ELEADER August 2015

“นวัตกรรมไม่ใช่เป็นเรื่องของนักเทคโนโลยี วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ แต่ในยุคดิจิทัล นวัตกรรมเป็นเรื่องของคนทุกคนที่ต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อก่อเกิดประโยชน์และสร้างคุณค่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะขาดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ไม่ได้”

เมื่อปีที่แล้ว MIT Sloan School of Management ได้เปิดตัวโครงการ “Initiative on the Digital Economy” (Website: http://mitsloan.mit.edu/ide/) และกล่าวนำด้วยประโยคเริ่มต้นว่า “The Initiative on the Digital Economy is a major effort addressing one of the most critical issues of our time: the impact of digital technology on business, the economy, and society.” ถ้าจะเขียนเป็นไทยแบบง่ายๆ และสั้นๆ ก็คงจะได้ความหมายว่า “การริเริ่มในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นความพยายามครั้งยิ่งใหญ่ที่เน้นสิ่งที่มีความสำคัญมากในยุคนี้ นั่นก็คือเรื่องผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อธุรกิจ ต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม”

เทคโนโลยีดิจิทัลนั้นประกอบด้วยเทคโนโลยีหลักๆ คือเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอุปกรณ์พกพา ทำให้คนเราทำกิจกรรมอย่างเป็นอิสระจากเวลา (Time) และสถานที่ (Space) คือทำงานและทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Mobility” เทคโนโลยีเกี่ยวกับสื่อสังคม (Social Media) ที่เชื่อมโยงคนทั่วทั้งโลก (Connectivity) เทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมาก (Big data analytics) ทำให้เรารู้เท่าทันเหตุการณ์ทุกด้านและทุกเวลา และเทคโนโลยีที่เกิดบริการ Cloud Computing มีผลทำให้เปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานที่ใช้

เทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology, ICT) ซึ่งครั้งหนึ่งมีความสำคัญต่อการประมวลผลข้อมูลและการสื่อสารข้อมูล บัดนี้ได้กลายมามีบทบาทและมีอิทธิพลมากต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก (Disruptive transform) ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม จากความสามารถที่คนเราสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วโลก ด้วยบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและด้วยอุปกรณ์พกพา

ความหมายของเศรษฐกิจดิจิทัล
เศรษฐกิจดิจิทัลหมายถึงเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญที่จะปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน การดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนและการศึกษา ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

ข้อความข้างต้นเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจนมีผลต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ การปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงอย่างมากนี้จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรม (Innovation) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เป็นองค์ประกอบสำคัญ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลจึงจำเป็นต้องอาศัยทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะในด้านสร้างสรรค์และนวัตกรรมด้วย Creative Economy จึงเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญของ Digital Economy

1. ความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัล
นักธุรกิจสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจในรูปแบบต่างๆ อย่างไม่เคยทำได้มาก่อน เราใช้โทรศัพท์มือถือจองรถบริการหรือเรียกบริการรถแท็กซี่ได้ Gartner เชื่อว่าตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป การทำธุรกรรมและการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านอุปกรณ์พกพา จะมากกว่าครึ่งของรายการค้าที่ทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์พกพาร่วมกับบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของการทำธุรกิจจากนี้ไป

Amazon.com ใช้ Big Data Analytics วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้สามารถแนะนำสินค้า เช่น หนังสือที่ใกล้เคียงความสนใจทุกครั้งที่ผู้ซื้อได้ทำรายการสั่งซื้อ ทำให้สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้

บริษัท Treadless.com ใช้ความสามารถของสื่อสังคมสร้างธุรกิจหมื่นล้านบาท จากการออกแบบและจำหน่ายเสื้อยึดทั่วโลก อาศัยประชาชนทั่วไปช่วยออกแบบ และร่วมกับพันธมิตรธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าโดยที่ตนเองไม่ต้องลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ ถือว่าสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ

