Eleader August 2015

เกือบ 1 ปีแล้วกับการประกาศนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล Digital Economy เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ตลอดจนการพัฒนาทางสังคม ทั้งด้านความรู้ และความกินดีอยู่ดีให้กับคนไทย และในช่วงเดือนกันยายนนี้ จะเริ่มเห็นความคืบหน้าในโครงการหลักๆ ที่มีส่วนสำคัญต่อการเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา “Digital Economy : from Good to Great” ว่า นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ประกาศให้เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นวาระแห่งชาติ ก็ได้มีการทำงานร่วมกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนภาคการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยยอมรับว่าการขับเคลื่อนด้านนี้ ต้องนำโดยคนในบริษัทเอกชนเป็นหลัก จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ-เอกชน และเพิ่มความเข้มแข็งของการทำงานร่วมกัน เพราะหากปราศจากประสบการณ์ของภาคเอกชน จะไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย

ด้านการเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อน ยังครอบคลุมไปถึงการพัฒนานักศึกษาให้ก้าวทันการเข้าสู่อุตสาหกรรมยุคดิจิทัล ยกตัวอย่างเช่น แอนิเมชั่ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาโอกาสเท่าที่ควร โดยที่ผ่านมา เยาวชนและคนรุ่นหนุ่มสาวของไทยหลายคน มีความสามารถด้านนี้อย่างโดดเด่น บางคนออกไปทำงานกับบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ระดับโลก

โดยในเดือนกันยายนนี้ รัฐบาลจะจัดตั้ง Venture Capital เพื่อสนับสนุนโอกาสด้านเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ ในการจัดตั้งบริษัท (Startup) ซึ่งเป๋นแนวทางเดียวกับสำนักงานพัฒนาสารสนเทศและการสื่อสารแห่งสิงคโปร์ (IDA)

ขณะเดียวกัน คณะทำงานด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economic Promotion) กำลังพิจารณาการสร้าง Icon โปรโมตดิจิทัลของไทย โดยต้องเป็นคาแร็กเตอร์ที่เป็นตัวแทน ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับคนไทยทุกคนในยุคนี้ ระยะแรกจะใช้เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมไทยด้านต่างๆ โดยจะทยอยสร้างสรรค์เรื่องราว เริ่มจากวัฒนธรรมที่ต้องการโปรโมตลำดับต้นๆ ก่อน

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลยังได้มีการดำเนินโครงการริเริ่มใหม่ๆ ที่เป็นนโยบายเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาองค์ประกอบหลักสำคัญ 5 ด้าน ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ 1. Hard Infrastructure โดยเฉพาะการขยายจำนวนแบนด์วิธให้เพียงพอกับความต้องการใช้งานได้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลก ที่ยังไม่ได้ดำเนินการติดตั้งเครือข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยมีเป้าหมายต้องจัดหาการเข้าถึงบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมทุกครัวเรือนในประเทศไทย ภายในราวปี 2560

ตอนนี้เราเริ่มแล้ว ด้วยการเจรจากับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของเครือข่ายใยแก้วนำแสง ทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชน มีความเห็นร่วมกันที่จะรวมโครงข่ายที่มีอยู่เป็น common pool จากนั้นรัฐบาลจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับเอกชน เพื่อเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายร่วมดังกล่าว (รูปแบบไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เพื่อไม่ให้ติดกับกระบวนการทำงานตามขั้นตอนราชการ) ซึ่งบริษัทเอกชนที่ร่วมถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว ก็เท่ากับมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติด้วย”

ด้านการดำเนินการกระจายความทั่วถึงของโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ ภายใต้โครงข่ายร่วมข้างต้น จำเป็นต้องมีการจัดหาบริษัทมาทำหน้าที่ออกแบบระบบโครงข่ายด้วย โดยจะพิจารณาจากบริษัทระดับโลกที่มีประสบการณ์ออกแบบโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั่วทั้งประเทศ ของประเทศอื่นมาก่อน คาดว่าจะคัดเลือกได้เร็วๆ นี้ และออกแบบให้เข้าถึงทุกหมู่บ้านทั่วไทยได้ภายในปี 2559 และทั่วถึงทุกครัวเรือนในปีถัดไป

