AI  หรือปัญญาประดิษฐ์ถืิอว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของหลายประเทศ เราต่างเห็นข่าวเกี่ยวกับด้าน AI อย่างหนาหูในช่วงนี้ แต่สำหรับประเทศไทย ยังเป็นประเด็นกันอยู่ว่า เราสมควรนำ AI มาใช้ประโยชน์ในด้านไหนก่อน 

โชคดีที่ทีมงาน ELEADER มีโอกาศได้คุยกับ ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยถึงแนวทางการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาประเทศ

ดร. วิรัช เล่าว่า ปัจจุบันหลายธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับปัญญาประดิษฐ์และ IoT ซึ่งเป็น 2 เทคโนโลยีที่มีส่วนเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งการพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์มีมากว่า 50-60 ปีแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีและหน่วยประมวลผล ทำให้ปัญญาประดิษฐ์ติดอยู่ในระดับแนวคิดและทฤษฎีที่ก้าวหน้าไปไกลมาก

อย่างไรก็ตาม ดร. วิรัช ให้มุมมองว่า การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์นั้นเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งหลายประเทศได้ทุ่มพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ เช่น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งแต่ละประเทศนั้นก็มีโจทย์และเป้าหมายในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่แตกต่างกัน และหากประเทศไทยจะพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างจริงจังก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนเช่นกัน

สำหรับในประเทศไทยเองนั้น ดร. วิรัช กล่าวว่า การพัฒนาของไทยควรจะโฟกัสใน 2 เป้าหมาย ซึ่งเป็นโจทย์หลักของสังคมไทย คือสังคมผู้สูงอายุ (Elderly Care) และการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environment to Digital)

Elderly Care หรือสังคมผู้สูงอายุ กำลังจะเป็นปัญหาของสังคมที่มากขึ้นเรื่อย ๆ คล้ายกับที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น โดยผู้สูงอายุนั้นเป็นภาระที่ต้องดูแลของสังคมรุ่นต่อไปมาก ทั้งความต้องการระบบการดูแลที่ดี ระบบการรักษาพยาบาล รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตได้ใกล้เคียงกับประชากรในวัยอื่น รวมถึงการทำงานหลังวัยเกษียณด้วย

Environment หรือสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาระดับโลกรวมถึงประเทศไทย เช่น ปัญหาโลกร้อน ภัยแล้ง ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว ซึ่งในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมนี้ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการลดใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งนี้เพื่อพัฒนาสังคมความเป็นอยู่ของคนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

AI

เครือข่ายวิจัย RUN เพื่อดูแลผู้สูงอายุ

ดร. วิรัช เล่าว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอีก 7 แห่ง ที่เป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research Universities Network : RUN) โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นประธาน Digital Cluster เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ

ปัจจุบัน RUN ได้ร่วมมือกับจังหวัดสมุทรสาคร ที่เป็นจังหวัดต้นแบบด้านการจัดการชุมชนผู้สูงอายุและกลุ่มแพทย์รังสิต เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนางานวิจัยที่นำไปสู่การสร้างธุรกิจต้นแบบที่นำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันโครงข่ายดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการและเริ่มเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวิจัยแล้ว คาดว่าโครงการดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการดูแลผู้สูงอายุขึ้นในประเทศไทย

สังคมสูงอายุเป็นหนึ่งใน 2 เป้าหมายที่เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยให้ความสำคัญ ซึ่ง ดร. วิรัช เชื่อว่าการเลือกโฟกัสเพียง 2 เป้าหมาย จะทำให้การพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ดำเนินการได้อย่างเต็มที่ และประสบผลสำเร็จได้ตามเป้าหมาย ขณะเดียวกัน ดร. วิรัช ยังแนะนำให้ภาครัฐให้สนับสนุนการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ใน 2 เป้าหมายนี้เช่นกัน