กระแสของเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech (Financial Technology) ที่มาแรงทั่วโลก เริ่มกดดันให้กลุ่มธนาคารออกมารักษาสถานะทางการครอบครองและกุมอำนาจทางการเงินของตนเองกันอย่างเต็มที่ โดยหลังจากสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่กระทุ้งให้เกิดระบบธุรกรรมทางการเงินในกลุ่มนอนแบงก์ และ Startup เกิดใหม่เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของธนาคารกันอย่างครึกโครม จนน่าเป็นห่วงว่าหากธนาคารไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีจนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้ล้ำสมัยมาตอบโจทย์ลูกค้ายุคดิจิทัลได้ อนาคตเราคงได้เห็นธนาคารรายใหญ่ล้มหายและรายเล็กเติบใหญ่กันบ้าง
สอดคล้องกับความเห็นของ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ที่กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังเปิดบริษัทลูกขึ้นมาในชื่อ กสิกร บิสซิเนส–เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ซึ่งรับโจทย์ใหม่ที่ท้าทายในอนาคต จึงต้องคิดให้ออก คิดให้ทะลุว่าจะทำอย่างไรถึงจะสนองความต้องการมนุษย์ในโลกอนาคต โดยปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีหมายเลขมือถือกว่า 80 ล้านเลขหมาย มากกว่าจำนวนประชากร และใน 80 กว่าล้านเลขหมายนี้เป็นมือถือแบบ Data Function ประมาณ 30 ล้านเลขหมาย พฤติกรรมของคนเริ่มใช้หูฟังและใช้นิ้วปัดหน้าจอสมาร์ตโฟนไปพร้อมกันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะนั่นคือลักษณะของมนุษย์ที่ทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน โดยอนาคตวิถีชีวิตของมนุษย์จะอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ทำให้ชีวิตทางการเงินและอื่น ๆ ที่รวมกันเป็นระบบเศรษฐกิจจะต้องมีวิธีการที่แตกต่างจากเดิม
ขณะที่นโยบายรัฐบาลต้องการให้เกิด e-Platform, e-Payment ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายที่รัฐบาลโยนโจทย์มาให้รัฐกับเอกชนได้ร่วมมือกันในการหาทางออก นำมาสู่ความมีคุณภาพและประสิทธิภาพของการทำงานของคน หลีกเลี่ยงการต้องใช้เงินสด เหรียญ ซึ่งพูดง่ายแต่ไม่ใช่ทำกันได้ง่าย ๆ เพราะเงินสดเป็นสิ่งที่เราใช้มาโดยตลอด คนยังติดใช้เหรียญและธนบัตรต่าง ๆ แต่ถ้าสามารถเลิกใช้ได้จริงก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยกันได้ทุกฝ่าย ทั้งยังทำธุรกรรมได้เร็วกว่า ปลอดภัยกว่า ซึ่งนับเป็นสัญญาณความท้าทายที่ผ่านมาทางกระทรวงการคลัง ผ่านทางธนาคารแห่งประเทศไทย มาที่สมาคมธนาคารไทย ว่าต้องดันประเทศไทยให้ไปสู่โลกธุรกรรมทางการเงินทุกด้าน หนีจากธนบัตรกับเหรียญให้มากที่สุด เพื่อความมีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้นต่อชีวิตโดยรวมของทุกคนและของเศรษฐกิจของประเทศด้วย
“เราพยายามเดินไปในทิศทางที่เป็นอนาคตบนโลกของการเงิน อนาคตของวิธีการทำงานสำหรับคนยุคใหม่ และอนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทย KBTG รวมบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อคิดหาอะไรที่วันนี้ยังไม่เกิด หาให้ได้ก่อนที่จะอุ้ยอ้ายเกินไปและทำงานไม่ได้”
นี่คือโจทย์ที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญ หารูปแบบใหม่ ฐานใหม่ ทิ้งวิธีการแบบเดิม ๆ วิธีคิดแบบเดิม ๆ หาวิธีการแบบใหม่ ๆ ที่จะทำให้เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดธุรกรรมที่อยู่บนฐานที่ทันสมัย รวดเร็ว ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ประหยัดต้นทุนได้ และเพื่อความเจริญก้าวหน้าของระบบเศรษฐกิจโดยรวม
โลกการเงินในยุคดิจิทัล
PwC Consulting (ประเทศไทย) ผู้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลกได้มีการสำรวจเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในกลุ่มธุรกิจให้บริการทางการเงินและผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม หรือ Blurred Lines : How FinTech is shaping Financial Services ผ่านการสำรวจความคิดเห็นซีอีโอ หัวหน้าสายงานด้านนวัตกรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ และผู้บริหารระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ดิจิทัล และเทคโนโลยี จำนวน 544 ราย จาก 46 ประเทศ
