ตำรวจรุกคืบคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ พร้อมเตือนองค์กรธุรกิจถึงความเชื่อมโยงระหว่างซอฟต์แวร์เถื่อนกับการโจรกรรมข้อมูล

20150915_Photo_ECDRaidNews

ตั้งแต่ต้นปี 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เข้าตรวจค้นและดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจกว่า 150 แห่งในข้อหาใช้ซอฟต์แวรละเมิดลิขสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการทำผิดกฎหมายเท่านั้นแต่ยังทำให้องค์กรธุรกิจตกอยู่ในความเสี่ยง รวมถึงได้ขยายช่องทางเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องความเสี่ยงที่จะถูกลงโทษตามกฎหมายและระบบความปลอดภัยของระบบไอทีถูกจู่โจม

เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. เข้าตรวจค้นและดำเนินคดีบริษัทค้าปลีกเครื่องสำอางข้ามชาติที่มีรายได้รวมมากกว่า 850 ล้านบาทต่อปี โดยพบว่าใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของออโตเดสก์ (Autodesk) ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ (Thai Software Enterprise) และไมโครซอฟท์ (Microsoft) มูลค่าราว 13 ล้านบาท บนเครื่องคอมพิวเตอร์ 184 เครื่อง ถือเป็นคดีที่ใหญ่ที่สุดของปีนี้

“องค์กรธุรกิจหลายแห่งตระหนักดีว่าการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นผิดกฎหมาย แต่กลับละเลยและไม่ปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ ผู้บริหารจำเป็นต้องมีการบริหารเชิงรุกมากกว่าที่ผ่านมาในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กร เพื่อให้แน่ใจว่าซอฟต์แวร์ที่กำลังใช้งานไม่ผิดกฎหมาย” พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผู้บังคับการ บก.ปอศ. กล่าว

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. ได้แจ้งเตือนองค์กรธุรกิจเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์และความปลอดภัยของระบบไอที องค์กรหลายแห่งกำลังทำให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะอาชญากรไซเบอร์จะมองหาช่องโหว่ในการรักษาความปลอดภัยของระบบไอที และอาศัยช่องโหว่เข้าไปใช้ประโยชน์จากข้อมูลธุรกิจสำคัญซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดขององค์กร องค์กรธุรกิจอื่นๆ ที่ถูกเข้าตรวจค้นและดำเนินคดีอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งเป็นเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับอาชญากรไซเบอร์ ผู้บริหารของโรงงานผลิตบางรายมองไม่เห็นความจริงที่ว่าข้อมูลธุรกิจของพวกเขามีความเสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมโดยอาชญากรไซเบอร์

สื่อเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทมากในการช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจป้องปรามและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ รวมถึงลดจำนวนผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดย บก.ปอศ. ได้เพิ่มวิธีและช่องทางการสื่อสารผ่านทางเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์โดยมุ่งให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งในด้านกฎหมายและความปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ส่งเสริมช่องทางเหล่านี้ให้เป็นเครื่องมือสำหรับประชาชน เพื่อใช้แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อีกด้วย