EGA ประเดิมทำ Big Data ภาครัฐแห่งแรก เลือกข้อมูลการจราจรกรมทางหลวงเป็นต้นแบบ พร้อมดึงเนคเทคเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิค ก.ไอซีทีหนุนสุดตัว เผยเตรียมดันภาครัฐไทยเข้าสู่ยุคขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

ega-01

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยว่า การทำบันทึกข้อตกลงเรื่องการสร้างต้นแบบการจัดการข้อมูลมหาศาล (Big Data) ระหว่าง สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA กับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC และกรมทางหลวง ถือเป็นครั้งแรกของหน่วยงานภาครัฐไทยที่นำบริการ Big Data มาใช้ ทั้งที่เป็นข้อมูลที่มีการบันทึกโดยคน และข้อมูลที่มีการจัดเก็บโดยอุปกรณ์และไหลผ่านเครือข่าย (Internet of Things) มาวิเคราะห์ผ่านระบบประมวลผลขนาดใหญ่ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านบริการของภาครัฐสู่ประชาชน และเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ การเดินหน้ามุ่งไปสู่รัฐบาลดิจิทัลนับจากนี้ต่อไปอีก 3 ปี ภาครัฐไทยจะเข้าสู่การบูรณาการข้อมูลภาครัฐ เพื่อวางโครงสร้างการจัดระเบียบชุดข้อมูล การบริหารข้อมูล และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งปีนี้จะเป็นปีของการนำข้อมูลที่มีอยู่ออกมาเปิดเผยสู่สาธารณะ ต่อจากนั้นจะมีการวางระบบข้อมูลใหม่เพื่อให้เหมาะสมต่อการใช้งานยุคดิจิทัลเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจภายในประเทศ โดยภาครัฐจะมีการปรับโครงสร้างด้านการบริหารงานเพื่อรองรับยุคการขับเคลื่อนของข้อมูลข่าวสารอย่างจริงจัง (Data Driven) และจะมีการตั้ง ผู้บริหารข้อมูลสารสนเทศ (Chief Data Officer) หรือ CDO ในแต่ละองค์กรเพื่อวางระบบฐานข้อมูล การจัดเก็บ การใช้งาน และการเผยแพร่ใหม่ นอกจากนั้นจะมีการผลิต นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาใหม่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการบริหารจัดการข้อมูลให้สามารถใช้ประโยชน์จาก Big Data ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยขณะนี้ภาครัฐได้สร้างความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สร้างแนวคิดร่วมกันเพื่อนำไปต่อยอดสู่การวางแผนกลยุทธ์ และยุทธศาสตร์ต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจนและยั่งยืน

ดังนั้นยุคนี้การบูรณาการด้านข้อมูลจะกลายเป็นภาพใหญ่ที่ภาครัฐจะให้ความสำคัญและทุ่มเทมากขึ้น และพร้อมที่จะนำข้อมูลที่ได้ไปขับเคลื่อนการบริหารงานในประเทศเพื่อสร้างความโปร่งใส และขยายศักยภาพเพื่อพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเห็นว่าภาครัฐจะมีกิจกรรมส่งเสริมการบูรณาการข้อมูลแทบจะทุกด้าน

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า ทิศทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่สำคัญที่ได้กำหนดไว้ในแผนนี้ คือ การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Big Data Management & Data Analytics) ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นโครงการศึกษาวิจัยข้อมูลมหาศาล (Big Data) ขึ้น เพื่อนำไปสู่การบูรณาการข้อมูลภาครัฐ เป็นประโยชน์ต่อการวางโครงสร้างข้อมูล การจัดสร้างข้อมูล การวิเคราะห์หาคุณค่า จากแหล่งข้อมูล และจัดหาเครื่องมือต่างๆ ที่จะนำข้อมูลมหาศาล (Big Data) มาใช้ร่วมกัน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูลของภาครัฐที่มีอยู่อย่างมหาศาลให้ได้คุณค่าและสร้างประสิทธิภาพการทำงานให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

การทำบันทึกข้อตกลงเรื่องการสร้างต้นแบบการจัดการข้อมูลมหาศาล (Big Data) ระหว่าง สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA กับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และกรมทางหลวง ครั้งนี้ ทาง EGA จะเข้ามาสนับสนุนระบบบริการคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Service) สำหรับการจัดเก็บข้อมูลของกรมทางหลวงแบบ Big Data และสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศที่ใช้ในจัดเก็บข้อมูลแบบ Big Data

ขณะเดียวกัน EGA จะนำข้อมูลที่ได้รับการประมวลผลแล้ว ไปใช้ประโยชน์โดยผ่านโครงการข้อมูลเปิดภาครัฐ (Government Open Data) ของ EGA โดยข้อมูลที่นำไปใช้จะไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล และไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลของกรมทางหลวงทั้งหมด ทั้งก่อนและหลังการประมวลผล หากมีหน่วยงานอื่นต้องการนำข้อมูลไปใช้ ต้องได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงก่อน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านงานวิจัยเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้

นายธานินทร์ สมบูรณ์  อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า จากการที่กรมทางหลวงมีการจัดเก็บข้อมูลจากกล้องวงจรปิดและข้อมูลจากจุดสำรวจปริมาณจราจรชนิดติดตั้งถาวรจำนวนมาก  รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและจัดทำต้นแบบข้อมูลมหาศาล (Big Data) ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผลของการนำ Big Data ไปใช้จะทำให้สามารถวิเคราะห์และรายงานสภาพการจราจร Online ผ่านแอปพลิเคชันแบบ Real-time หรือเสมือนจริงให้กับประชาชนได้ อีกทั้งข้อมูลการจราจรแบบภาพเคลื่อนไหวต้องใช้ทรัพยากรทางด้านไอทีในการวิเคราะห์แบบ Analytics ที่จะทำให้ได้ข้อมูลในเชิงลึกได้มากขึ้น โครงการนี้จึงนับเป็นต้นแบบที่จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์แบบ Big Data ให้เกิดขึ้นได้จริง และคาดว่าจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดหรือบูรณาการเข้ากับข้อมูลจากส่วนอื่นๆ ได้ต่อไป

ดร. ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  (NECTEC) เปิดเผยว่า หน้าที่ของเนคเทคในโครงการนี้คือ การสนับสนุนให้คำปรึกษาในการปรับเปลี่ยนการติดตั้งกล้องวงจรปิดของกรมทางหลวง เทคนิคการเก็บข้อมูลจากกล้องวงจรปิด และการเชื่อมต่อข้อมูลจราจร ฯลฯ ตามที่เนคเทคเห็นว่าเหมาะสม พร้อมกับให้คำปรึกษาในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้กับการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนสามารถก้าวสู่ Smart Citizen ได้อย่างแท้จริง