ผลวิจัยพบว่า ‘FinTech’ กำลังเป็นกระแสที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมทางการเงินทั่วโลก ซึ่งผู้ประกอบการในตลาดธุรกิจให้บริการทางการเงินรวมทั้งประเทศไทยต่างหันมาลงทุนใน FinTech มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ซึ่งคาดว่า ภายใน 3-5 ปีนับจากนี้จะมีการลงทุนด้าน FinTech ถึงกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 5.3 ล้านล้านบาท เพื่อรักษาบทบาทและสถานะของการเป็นธนาคารใหญ่ให้คงอยู่
เนื่องจากผู้บริหารสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม 83% ต่างเห็นตรงกันว่า ธุรกิจบริการทางการเงินมีความเสี่ยงที่จะเสียผลประโยชน์ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งให้แก่บริษัทผู้ประกอบการ FinTech โดยผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มที่แสดงความกังวลสูงสุดถึง 95% และนอกจากนั้น 67% ของผู้บริหารบริษัทที่ทำการสำรวจ ยังมีความกังวลว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของ FinTech จะส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ของบริษัท โดยในกลุ่มนี้กว่า 59% กังวลว่าจะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ให้แก่กลุ่มธุรกิจ FinTech เช่นกัน และในทางกลับกัน กลุ่มบริษัท FinTech ก็เชื่อว่าจะสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากภาคธุรกิจการเงินได้ถึง 33% เช่นกัน
“กระแส FinTech ได้เข้ามาเปลี่ยนโฉมโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งไทย และไม่เพียงแต่ผู้เล่นที่เป็นสถาบันการเงินเท่านั้น แต่บริษัทเกิดใหม่ หรือ Startup หรือแม้กระทั่งบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีก็สามารถเข้าสู่ FinTech ได้เช่นกัน”
FinTech ถูกนำมาใช้พัฒนาบริการทางการเงินให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น การชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทางดิจิทัล (e-Payment) ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของ FinTech ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของกระแสแนวความคิดด้านนี้ ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงการบริการได้อย่างรวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมอย่างมาก นอกจากนี้ FinTech ยังครอบคลุมไปถึงการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบอื่น เช่น การกู้ยืมเงินระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้โดยตรง ผ่านการทำข้อตกลงร่วมกันในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาการใช้หนี้ได้ตามความต้องการ (Peer-to-Peer Lending) และการระดมทุนสาธารณะ (Crowd Funding) เป็นต้น
โดยผู้บริหารกว่า 29% ที่ตอบแบบสอบถามมองว่า การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมถือเป็นภารกิจอันดับต้น ๆ ที่ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว โดยที่ผ่านมา สถาบันการเงินชั้นนำของโลกหลายแห่งได้ริเริ่มโครงการทดลอง หรือลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการเพื่อพัฒนานวัตกรรม หรือคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ แน่นอนว่ามีบริษัท FinTech หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย แม้ว่าปัจจุบันธนาคารพาณิชย์จะเป็นแหล่งเงินทุนหลัก แต่หากไม่เร่งปรับตัว อาจเสียส่วนแบ่งการตลาดให้แก่ Startup ที่มีความชำนาญในด้านเทคโนโลยีพวกนี้ได้ ดังนั้น แบงก์จะต้องเตรียมความพร้อมด้านระบบโครงสร้างไอที อีกทั้งต้องสร้างความพร้อมด้านบุคลากร
