พร้อมเพย์-PromptPay” เป็นชื่อใหม่ของ “Any ID” บริการโอนเงินและรับโอนเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งหนึ่งในโครงการหลักที่รัฐบาลพยายามผลักดันภายใต้แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment และเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ มาร่วมให้บริการด้วยค่าบริการที่ถูกลง
แน่นอนว่าประโยชน์ที่ใกล้ตัวที่สุด คือ การโอนเงินและรับเงินในชีวิตประจำวันของเราจะสะดวกขึ้นมาก สามารถโอนเงินให้ครอบครัวและเพื่อนฝูงได้โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือที่เรามักจะจำได้หรือบันทึกไว้อยู่แล้ว อีกทั้งในส่วนของการรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น เงินสวัสดิการ เงินช่วยเหลือ เงินคืนภาษี ก็จะสามารถรับตรงเข้าบัญชีได้ด้วยเลขประจำตัวประชาชนที่ผูกไว้กับบัญชีเงินฝากธนาคาร และที่สำคัญ ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน สามารถเปลี่ยนแปลงยกเลิกการผูกบัญชีได้ง่าย และสามารถเลือกใช้บริการได้อย่างอิสระ
ด้านความปลอดภัยที่หลายคนสงสัย
ดร. อนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาระบบ e-Payment ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันเรามีระบบโอนเงินอยู่แล้วชื่อว่า บาทเนต เรียกว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐาน การจะเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานนี้เดิมจะต้องผ่านทางธนาคาร สาขา ตู้เอทีเอ็ม Mobile Banking เป็นการส่งคำสั่งเข้าไปยังโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังทุกธนาคาร โดยที่แฮกเกอร์ไม่สามารถเข้าถึงได้ คือเมื่อธนาคารได้รับคำสั่งให้โอนเงินจากช่องทางต่าง ๆ เข้ามา ธนาคารจะส่งต่อคำสั่งไปยัง Switch Clearing House ซึ่งปัจจุบันเชื่อมต่อระหว่างกันแบบ 1 ต่อ 1 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ปัจจุบันประเทศไทยใช้อยู่ แต่ท่อหรือถนนที่เชื่อมต่อกันมันแคบ จึงจำเป็นที่จะต้องขยายบริการให้มันใหญ่ขึ้น
“พร้อมเพย์” จึงเป็นโครงการที่จะมาขยายโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เป็นการวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมเพื่อมาสร้างบริการใหม่ทั้งหมด เปิดโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาทำไม่ได้ เพราะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม
ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือ 1) รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรใหม่ ไม่มีแอพพลิเคชันใหม่เลย 2) ไม่มีส่วนไหนต่อกับอินเทอร์เน็ต ใครจะมาเจาะระบบจะเริ่มจากตรงไหน ก็ต้องไปเจาะที่ธนาคารเหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนคือคำสั่งโอนเงิน แทนที่คำสั่งโอนเงินจะใช้เลขที่บัญชี เขาก็ใช้หมายเลขประจำตัวอื่น ๆ ได้
“กรณีการโกงส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งแก้ไขด้วยระบบไม่ได้ ส่วนใหญ่คือการหลอกกันเอง เรื่องหลอกกันเองช่วยไม่ได้จริง ๆ ไม่มีใครจะไปช่วยไม่ให้หลอกกันได้ ถ้าจะป้องกันจริง ๆ คือเราจะโอนเงินกันไม่ได้เลย ถ้ามีคนบอกให้โอนแล้วไปโอนให้เขามันก็จบ ไม่มีทางป้องกันได้ อีกอันที่เป็นไปได้คือการโกงภายใน เช่น ตู้เอทีเอ็มของธนาคารถูกพนักงานของธนาคารแอบเอาโปรแกรมดัดแปลงไปใส่ไว้ ให้มีช่องทางเข้าไปดูได้ อันนี้คือเป็นเรื่องที่เกิดจากมนุษย์ที่อยู่ในธนาคารแทน ซึ่งแก้ไขไม่ได้ด้วยการออกแบบระบบ เหมือนกับพนักงานฝากถอน ถ้าเราบอกว่าห้ามโกง เราก็ถอนเงินฝากเงินไม่ได้ เพราะเขายังต้องสามารถหยิบเงินออกมาให้เราหรือรับเงินเราได้ ถามว่าโกงได้ไหม ทำได้ วิธีป้องกันคือการควบคุมภายใน ตรวจสอบภายในต่างหาก ดังนั้น ระบบคอมพิวเตอร์ไม่มีการออกแบบให้มีรูหรอก ต้องไปควบคุมคนทำงานภายใน ถ้าไม่ทำระบบอะไรก็ควบคุมไม่ได้”
ดังนั้นความปลอดภัยที่หลายคนกังวล จริง ๆ มันดีขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเลขบัญชีเป็นข้อมูลส่วนตัว ตอนนี้ไม่ต้องบอกเลยนะ บอกเบอร์มือถือกลัวหรือเปล่า ไม่กลัวหรอก ไม่ใช่ใครจะโทรหาเราได้ มันส่วนตัวน้อยกว่า มันไม่มีความเสี่ยงใหม่เลย มันมีแต่ความสะดวก ใช้เบอร์เรียกแทนบัญชี”