นอกจากนี้ ยังมองถึงการขยายเกตเวย์ เพื่อรองรับเป้าหมายด้านการเตรียมความพร้อมของ Hard Infrastructure รองรับเศรฐกิจดิจิทัล โดยเริ่มเจรจากับ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ให้หาแนวทางดำเนินงานร่วมกันในการให้บริการเกตเวย์ ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงกันได้ รัฐบาลจะอนุมัติการขยาย capacity เกตเวย์ขึ้นอีก 10 เท่า ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องปรับลดค่าบริการให้ลงมาอยู่ในระดับเดียวกับสิงคโปร์ คาดว่าน่าจะเห็นความคืบหน้าในราว 1 ปี ตั้งเป้ารองรับความต้องการใช้งานของอีก 4 ประเทศอาเซียนโดยรอบไทยด้วย

อีกเรื่องที่ดำเนินการคือ โครงการดาต้า เซ็นเตอร์ ตั้งเป้าหมายเป็นดาต้า เซ็นเตอร์แห่งใหญ่ที่สุดของอาเซียน เพราะปัจจุบันสถานะของประเทศไทย ถือว่าเป็นประเทศผู้นำในกลุ่มอาเซียนตอนบน ยกเว้นมาเลเซีย โดยจะมีการรวบรวมความต้องการใช้บริการดาต้า เซ็นเตอร์ของหน่วยงานรัฐ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการดาต้า เซ็นเตอร์รายใหญ่ๆ รวมกลุ่มกันเข้ามาเป็นผู้ให้บริการ ในรูปแบบของเครือข่ายดาต้า เซ็นเตอร์ (One Network of Data Centers) ปัจจุบันหน่วยงานรัฐมีความต้องการใช้ดาต้า เซ็นเตอร์ คิดเป็นสัดส่วนราว 50% ของผู้ใช้บริการในประเทศไทย

ปัจจุบันมีรายชื่อ in line อยู่แล้ว 23 ราย ซึ่งหากได้ข้อสรุปผู้ลงทุน ก็จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุผลของการมีดาต้า เซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐไปดำเนินการ”

แนวทางดังกล่าว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาดาต้า เซ็นเตอร์ภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันสูงถึงปีละ 8 พันล้านบาท โดยจะมีการลดดาต้า เซ็นเตอร์หน่วยงานรัฐ ซึ่งกระจายกันอยู่ 112 แห่งทั่วประเทศเหลือเพียงราว 40 แห่ง

2. Soft Infrastructure ซึ่งต้องมีการกำหนดกรอบด้านกฎหมาย และระบบความปลอดภัยข้อมูล ปัจจุบันกฏหมายทั้ง 6 ฉบับกำลังรอการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าจะประกาศใช้ภายในปีนี้ ขณะที่ด้านการกำหนดมาตรฐานเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลนั้น มีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ซึ่งมีความพร้อมด้านความชำนาญและบุคลากร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

3. Service Infrastructure โดยมีการใช้ดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนการ เป็นการเริ่มต้นไปสู่การเป็น “โมเดิร์น กอฟเวิร์นเมนท์ เซอร์วิส” ซึ่งบริการภาครัฐจะทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะในโลกดิจิทัล ต้องการการตอบสนองที่รวดเร็ว โดยภายในปลายปีนี้ ผู้เข้าไปใช้บริการภาครัฐจะได้รับประสบการณ์ใหม่ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเมื่อไปติดต่อที่สำนักงานเขตทั่วประเทศไทย ก็สามารถใช้เพียงบัตรประจำตัว โดยไม่ต้องใช้เอกสารอื่นๆ เช่น สำเนาบัตร, สำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถใช้เลขประจำตัว 13 หลัก เข้าถึงบริการที่ต้องการได้ผ่านบริการคลาวด์ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่จะต่ออายุใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน ต่อไปไม่จำเป็นต้องไปที่กระทรวงอุตสาหกรรม แต่จะต่อใบอนุญาตได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต/อีเมล, กระทรวงพาณิชย์ มีความคืบหน้าในเรื่องการขออนุญาตจัดตั้งบริษัทผ่านอีเมล เป็นต้น

4. Digital Innovation โดยมองว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลที่แท้จริง ต้องรวมดิจิทัลคอนเทนท์ไว้ด้วย ทั้งแอนิเมชัน, ภาพยนตร์ ดังนั้น ต้องหาแนวทางการสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์สนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งต้องการ Embed Software, การผลิตบุคลากรที่มีความสามารถ (Talent) ให้เพียงพอกับการสนับสนุนทั้งอุตสาหกรรม, ดิจิทัล แบงกิ้ง, การสนับสนุนภาคเกษตรกรรม ให้สามารถใช้เศรษฐกิจดิจิทัลทำให้ง่ายขึ้น เช่น ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) สำหรับเพิ่มโอกาสส่งออกไปตลาดยุโรป เป็นต้น

