ในวาระที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ Digital Economy หันไปทางไหนก็มักจะเจอแต่ผู้ประกอบการที่พูดคุยเรื่อง Industry 4.0 และเต็มไปด้วยคำถามกับข้อสงสัยว่ามันคืออะไร แล้วธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่ทำมาถึงรุ่นที่ 3 จำเป็นจะต้องก้าวไปหรือไม่ 

 

Industry 4.0

Industry 4.0 หรือ อุตสาหกรรม 4.0

วันนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีสมาชิกกว่า 10,000 ราย มียอดขายรวมกันกว่า 14.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุม 74 จังหวัด 45 อุตสาหกรรม และ 12 หมวดคลัสเตอร์ ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน จนถึงอุตสาหกรรมขนาดย่อม เช่น อาหาร สมุนไพร ฯลฯ ในจำนวนนี้ 85% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก 

นิยามของ Industry ในแต่ละยุค

Industry 1.0 ใช้เครื่องจักรไอน้ำในการผลิต (ไม่มีการใช้งานในประเทศไทย)
2.0 มีเครื่องมือช่วยในการผลิตบางส่วน
2.5 การผลิตใน Line การผลิตเป็นแบบกึ่งอัตโนมัติ
3.0 การผลิตเป็นแบบอัตโนมัติทั้ง Line การผลิต
3.5 มีการใช้ Robot มาช่วยใน Line การผลิต
4.0 สารสนเทศทั้งหมดจะเชื่อมต่อกับกระบวนการผลิตอย่าง Real Time ทั้ง Process
 

ปัจจุบันผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังติดกับดักอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น หรือ Industry 2.0 โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 70% ของทั้งหมด ขณะที่ผู้ประกอบการที่ก้าวสู่ Industry 2.5 และ Industry 3.0 มีอยู่ 25.7% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ลงทุนจากต่างประเทศและซัพพลายเชนที่ต่อเนื่อง ซึ่งถูกบังคับให้ใช้กระบวนการผลิตที่สอดรับกับผู้ประกอบการหลัก ส่วนผู้ประกอบการที่เข้าสู่ Industry 4.0 ปัจจุบันมีไม่เกิน 1-2% และเป็นบริษัทข้ามชาติทั้งสิ้น

ภายใต้นิยามของอุตสาหกรรม 4.0 หมายถึง ผู้ประกอบการที่ใช้ไอซีทีเข้ามาสนับสนุนกระบวนการผลิตทั้ง Process ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นั่นคือมีการใช้ซอฟต์แวร์บริหารจัดการ เช่น Enterprise resource planning (ERP) และ Material Requirements Planning (MRP) ในการบริหารจัดการเชื่อมโยงไปสู่สายการผลิตที่ควบคุมผ่าน Programmable Logic Controller (PLC) เพื่อจัดการกระบวนการผลิต รวมถึงการติดตามกระบวนการผลิตได้แบบเรียลไทม์

ในอุตสาหกรรม 4.0นั้น ตลอดกระบวนการผลิตจะมีการใช้ไอซีทีมาเกี่ยวข้องในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ ระบบ ERP, 3D Printing, Robotic, SCADA, Mobile and Wireless Device

ปัจจุบันในคณะกรรมการสภาอุตสหกรรมแห่งประเทศไทยมีการพูดคุยถึงอุตสาหกรรม 4.0 กันอย่างมาก รวมถึงการให้กรอบการพัฒนาแต่ละอุตสาหกรรมว่า อุตสาหกรรมไหนบ้างที่ต้องพัฒนาไปสู่ 4.0 และอุตสาหกรรมไหนที่ควรจะจบที่ 3.0, 2.0 และ 2.5 เป็นต้น

ซึ่งต้นแบบของประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนีมีการกำหนดทิศทางการพัฒนาไว้ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมใดที่ต้องก้าวไปถึง Industry 4.0 และอุตสาหกรรมใดที่พัฒนาแค่ Industry 3.0 หรือ Industry 2.5

โดยเป็นเวลากว่า 2 ปีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีการหารือเร่งยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการจัดทำวิจัยอุตสาหกรรม 45 ประเภทว่าแต่ละอุตสาหกรรมต้องปรับตัวอย่างไร อุตสาหกรรมไหนต้องก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 บ้าง โดยผลวิจัยดังกล่าวจะเสร็จในเร็ว ๆ นี้ และจะถูกวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

อีกด้านหนึ่ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICTI) จะเดินหน้าสำรวจความพร้อมด้านไอซีทีของอุตสาหกรรมและสมาชิกกว่า 10,000 ราย เพื่อนำมาประเมินและกำหนดกรอบการทำงานในการทำงานเพื่อผลักดันผู้ประกอบการให้นำเทคโนโลยีไอซีทีที่เหมาะสมมาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจมากขึ้น

ที่ผ่านมา ICTI มีบทบาทหลักในการยกระดับอุตสาหกรรมด้วยไอซีที ผ่านการอบรม สัมมนา และ Open House โดยจัดแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมต้นน้ำ อุตสาหกรรมกลางน้ำ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยเน้นการประยุกต์เทคโนโลยีไอซีทีให้กับโรงงานและผู้ประกอบการ เช่น สัมมนา ERP/MRP และ IoT

อีกบทบาทหนึ่งนั้น ICTI มีส่วนผลักดันในการพัฒนาบุคลากรที่มีองค์คความรู้ในการด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีมาช่วยการผลิต ผ่านการจัดหลักสูตรอบรม 100 ชั่วโมง เพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ทั้งไอทีและกระบวนการผลิต เพื่อส่งเสริมให้มีบุคลากรมาสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0

การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่ Industry 4.0 เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการผลิตทดแทนการใช้แรงงาน ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวเป็นบทบาทหน้าที่ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่หากทำได้จะยกระดับงานไอซีทีของภาคอุตาหกรรมให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง

เริ่มแรกอุตสาหกรรม 2.0 การผลิตเบาะนั่งรถจักรยานยนต์ ใช้เครื่องจักรกึ่งอัตโนมัติ

 

มาถึงอุตสาหกรรม 3.0 การผลิตเบาะจักรยานยนต์บน Production Line ใช้แขนกลมาช่วยในกระบวนการผลิต

 

ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ใช้สารสนเทศเชื่อมต่อกับกระบวนการผลิตทั้งหมดแบบ Real Time