Digital Disruption อาจเป็นอุปสรรคสำหรับหลายองค์กร แต่ไม่ใช่ ทีเอ็มบี เพราะธนาคารใช้เวลากว่า 4 ปีในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล จนวันนี้ทีเอ็มบีเป็นธนาคารชั้นนำและเป็นต้นแบบความสำเร็จของการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับโลกอย่างไมโครซอฟท์ที่ดูแลกระบวนการ Transform ตลอดทุกขั้นตอน
การก้าวสู่ดิจิทัล หรือ Digital Transformation เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเลือกใช้เทคโนโลยี หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการให้ความรู้กับพนักงานในองค์กร ซึ่งภายใต้ความท้าทายนี้ ทุกองค์กรมีความสำเร็จและความล้มเหลวของธุรกิจเป็นเดิมพัน ภายใต้ความกดดันดังกล่าว ทำให้องค์กรส่วนใหญ่พยายามเฟ้นหาพันธมิตรและที่ปรึกษาที่มีความรู้และประสบการณ์มาช่วยในการจัดการองค์กร ซึ่งแน่นอนว่าพันธมิตรที่ดีมีประสบการณ์ย่อมการันตีได้ถึงโอกาสของความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลที่ดีขึ้น
3 ปีผลักดันทีเอ็มบีสู่ดิจิทัล
ทีเอ็มบีเป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของไทยที่ตระหนักถึงผลกระทบจากดิจิทัลมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว และเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนองค์กร โดยใช้ Cloud มาเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร กระทั่งปัจจุบันทีเอ็มบีเป็นหนึ่งในองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล และเป็นโมเดลต้นแบบของธนาคารที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวสู่ดิจิทัล
.
ลอเรนโซ ทัสซาน-บัสซัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ ทีเอ็มบี ให้ข้อมูลว่าธนาคารเริ่มนำเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์มาใช้ตั้งแต่ปี 2557 หลังจากที่เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการนำข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมทั้งส่งเสริมศักยภาพของพนักงาน และสนับสนุนการทำงานร่วมกันให้มากกว่าที่เคย โดยการทำงานของ Office 365 ผ่านระบบคลาวด์นั้นช่วยให้พนักงานของเราสามารถทำงานร่วมกันได้จากทุกที่ ทุกเวลา
นอกจากการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมากและการทำงานทุกที่ ทุกเวลาด้วย Office 365 แล้ว ทีเอ็มบียังใช้งานแอพพลิเคชันอื่น เช่น SharePoint, Yammer, OneDrive และ Skype for Business ควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างประสบการณ์ทำงานแบบดิจิทัลให้พนักงานกว่า 9,200 คนสามารถทำงานบนดิจิทัลแพลตฟอร์มได้อย่างแท้จริง
TMB Cloud คืนทุนตั้งแต่ปีแรก
ทัสซาน-บัสซัทกล่าวว่า องค์กรส่วนใหญ่ยังมีความกังวลในการใช้งานบนระบบคลาวด์ ทั้งเรื่องของความสะดวกและความปลอดภัย และทีเอ็มบีได้ทำการศึกษาอย่างจริง ๆ ก่อนจะนำระบบคลาวด์มาใช้เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา และค้นพบความจริงที่น่าอัศจรรย์ว่าการทำงานผ่านคลาวด์ให้ผลลัพธ์ดีกว่าที่คาด ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน ความคุ้มค่า การประหยัดเงินด้วยการเปลี่ยนเงินลงทุนให้เป็นค่าใช้จ่าย (CapEx เป็น OpEx) แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ คลาวด์ให้ความคุ้มทุน (ROI) ตั้งแต่ปีแรกที่ใช้งาน
ความปลอดภัยเป็นประเด็นที่ทุกองค์กรมักกังวลเกี่ยวกับการใช้บริการคลาวด์ แต่ทัสซาน-บัสซัทให้เครดิตและความเชื่อมั่นในการทำงานบนคลาวด์ของไมโครซอฟท์ โดยปัจจุบันแอพพลิเคชันส่วนใหญ่ของธนาคารทำงานอยู่บนระบบคลาวด์สาธารณะของ Microsoft Azure ด้วยความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก และมาตรฐานเฉพาะของอุตสาหกรรมการเงินอีกด้วย และในอนาคตทีเอ็มบียังมีแผนพัฒนาบริการใหม่ ๆ บนคลาวด์ เช่น ระบบการวิเคราะห์และจดจำใบหน้าลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถบริการลูกค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