“วันนี้ FinTech เป็น Game Changer ที่สำคัญของอุตสาหกรรมทางการเงิน โดยเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบสถาบันการเงินไทยและธนาคารพาณิชย์ไทย เชื่อว่าภายในอีก 1-2 ปีนี้ FinTech จะขยายไปในธุรกิจหลักทรัพย์ กองทุน ประกันชีวิต อย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ล้วนส่งผลดีต่อผู้บริโภคในที่สุด เพราะได้รับบริการที่รวดเร็ว สะดวกสบาย และค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่ถูกลง“
นโยบายรัฐที่น่าจับตามมอง
กระแสของการเกิด FinTech กระตุ้นให้หน่วยงานกำกับดูแลออกมาตรการในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน เร่งหาแนวทางเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นและสร้างความเสียหายในวงกว้างได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับงานด้านการพัฒนาใน 3 มิติสำคัญ คือ 1. การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน 2. การรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน และ 3. การรักษาเสถียรภาพระบบการชำระเงิน ซึ่งมิติที่ 3 เป็นส่วนของการรักษาสเถียรภาพของระบบการชำระเงินซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับ FinTech โดยตรง
ระบบการชำระเงินเปรียบเสมือนท่อน้ำเลี้ยงของเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันเอง และเชื่อมต่อภาคเศรษฐกิจจริงและระบบสถาบันการเงินเข้าด้วยกัน ความสามารถในการเข้าถึงบริการการชำระเงิน ความมั่นคงปลอดภัย และความมีประสิทธิภาพ เป็นหัวใจของระบบการชำระเงินที่ดี
ระบบการชำระเงินจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น การคุกคามทางโลกไซเบอร์ หรือ Cyber Risk ซึ่งต้องทำความเข้าใจและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ในช่วงหลัง ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ทั้งของไทยและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการเฝ้าระวังและหามาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า Cyber Risk จะสร้างความเสียหายให้กับระบบการชำระเงินไทย กระทบต่อความมั่นใจของผู้ใช้บริการและเกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แนวทางการรับมือกับการคุกคามทางโลกไซเบอร์ต้องมีการสอดประสานกันอย่างเป็นระบบ อาทิ ภาครัฐต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามแนวปฏิบัติที่ดีของสากล ขณะที่สถาบันการเงินต้องมีมาตรการป้องกันและติดตามเฝ้าระวังการปฏิบัติงานประจำวันให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
นอกจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจหลักทั้ง 3 ด้าน เพื่อรักษาให้ระบบเศรษฐกิจระบบการเงินมีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และเอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมุ่งดำเนินนโยบายเชิงรุกในงานด้านพัฒนาและสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทยและจำเป็นต่อการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
งานด้านพัฒนาระบบการเงินมีหลากหลายมิติ และต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้รองรับ Game Changers สำคัญ อาทิ พัฒนาการด้าน FinTech (เทคโนโลยีทางการเงิน) ที่เติบโตได้เร็วโดยอาศัยเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ เกิดผู้ให้บริการประเภทใหม่ ๆ และเชื่อมโยงกันมากขึ้นระหว่างตลาดเงินตลาดทุนโลก
โดยในปี 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมุ่งผลักดันงานพัฒนาในหลายเรื่อง เรื่องแรก คือ แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 (FSMP 3) ที่ต้องการให้ระบบสถาบันการเงินไทย “แข่งได้ เข้าถึง เชื่อมโยง และยั่งยืน” ในมิติ “แข่งได้” FSMP 3 มุ่งวางแนวนโยบายที่สอดรับกับภูมิทัศน์ใหม่ของระบบการเงิน (Financial Landscape) โดยพิจารณาบทบาทของผู้ให้บริการทางการเงินทั้งที่เป็นและไม่เป็นสถาบันการเงิน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงิน และส่งเสริมช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการให้บริการทางการเงินและการชำระเงิน