ธุรกิจเริ่มใช้วิธีโฆษณาสินค้าและสร้างแบรนด์ด้วยเทคโนโลยีรหัส QR (Quick Response) QR ทำงานเหมือนรหัสแท่ง (Bar code) ที่พิมพ์บนหีบห่อสินค้า หรือแผ่นป้ายโฆษณา ผู้บริโภคใช้เครื่องโทรศัพท์พกพาอ่านรหัส QR ได้ ทำให้เข้าถึงข้อมูลที่ธุรกิจได้จัดเตรียมนำเสนอ ข้อมูลอาจเป็นข้อความบรรยายสรรพคุณของสินค้า หรือคลิปวีดิทัศน์นำเสนอสิ่งที่น่าสนใจผ่านเครื่องโทรศัพท์มือถือของลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นวิธีการปฏิวัติแนวทางการโฆษณาและการสื่อสารธุรกิจที่มีอิทธิพลสูงมาก
นอกจากความสามารถที่กล่าวมา เทคโนโลยีดิจิทัลยังเชื่อมโยงคนแพร่กระจายไปทั่วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นในทวีปหนึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจในอีกทวีปหนึ่งทันที สินค้าที่วางจำหน่ายที่มุมหนึ่งของโลก คนอีกมุมหนึ่งก็มีโอกาสได้รับรู้และเข้าถึงได้ มีเยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างรายได้เดือนละหลายหมื่นบาทโดยไม่ต้องลงทุน เพียงแค่เสาะหาสินค้าไทยไปวางจำหน่ายผ่าน e-Marketplace ระดับโลก เช่น Alibaba.com หรือ Amazon.com เทคโนโลยีดิจิทัลยังเปิดโอกาสให้คนทุกคน โดยเฉพาะระดับรากหญ้าก็ยังสามารถเพิ่มรายได้จากการขายของทุกชนิดที่หาได้ มีคนนำเสื้อผ้ามือสองไปวางขายผ่านอินเทอร์เน็ตก็ยังสามารถหาผู้ซื้อได้โดยไม่ยาก บางประเทศใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยชาวบ้านขายสินค้าพื้นบ้านทำให้เกิดรายได้พิเศษ บางประเทศใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้บริการเงินกู้ระดับชาวบ้านเพื่อเป็นเงินหมุนเวียน ช่วยให้คนรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างที่ไม่เคยมีโอกาสมาก่อน เทคโนโลยีดิจิทัลยังช่วยชาวนาชาวไร่มีโอกาสได้รับรู้ความเคลื่อนไหวของราคาพืชไร่เพื่อช่วยตัดสินใจและบริหารผลผลิต ทำให้สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงขึ้นกว่าเดิม

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางตัวอย่างที่ธุรกิจได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ถ้าเข้าใจและรู้วิธีใช้อย่างเหมาะสมตามบริบทของแต่ละบุคคล ตัวอย่างที่กล่าวทั้งหมดชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เทคโนโลยีดิจิทัลนี้ต่างกับเทคโนโลยีไอซีทียุคก่อน คอมพิวเตอร์เทคโนโลยีในห้าสิบปีที่ผ่านมาได้ช่วยปูพื้นฐานเพื่อให้ในยุคนี้ มีเทคโนโลยีใหม่ศักยภาพสูงที่สามารถสร้างคุณค่าในทางธุรกิจด้วยแนวคิดและวิธีการใหม่ ยุคที่ผ่านมา เป็นยุคของข่าวสารข้อมูล หรือยุคเศรษฐกิจฐานข้อมูล หรือ Information Economy โดยในยุคนั้นเราให้ความสำคัญกับการประมวลผลข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำ ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในยุค Digital Economy เป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่เน้นด้านการเชื่อมโยงกับตลาด ไม่เฉพาะตลาดภายในประเทศ แต่ตลาดโลก เป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อแข่งขันด้วยการสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้ลูกค้า ซึ่งความสามารถนี้เป็นพื้นฐานของการปฏิรูปแนวทางการทำธุรกิจใหม่ของศตวรรษที่ 21

2. การสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
พวกเรามักเข้าใจว่านวัตกรรมเป็นเรื่องของนักเทคโนโลยี วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ แต่ในยุคดิจิทัล นวัตกรรมเป็นเรื่องของคนทุกคนที่ต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลก่อเกิดประโยชน์และสร้างคุณค่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะขาดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ไม่ได้

ธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเสนอความคิดใหม่เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเปิดบัญชีออมทรัพย์ โดยธนาคารเสนอให้ลูกค้าที่ใช้บัตรเครดิตและสั่งจ่ายหักบัญชีกับธนาคารให้ความยินยอมหักบัญชีด้วยการปัดเศษขึ้นที่หนึ่งเหรียญ หมายความว่า ถ้าลูกค้าสั่งจ่ายหักบัญชีจำนวนเงิน เช่น 45.27 เหรียญ ก็ยินยอมให้ธนาคารหักจ่ายเป็นจำนวนเงิน 46.00 เหรียญ โดยส่วนต่าง 73 เซ็นต์นั้น ธนาคารจะนำฝากเข้าบัญชีออมทรัพย์ของเจ้าของบัตรเครดิต และเมื่อสิ้นปี ธนาคารจะคำนวณยอดเงินออมสะสม แล้วแถมเงินให้ในรูปดอกเบี้ยตามอัตราส่วน ข้อเสนอนี้ได้รับความนิยมจากประชาชนมาก จนสามารถเพิ่มบัญชีออมทรัพย์เปิดใหม่กว่าล้านบัญชีภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี นี่เป็นตัวอย่างของนวัตกรรม เป็นนวัตกรรมในเชิงรูปแบบธุรกิจ (Business model innovation) และนวัตกรรมในเชิงกระบวนการ (Business process innovation)

นวัตกรรมในยุคดิจิทัลเกิดขึ้นได้กับคนทุกคนที่เข้าใจดิจิทัล ดังตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไป ธุรกิจจำหน่ายหนังสือแต่เดิมเราคุ้นเคยกับการจัดพิมพ์หนังสือเป็นเล่มแล้วจัดจำหน่ายผ่านร้านขายหนังสือ หรือผ่านระบบขายออนไลน์ เราต้องซื้อทั้งเล่มถึงแม้ต้องการเนื้อหาสาระเพียงบางบท แต่ถูกบังคับให้ต้องซื้อทั้งเล่ม หนังสือส่วนที่ไม่ต้องการ เมื่อได้ซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ ก็ไม่มีคุณค่าสำหรับผู้บริโภคแต่อย่างใด และถือว่าเป็นความสิ้นเปลืองทั้งแก่ผู้บริโภคและสังคม ในบางครั้ง ผู้บริโภคอาจไม่มีโอกาสได้ศึกษาและพิจารณาละเอียดเพียงพอก่อนจะตัดสินใจซื้อ มาผิดหวังภายหลังจากได้หนังสือมาเป็นกรรมสิทธิ์ เพราะพบว่า เนื้อหาสาระของหนังสือโดยรวมไม่ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง สิ่งที่ผู้ซื้อได้มาคือความเป็นกรรมสิทธิ์ แต่หามีคุณค่าไม่

นักธุรกิจที่มีแนวคิดจะเปลี่ยนกลยุทธ์ในเชิงสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภค ต้องยอมเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่ สนับสนุนให้ผู้บริโภคซื้อน้อย หรือซื้อตามความจำเป็น ไม่ยัดเหยียดให้ซื้อในสิ่งที่ไม่มีคุณค่า รูปแบบหนึ่งที่เริ่มมีผู้ใช้กัน คืออาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างระบบบริการ (Service System) ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค เลือกซื้อเฉพาะบทที่ตนสนใจได้ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยผู้ซื้อซื้อได้และอ่านได้จากเครื่องโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ผู้ขายยังสามารถสร้างข้อเสนออื่นๆ ที่มีคุณค่า เช่น