4 มิติเพื่อการปรับเปลี่ยนองค์กร
ไมโครซอฟท์ ในฐานะพันธมิตรในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลของทีเอ็มบี ได้ทำการสำรวจผู้นำธุรกิจธุรกิจทั่วเอเชียจำนวน 1,494 คน โดยในจำนวนนี้ 117 คนที่เป็นผู้บริหารจากประเทศไทย เกี่ยวกับบทบาทในการกำหนดกลยุทธ์ดิจิทัลในองค์กร ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวระบุว่า องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบและแนวทางการทำธุรกิจเพื่อให้สามารถอยู่รอดในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
โดย 89% ของผู้นำภาคธุรกิจไทยเห็นว่าทุกองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวสู่ดิจิทัลเพื่อผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่มีองค์กรเพียง 29% ที่มีกลยุทธ์ด้านดิจิทัลเต็มรูปแบบเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ ขณะที่องค์กร 41% อยู่ในขั้นตอนการเริ่มดำเนินกลยุทธ์บางส่วน และอีก 30% ยังขาดความพร้อมในเชิงกลยุทธ์
ฌอน ลอยเซลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจองค์กรและพันธมิตร บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ผลสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าผู้นำในภาคธุรกิจได้เริ่มเดินหน้าเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ยุคดิจิทัลกันอย่างจริงจัง เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น
ไมโครซอฟท์เชื่อว่าการปฏิรูปธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องครอบคลุมใน 4 ด้าน ได้แก่ การเสริมศักยภาพให้กับพนักงาน ยกระดับการเข้าถึงและให้บริการลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร และการใช้เทคโนโลยีพลิกรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ
1. การเสริมศักยภาพให้กับพนักงาน องค์กรสามารถเสริมศักยภาพให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่เปิดให้เข้าถึงข้อมูลและแอพพลิเคชันต่าง ๆ พร้อมทั้งทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ทุกที่ ทุกเวลา ควบคู่ไปกับการลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
2. การเข้าถึงลูกค้า ธุรกิจจำเป็นจะต้องการสร้างความแตกต่างและโดดเด่นโดยการนำเสนอเนื้อหาหรือข้อมูลที่สร้างจากประสบการณ์ที่ปรับแต่งมาให้เข้ากับลูกค้าแต่ละคน ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยไม่ทิ้งเรื่องความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยในการเข้าถึงหรือใช้งาน
3. การยกระดับประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร องค์กรในภาคการผลิต ค้าปลีก หรือแม้แต่ภาคสาธารณสุข สามารถปรับแนวทางการทำงานจากเพียงแค่การตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ในภายหลัง ให้เป็นการโต้ตอบแบบเรียลไทม์ หรือแม้แต่การคาดเดาและแก้ไขปัญหาของลูกค้าแบบล่วงหน้า
4. การพลิกรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจ ความเป็นไปได้ในการนำซอฟต์แวร์หรือเทคโนโลยีมาใช้ในผลิตภัณฑ์และบริการทำให้องค์กรสามารถนำเสนอและสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตลาดที่มีอยู่เดิม
ฌอนกล่าวสรุปว่า การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลขององค์กนั้น หัวใจสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดความสำเร็จได้คือ การบริหารจัดการข้อมูลและการนำเทคโนโลยีคลาวด์มาช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น