ELEADER August 2015
พีระพงษ์ ศิริบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคเซป เอ็นไวรอนเมนท์ จำกัด www.acceptenvironment.com กล่าวว่า Digital Economy เป็นนโยบายที่ดีและมีประโยชน์มากหากสามารถทำได้สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรม แน่นอนว่าการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ต่างๆ มาเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น FACEBOOK, LINE ผ่านอุปกรณ์พกพา เช่น มือถือ แท็บเล็ต จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจมวลรวม (GDP) ของประเทศให้เพิ่มมากขึ้นได้อย่างมหาศาล โดยส่วนหนึ่งจะเพิ่มมาจากผู้ประกอบการ SMEs ที่มีอยู่อย่างมากมายในประเทศ
เพราะ Digital Economy จะเป็นช่องทางสื่อสารใหม่ที่สำคัญให้แก่ทุก SMEs ได้สามารถนำเสนอ ตลอดจนจัดจำหน่ายสินค้าของตนเองไปยังผู้บริโภคที่มีจำนวนเป็นหลายสิบล้านคนทั้งในและต่างประเทศ ผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ต่างๆ โดยไม่ต้องผ่านช่องทางจัดจำหน่ายแบบดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น สินค้าบางตัวอาจต้องไปขอเช่าพื้นที่หรือฝากขายในร้านสะดวกซื้อต่างๆ ซึ่งสินค้าบางตัวที่ไม่ได้เข้าไปขาย ก็หมดช่องทางจัดจำหน่ายไป บางตัวที่ได้ผ่านเข้าไปขาย ก็จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก
แต่หากนโยบาย Digital Economy สำเร็จ ก็จะช่วยทำให้ต้นทุนของ SME เหล่านี้ลดลง และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจกับทั้งในต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจข้ามชาติที่มาลงทุนในประเทศได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจเหมือนในอดีต ที่ผ่านมาเรามีสินค้าที่ดีที่ได้คิดค้นโดยคนไทยมากมาย แต่หลายธุรกิจไม่สามารถแจ้งเกิดได้เพราะขาดช่องทางในการนำเสนอสินค้าไปยังผู้บริโภคและในทางกลับกัน ผู้บริโภคก็ไม่มีช่องทางในการที่จะเข้าถึงสินค้าเหล่านี้ได้เช่นกัน ฉะนั้น Digital Economy จึงเป็นกลไกลสำคัญที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ทั้งประเทศไทยและ SME ให้สามารถแข่งขันกับนานาอารยะประเทศได้เป็นอย่างดี
พีระพงษ์ กล่าวถึงความคาดหวังจากนโยบาย และประโยชน์ที่เอสเอ็มอีจะได้รับว่า โดยส่วนตัวคาดหวังอยากให้ Digital Economy เป็นกลไกสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ลดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันระหว่าง SME กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ตลอดจนกับนักลงทุนข้ามชาติ ให้สามารถแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม เพราะเมื่อ SME แข็งแรง ก็จะเป็นรากฐานที่มั่นคงและยั่งยืนแก่ประเทศไทยได้ จึงคาดหวังที่ต้องการจะเห็นนโยบายนี้สำเร็จโดยเร็ววัน และขอให้ดำเนินการอย่างจริงจัง
“ อยากให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่รัฐบาล นโยบายดังกล่าวจะยังต้องขับเคลื่อนอยู่อย่างยั่งยืน โดยมีการพัฒนาให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา และอีกความคาดหวังที่สำคัญอีกประการคือ อยากให้ภาครัฐรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนให้รอบด้าน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สูงสุดในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว” พีระพงษ์ กล่าว
ในส่วนของเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐต่อกลุ่ม SMEs นั้น อันดับแรกเลยคือกลไกล ในส่วนของภาครัฐเองที่ควรปรับให้เท่าทันกับความล้ำหน้าของภาคเอกชน ยกตัวอย่าง หากเอกชนติดต่อธุรกิจกันเอง จะสามารถส่งเอกสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ใบเสนอราคา เอกสารอ้างอิงอื่นๆ ทางเมลได้ แต่หากบริษัททำธุรกิจกับภาครัฐ เอกสารเหล่านี้จะไม่สามารถส่งทางอีเมลได้ ต้องนำเอกสารดังกล่าวไปส่งยังสถานที่ตั้ง ซึ่งทำให้เกิดต้นทุนการขายแก่ผู้ประกอบการ
ในส่วนที่ 2 การสนับสนุนด้านความรู้และภาษา ที่ควรจะมีบุคลากรมาช่วยผู้ประกอบการในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ Digital Economy ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการบางรายทำ Website ไม่ได้ ก็ควรมีหน่วยงานช่วยเหลือแนะนำจัดทำให้ บางรายมี Website แล้ว แต่เป็นภาษาไทยอย่างเดียวก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจกับต่างชาติได้ ภาครัฐก็ควรให้การสนับสนุนด้านการทำภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีนให้แก่ผู้ประกอบการนั้นๆ ส่วนสุดท้าย ภาครัฐควรเป็นตัวกลางในการทำ Website ที่เป็นศูนย์กลางให้แก่ทุกธุรกิจใช้เป็นช่องทางในการนำสินค้า หรือ Website ของตัวเองมาลงใน WEB กลางดังกล่าว และให้ภาครัฐเป็นผู้โฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างเข้มแข็งให้ทั้งในและต่างประเทศได้รู้จัก WEB กลางดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่รอความชัดเจนของนโยบาย บริษัท แอคเซป เอ็นไวรอนเมนท์เองก็มีการเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมากว่า 5 ปีแล้ว โดยหลักการดำเนินธุรกิจของเราได้มีการทำการตลาดผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่เราเริ่มดำเนินกิจการ ทั้งการทำ Website การนำ Website ขึ้นออนไลน์กับทาง Google ซึ่งทำให้ธุรกิจของเราประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อีกทั้งเรายังได้ใช้เทคโนโลยีอื่นๆ มาช่วยลดต้นทุนในการทำงานของเราด้วย เช่นการประชุมกับทางซัพพลายเออร์ในต่างประเทศผ่าน SKYPE ทำให้เกิดความรวดเร็วและลดค่าโทรทางไกลได้ การแก้ปัญหาการทำงานที่ SITE งาน โดยการใช้ VDO CALL ส่งภาพมายังออฟฟิศ เพื่อให้ผู้บริหารสั่งการแก้ไขได้ในทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูหรือแก้ไขปัญหาระหว่างการทำงาน ทำให้ลดต้นทุนและทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นทันทีที่นโยบายดังกล่าวสำเร็จ บริษัทเราพร้อมก้าวเข้าสู่ยุค Digital Economy ในทันที