้งที่ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมทางการทำธุรกิจของไทยอยู่ที่อันดับ 20 ของโลก และเอกชนไทยที่ลงทุนนวัตกรรม โดยมีสัดส่วนการลงทุนเป็นอันดับต้น ๆ แต่จะทำอยางไร ที่จะทำให้ได้รับการสนับสนุน และถูกผลักดันมากขึ้น

“เราจะเห็นว่าเอกชนมีการลงทุนในนวัตกรรมจำนวนมาก สิ่งที่เอกชนต้องทำ คือการส่งเสียงให้รัฐรับทราบ และเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คำว่านวัตกรรมถูกจุดประกายขึ้นมา และให้คนไทยรับรู้และเชื่อในความสามารถของนวัตกรรมไทยมากขึ้น”

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

 

Innovation Thailand Alliance
เครือข่ายนวัตกรรมที่จะพลิกฟื้นประเทศด้วยนวัตกรรมไทย

เราได้มองเห็นภาพแล้วว่าหากนวัตกรรมไทยได้รับแรงสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ และเอกชนที่จะเป็นกระบอกเสียงส่งต่อสารให้คนไทยได้รับรู้ และเกิดความเชื่อมั่นต่อนวัตกรรมไทย แต่การที่จะทำให้เกิดเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย เพื่อเกิดระบบนิเวศนวัตกรรมในการพลิกฟื้นประเทศด้วยนวัตกรรมไทยอย่างไร

“เป้าหมายสำคัญในตอนนี้มีเพียงการก้าวไปสู่อันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งอย่างที่กล่าวว่าทุกอย่างต้องเกิดจากความร่วมมือทุกภาคส่วน มีการบริหารจัดการนวัตกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยง แชร์ข้อมูลจนได้เป็นแดชบอร์ดขึ้น”

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดแรงสนับสนุน หรือแรงผลักดันในการทำให้นวัตกรรมไทยเป็นที่รู้จัก และเป็นที่จดจำต่อคนทั้งในและต่างประเทศ แต่อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ควรนำนวัตกรรมไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นคือการแก้ปัญหาในเรื่องของกับดักทางรายได้ปานกลาง รวมไปถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับนวัตกรรมไทย แต่จะแก้ไขได้อย่างไรนั้น ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ได้กล่าวในเรื่องนี้ไว้ว่า

“ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง เราต้องมองในสองมุม มุมที่หนึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม แต่ขึ้นอยู่กับการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างนายจ้างและรัฐบาล ที่จะทำให้มีอัตราสัดส่วนการกระจายรายได้ที่แตกต่างกันไป ขณะที่มุมที่สองคือการเพิ่มจีดีพี ซึ่งจะเป็นในเรื่องของชิงสถิติเข้ามาเกี่ยวข้อง”

 

นวัตกรรมไทยจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ ?

“ถ้าในตอนนี้จะเห็นได้ว่าหลายอุตสาหกรรม เริ่มขยายตัวโดยจ้างงานคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสายนวัตกรรม เทคโนโลยีมากขึ้น แต่อุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดในประเทศยังคเป็นในเรื่องของการบริการ ดังนั้นการที่จะก้าวข้ามกับดักรายได้นี้ไปได้ จะต้องทำให้นวัตกรรมไทยมีกิจกรรม ที่เข้าไปแทรกซึมต่อตัวบุคคลมากขึ้น”

“เมื่อเกิดกิจกรรมทางนวัตกรรม ลำดับต่อไปที่จะเข้าไปแก้ไขคือ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะทุกสิ่งจะนำเข้าสู่ระบบแพลตฟอร์ม ทำให้เกิดกรมีส่วนร่วม และการเข้าถึงนวัตกรรมได้อย่างง่ายมากขึ้น และอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องการแก้ไขนั่นคือ นวัตกรรมกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะปัญหาน้ำเสีย มลพิษ น้ำท่วม ไฟป่า ดังนั้นถ้าไม่มีการผลักดันนวัตกรรมไทยขึ้นมา ก็อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสิ่งแวดล้อมได้”

เห็นได้ว่าแท้จริงแล้วนวัตกรรม ไม่ใช่แค่เรื่องของอุปกรณ์เทคโนโลยี แต่นวัตกรรรมได้แทรกซึมเข้าไปจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เพียงแต่คนไทยยังคงรู้สึกว่านวัตกรรมเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่เมื่อเอาปัญหาทั้ง 3 เรื่องนี้มาแก้ไขปัญหาผ่านนวัตกรรม ก็นับเป็นอีกมุมของ ‘Innovation Thailand’

 

Innovation Thailand Dashboard
กับการสร้างความสำคัญต่อผู้ประกอบการนวัตกรรม สตาร์ทอัพ
และประชาชนทั่วไปอย่างไร

“ความสำคัญของแดชบอร์ดคือการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับด้านนวัตกรรม หากมีคนเอาข้อมูลมาแชร์มากเท่าไหร่ เราก็จะมองเห็นภาพนวัตกรรมมากขึ้น เพราะหากไม่มีข้อมูลนวัตกรรมเหล่านี้ โอกาสในการเข้าถึง และการสร้างการรับรู้ก็จะเข้าถึงก็น้อยลงตาม”

 

ข้อมูลพร้อม เงินลงทุนพร้อม
การสร้างสรรค์นวัตกรรมต้องพร้อมแก้ไขปัญหาในประเทศด้วยเช่นกัน

เมื่อนึกถึงรูปแบบนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมไทยนอกจากความพร้อมด้านข้อมูล เงินลงทุน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการมุ่งเน้นในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ที่จะเป็นตัวผลักดันให้นวัตกรรมไทยก้าวไปข้างหน้าต่อได้ โดยแบ่งนวัตกรรมออกดังนี้

  1. Healthy Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีสุขภาพดี
  2. Safe Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีความปลอดภัย
  3. Easy Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่สะดวกสบาย
  4. Smart Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่เป็นมิตรกับโลก
  5. Connected Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่เชื่อมต่อถึงกันได้
  6. Wealthy Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีอาชีพและรายได้ใหม่ ๆ
  7. Happy Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีความสุข

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

 

ยุทธ์ศาสตร์การดำเนินงานจนถึง ปี 2030 จะเป็นอย่างไร ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“ทำให้ระบบนวัตกรรมมีความเข้มแข็ง ไม่หยุดนิ่ง มีการเติบโตอยู่ตลอดเวลา และต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต และสุดท้ายคือการเร่งการเติบโต เพราะหากไม่มีการพัฒนา เราก็จะกลายเป็นผู้ตามในที่สุด”

สุดท้าย การที่จะผลักดันให้นวัตกรรมไทย เป็นที่จดจำต่อทั้งในและต่างประเทศ และก้าวไปสู่ 30 อันดับแรกของดัชนีนวัตกรรมโลก และมีการวางยุทธศาสตร์การดำเนินงาน เพื่อวางแผนให้ได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ และได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งหากมีสร้างสร้างการรับรู้ และความเชื่อมั่นให้กับทั้งคนในและต่างประเทศ เป้าหมายที่วางไว้คงสำเร็จได้อย่างแน่นอน