5. Society and Knowledge ให้ความสำคัญกับการใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์กับสังคม ในเดือนกันยายนนี้ เตรียมเดินหน้าโครงการสอนหนังสือให้กับโรงเรียนตามแนวชายแดน รวมถึงโรงเรียนชาวเขา ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดแคลนครูเก่งๆ โดยจะใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมเป็นสื่อการสอน ประยุกต์จากโมเดลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของโรงเรียนไกลกังวล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

“จะมีการเชื่อมโยงโรงเรียน 15,000 โรงเรียน และให้เรียนไปพร้อมกันจากครูที่มีความชำนาญ 80 คน ใน 5 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, สังคมศึกษา และวิทยาศาสตร์ โดยจะเลือกบทยากๆ มาให้ครูเหล่านี้สอน ครูจะสอนผ่านอินเทอร์เน็ตไปยังโรงเรียนทั้ง 15,000 แห่ง ซึ่งจะออนไลน์เข้ามาฟังการเรียนการสอนพร้อมกัน นักเรียนและครูในโรงเรียนเครือข่ายก็จะได้เรียนไปพร้อมกัน ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้ครูแต่ละโรงเรียนด้วย ทั้งนี้ ครูผู้สอนหลัก (Master Teacher) จะใช้เวลาสอนราว 30-35 นาที ส่วนเวลาที่เหลือในชั่วโมงเรียนนั้นๆ จะเป็นบทบาทของครูแต่ละโรงเรียนทำการสอนเพิ่มเติมให้กับนักเรียน”

นอกจากนี้ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบสัมผัสตามศูนย์ผู้สูงวัยในหมู่บ้านจังหวัดต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ให้เข้าถึงความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ โดยมองว่า เมื่อผู้เรียนเริ่มต้นจากการได้รับความรู้ที่อยากรู้ ก็จะดึงดูดความสนใจให้ค้นหาข้อมูล หรือใช้สื่อสารอื่นๆ ต่อไป เพราะโดยทั่วไปแล้วคนเราสนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า “เศรษฐกิจ ไม่ใช่หมายถึงเฉพาะเรื่องทางเศรษฐกิจ หากแต่ยังมีความหมายถึง ชีวิตความเป็นอยู่ (Way of Life) การใช้ชีวิตของคนในประเทศด้วย ดังนั้น การใช้ดิจิทัลมาปรับปรุงความเป็นอยู่ จึงครอบคลุมถึงทั้งด้านสังคม, สาธารณสุข เช่น อินเดีย ทุกคนสามารถเปิดเว็บไซต์ที่มีทุกข้อมูลสาธารณสุขพื้นฐาน”

ขณะที่ แอน ลาวิน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและความสัมพันธ์ภาครัฐ กูเกิล เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า ในการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลนั้น มีเรื่องสำคัญ 2-3 อันดับต้นๆ ที่รัฐบาลควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน ได้แก่ .โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกฎระเบียบด้านการกำกับดูแลที่ช่วยให้เอกชนทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น, สนับสนุนให้การเชื่อมต่อเข้าถึงข่าวสารข้อมูลระหว่างกันง่ายขึ้น, การสร้างความโปร่งใส ของกฎระเบียบและนโยบายต่างๆ ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ง่ายยิ่งขึ้น, มีโครงสร้างภาษีที่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการเข้ามาลงทุน

การมีกฎระเบียบต้องชัดเจน มีความต่อเนื่อง และหนุนเสริมการพัฒนานวัตกรรม จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว”

เดบร่าห์ เอล์มส กรรมการบริหาร Asia Trade Center กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับความรู้ด้านไอที เพราะเป็นความท้าทายในการเกาะติดโอกาส ทั้งนี้ ผู้บริหารภาครัฐแม้กระทั่งในระดับสูง ควรให้เวลานั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเอกชนรายเล็กๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถเผชิญการทำธุรกิจในโลกจริง ตระหนักถึงอุปสรรคที่ต้องเผชิญ และเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ

เจมส์ รามา ปัทมินทรวิภาส ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กระบวนการทำงานของภาครัฐในเรื่องการอนุญาตทางธุรกิจต้องรวดเร็วขึ้น ภาครัฐควรรู้ว่าอะไรคือ key pain point ของลูกค้า ทำไมหลายๆ บริษัทจึงเลือกสิงคโปร์เพื่อจดทะเบียน แทนที่จะทำในไทย ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมเช่นกันที่สำคัญต้องมีคณะทำงานเฉพาะขึ้นมารับผิดชอบและแก้ไขปัญหาด้านนี้