· สรุปใจความสำคัญของแต่ละบทเพื่อช่วยลูกค้าตัดสินใจ
· ใช้คุณสมบัติของสื่อสังคม (Social Network) เป็นเวทีให้ผู้ที่สนใจตั้งประเด็นข้อสังเกตเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน เพื่อให้ผู้บริโภคที่สนใจจะซื้อหนังสือมีโอกาสปรึกษาหารือระหว่างกันเป็นรายบทได้
· มีระบบชำระเงินได้อย่างสะดวก
ที่กล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมอีกแบบหนึ่งที่อาศัยความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่โดยเน้นที่ประโยชน์และคุณค่าสูงสุดของผู้บริโภค แบรนด์ Zara เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่อาศัยความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม Zara เป็นธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้าสำหรับสตรี สุภาพบุรุษ และเด็ก ชั้นนำของโลก วิกีพีเดียให้ข้อมูลว่า Zara เป็นธุรกิจของสเปน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1975 เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจแฟชั่น Inditex แทนที่จะเน้นการจ้างผลิตเสื้อผ้าชั้นนำระดับโลกจำนวนมากจากประเทศกำลังพัฒนาด้วยต้นทุนต่ำเหมือนธุรกิจเสื้อผ้าทั่วไป Zara กลับเน้นการแข่งขันด้วยนวัตกรรมในหลายๆ ด้านดังนี้
· Zara จะออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมวางจำหน่ายตามร้านภายในทุกๆ สองสัปดาห์ เป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นราคาไม่แพง ในแต่ละปี Zara สามารถนำผลิตภัณฑ์ใหม่เสนอต่อผู้บริโภคประมาณ 10,000 ชิ้น ในขณะที่คู่แข่งที่มีธุรกิจใกล้เคียงกันนำผลิตภัณฑ์สู่ตลาดเฉลี่ยเพียง 2,000-4,000 รายการต่อปี Zara ให้ความสำคัญในด้านยุทธศาสตร์การประหยัดจากความหลากหลาย (Economies of scope)
· Zara ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภค ด้วยผลิตภัณฑ์แฟชั่นในความนิยมด้วยวิธีการไม่เหมือนใคร ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่าย ถ้าไม่มีผู้ซื้อเลยภายในหนึ่งสัปดาห์จะถูกถอนออก และทดแทนด้วยสินค้าใหม่ ด้วยวิธีการนี้ ลูกค้าจะได้สัมผัสกับสินค้าตามแฟชั่นใหม่อยู่ตลอดเวลา สำหรับสินค้ายอดนิยมจะวางขายนานประมาณ 4 สัปดาห์ เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสซื้อซ้ำได้ โดยเฉลี่ยลูกค้าจะกลับมาซื้อใหม่ประมาณ 17 ครั้งต่อปี ในขณะที่คู่แข่งเพียงประมาณ 3 ครั้งต่อปี ธุรกิจที่มีความสามารถในด้านนวัตกรรมสูงจึงจะให้บริการลูกค้าในลักษณะนี้ได้
· นอกจากให้ความสำคัญในนวัตกรรมเกี่ยวกับการออกแบบสินค้าและการจัดการวางจำหน่ายแล้ว Zara ยังให้ความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมด้านกระบวนการให้บริการลูกค้าด้วย นอกจากวางจำหน่ายสินค้าในร้าน Zara กว่า 2,000 แห่งทั่วโลก Zara ยังเปิดขายผ่านออนไลน์ ด้วยระบบออนไลน์ที่ให้ความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าและชำระเงิน โดยลูกค้าเลือกรับสินค้าจากร้านใกล้เคียง หรือจัดส่งผ่านบริการพัสดุได้

รูปแบบธุรกิจของ Zara เป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลขายสินค้าจากสาขาทั่วโลก อาศัยเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) เพื่อเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละประเทศ แล้วอาศัยผลนี้กำหนดกลยุทธ์จัดวางประเภทสินค้าตามร้านค้าต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม การจัดระบบจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางระบบออนไลน์เสริมร้านค้าตามหัวเมืองทั่วโลก ทำให้ Zara สามารถตอบสนองความต้องการส่วนตัวของผู้บริโภค ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันที่คู่แข่งลอกเลียนแบบได้ยาก และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของนวัตกรรมในเชิงรูปแบบธุรกิจและกระบวนการทำงานทางธุรกิจที่อาศัยความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัล

ความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธุรกิจ และสร้างตลาดใหม่ที่มีคุณค่ามากมายแก่ผู้บริโภคได้ ตัวอย่างที่ดีคือธุรกิจทางดนตรี แต่เดิมธุรกิจด้านดนตรีเป็นธุรกิจของการผลิตจานเสียง เทปดนตรี และแผ่นซีดี (Compact Disk) ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องเดินทางไปเลือกหาซื้อตามร้านค้า เป็นธุรกิจที่ดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดของสถานที่ เวลา และตัวบุคคล การทำธุรกรรมภายใต้ข้อจำกัดทางกายภาพของตัวสินค้า ลดคุณค่าที่ผู้บริโภคพึงได้หลายประการ ประการแรก ข้อจำกัดทางกายภาพ เป็นเหตุให้เกิดช่วงห่างระหว่างเวลาที่ผู้บริโภคต้องการเพลง (Needs) กับช่วงเวลาที่ได้เพลงมาเป็นกรรมสิทธิ์ และได้ฟังเพลงที่ต้องการ (มีคุณค่า) พูดกันง่ายๆ เราเกิดความอยากฟังเพลงเพลงหนึ่ง ณ เวลาหนึ่ง แต่ต้องเดินทางไปหาร้านค้าจำหน่ายแผ่นซีดี ใช้เวลาค้นหา แล้วซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์ กว่าจะได้ฟังเพลงสมความต้องการต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง

ในบริบทเช่นที่กล่าวนี้ หลายคนอาจถอดใจหายอยาก คือไม่ไปหาซื้อและยกเลิกความอยาก ทำให้ธุรกิจเสียรายได้โดยปริยาย ประการที่สอง ข้อจำกัดทางกายภาพ เป็นเหตุให้เพลงและดนตรีถูกจำกัดในด้านประโยชน์ กล่าวคือ แผ่นซีดีนำไปใช้กับเครื่องเล่นในรถยนต์ หรือในห้องรับแขกที่บ้าน ประโยชน์จึงถูกจำกัดเพียงภายในบริบทที่เรามีอารมณ์อยากฟังเพลง ซึ่งเป็นเพียงบางโอกาสเท่านั้น แต่ถ้าเราแปลงเพลงเป็นรูปแบบดิจิทัล (Digitization) อย่างเช่นทุกวันนี้ เราขยายการใช้ประโยชน์จากเพลงเดียวกันในบริบทอื่น ๆ อีกมาก เช่น ฟังในขณะออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์พกพา ฟังในขณะนั่งอยู่บนรถไฟฟ้า ฟังในขณะเดินชอปปิง ประการที่สาม จำกัดการเข้าถึงเพลงที่หลากหลาย ในยุคที่เพลงเป็นธุรกิจซื้อขายกรรมสิทธิ์กันนั้น ผู้บริโภคต้องถือครองเป็นกรรมสิทธิ์จึงมีโอกาสได้ฟังเพลง เป็นการจำกัดการเข้าถึงเพลงที่มีคุณค่าอื่นมากมาย ในยุคสารสนเทศ เพลงส่วนใหญ่ถูกแปลงเป็นรูปแบบดิจิทัล ผู้บริโภคเลือกข้อเสนอจากผู้ประกอบการผ่านอินเทอร์เน็ตได้หลากหลายมาก ทั้งที่ต้องเสียเงิน และที่ให้บริการฟรี ความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถแปลงสินค้าบางประเภทและข้อมูลให้เป็นรูปแบบดิจิทัล สร้างโอกาสมหาศาลที่นักธุรกิจจะพัฒนาเป็นข้อเสนอที่มีคุณค่าแก่ผู้บริโภคได้ สุดแล้วแต่จินตนาการ ความสามารถที่จะนำจินตนาการมาสู่ข้อเสนอที่มีคุณค่าคือความท้าทายของนักธุรกิจยุคใหม่

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวอย่างประกอบการอธิบายความหมายของเศรษฐกิจดิจิทัล จะเห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลไม่เพียงแต่ความสามารถของธุรกิจที่ใช้ไอซีทีทำธุรกิจ แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกับทักษะในการสร้างนวัตกรรมจนนำไปสู่การปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างมากจนนำหน้าคู่แข่ง และสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน บทความชุดนี้ ขอจบด้วยการนำเสนอความหมายของ Digital Economy ในมุมมองของ British Computer Society (BCS)

บทความตอนต่อไปจะนำเสนอแนวคิดการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