นอกจาก “แข่งได้” แล้ว ระบบการเงินของประเทศควรเปิดกว้างให้ประชาชนและธุรกิจ “เข้าถึงได้” ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและธุรกิจในราคาที่เป็นธรรม ในอนาคตประชาชนอาจใช้บริการทางการเงินพื้นฐานทั้งผ่านตัวแทนและช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
มิติถัดมา คือ “เชื่อมโยง” สอดคล้องกับความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนจะเจรจารูปแบบการจัดตั้ง Qualified ASEAN Banks หรือ QABs กับประเทศเป้าหมาย เพื่อเพิ่มจำนวนธนาคารพาณิชย์ไทยที่ออกไปทำธุรกิจในภูมิภาค และจำนวนธนาคารพาณิชย์จากภูมิภาคที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศ จะเจรจากับธนาคารกลางของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสนับสนุนการใช้เงินตราสกุลท้องถิ่น เช่น การแต่งตั้งธนาคารพาณิชย์เป็น Clearing Agents สำหรับธุรกรรมเงินบาทและริงกิตของมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในไตรมาสแรกนี้
และมิติสุดท้าย คือ “ความยั่งยืน” เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินไทยมีเสถียรภาพ สามารถรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ และสนับสนุนความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างยั่งยืน ระบบสถาบันการเงินไทยต้องได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล ประชาชนมีความรู้และวินัยทางการเงิน ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม ตลอดจนมีบุคลากรทางการเงินที่มีศักยภาพและมีกฎหมายทางการเงินที่ทันสมัย
นอกจากนี้งานด้านพัฒนาอีกด้านหนึ่ง คือ การพัฒนาระบบการชำระเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะผลักดันการสร้างโครงสร้างพื้นฐานกลางสำหรับระบบการชำระเงิน อาทิ ระบบ Any ID ที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม และผู้ให้บริการสามารถพัฒนาต่อยอดได้ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ตลอดจนการส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตและขยายจุดเครื่องรับชำระผ่านบัตรให้ทั่วถึงมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาเงินสด ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายภาษีและการจ่ายเงินสวัสดิการของภาครัฐให้ประชาชน รวมไปถึงมุ่งขับเคลื่อน Payment System Roadmap ระยะที่ 3 โดยกำหนดมาตรฐานกลางด้านต่าง ๆ สำหรับบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนบัตร ATM และบัตรเดบิตเป็น Chip Card และส่งเสริมให้เกิด Local Card Scheme เพื่อให้การทำธุรกรรมการชำระเงินปลอดภัย มีราคาถูกลง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถคุ้มครองผู้ใช้บริการได้ดีขึ้นด้วย
อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังผลักดันร่างพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน เพื่อยกระดับการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลระบบการชำระเงินที่จะมีผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทมากขึ้น และมีกฎหมายด้านระบบการชำระเงินที่เป็นเอกภาพ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น แต่จะเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำและความผันผวนสูง ในขณะนี้อาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดี ทั้งฐานะด้านต่างประเทศ สภาพคล่องภายในประเทศ และความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน สามารถรองรับความเสี่ยงจากตลาดเงินตลาดทุนโลกที่อาจเพิ่มขึ้นได้
ท้ายที่สุดนี้ เราทุกคนต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี แม้ว่ารถของเราจะมีระบบกันกระเทือนที่ใช้ได้ เป็นกันชนจากความผันผวนที่มาจากนอกประเทศ แต่ถนนข้างหน้ายังมีหลุมมีบ่ออยู่มาก หากสามารถร่วมกันรักษาภูมิคุ้มกันหรือรักษาระบบกันกระเทือนของเราให้ดีไปพร้อม ๆ กับการยกเครื่องสมรรถนะของเครื่องยนต์ในด้านต่าง ๆ แล้ว เมื่อเข้าสู่ช่วงเส้นทางถนนที่ราบรื่นขึ้น หลุมบ่อน้อยลง รถก็จะเร่งเครื่องได้เต็มที่ สามารถสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่คนไทยได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง