เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคของ Internet of thing สิ่งต่าง ๆ จึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งรูปแบบของการสื่อสาร การทำธุรกิจ และกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม รวมไปถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์
Internet of thing ,The Digital is all Around
วันนี้หากเอ่ยคำว่า อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things: IoT) หรืออินเทอร์เทอร์เน็ตในทุกสิ่ง คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินแล้ว เพราะเป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง คงต้องขอเกริ่นนำให้ทราบถึงความเป็นมาเป็นไปกันซักหน่อย
อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 1999 (2542) โดย เควิน แอชตัน (Kevin Ashton) ซึ่งได้เสนอแนวคิดในเรื่องของ “ระบบบ่งชี้อัตโนมัติแบบรวมศูนย์” (Auto-ID Center) ที่เป็นการต่อยอดจากการใช้เทคโนโลยีการระบุข้อมูลสิ่งต่าง ๆ โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Identification : RFID) และเซนเซอร์ (Sensors) ที่ใช้ในกับสินค้าหรือบริการที่ต้องการยืนยันสิ่งที่ได้กระทำ หรือดำเนินการ
นั่นคือ การที่เรานำสิ่งของจำนวนมากมาติดป้ายอิเล็กทรอนิกส์ (IP) โดยระบบ IP V.6 และมีเครื่องอ่านอยู่ทุกหัวระแหง ซึ่งเปรียบเสมือนการเติมสมองให้กับสิ่งของ พร้อมทั้งการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ให้สามารถส่งข้อมูล เพื่อคิดคำนวณ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้นั้น นำมาซึ่งประโยชน์มากมายในเรื่องการบริหาร
โดยสิ่งที่เควิน แอชตันได้เสนอนั้นคือการทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถสื่อสารกันได้เช่นเดียวกับการที่ตู้กดเงินสดของธนาคาร (ATM) ทำได้นั่นเอง แต่แนวคิดนี้ในช่วงเวลานั้นยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะแปลกใหม่และทำได้ยาก เนื่องจากเทคโนโลยีในการสื่อสารของระบบอินเทอร์เน็ตยังมีความเร็วไม่เพียงพอ
แต่พอเวลาผ่านมา จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่สามารถส่งผ่านข้อมูลได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นไว-ไฟ, 3G-4G ฯลฯ ทำให้แนวคิดดังกล่าวได้ยกขึ้นมาทำให้เป็นจริงมากขึ้น โดยเราจะเห็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมาก
โดยมีการคาดการณ์จาก Gartner ว่าจะมี Internet of Things (IoT) อย่างน้อย 26,000 ล้านอุปกรณ์ ภายในปี 2020 นี้ ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยี CISCO ได้ประเมินว่าจะมีถึง 50,000 ล้านอุปกรณ์ในปีเดียวกัน
การเพิ่มขึ้นของจำนวนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถสื่อสารระหว่างกันเองโดยไม่ต้องพึ่งพาการดำเนินการด้วยมนุษย์ หรือที่วันนี้เรามักจะได้ยินในชื่อของการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ (Machine-to-Machine : M2M) ซึ่งการเกิดขึ้นของการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์นี้กำลังจะก้าวไปสู่ยุคที่เราจะเรียกว่า “M2M Communication” ที่เกิดจากการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ผ่านเครือข่ายสาธารณะ (Public) หรือผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต่าง ๆ และการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ผ่านเครือข่ายส่วนตัว (Private)
อธิบายคือลักษณะของ IoT นั้นสามารถแบ่งออกแบบ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ การนำไปใช้ในแบบ Industrial IoT โดยทำงานในลักษณะของเน็ตเวิร์กภายใน (Local Network) ที่จะดำเนินการในลักษณะโครงข่ายเซนเซอร์ (Sensor Nodes) ที่เชื่อมต่อผ่าน IP Network เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ ภายนอก
และอีกรูปแบบคือการนำไปใช้ใน Commercial IoT โดยผ่านเทคโนโลยีบลูทูธ (Bluetooth) หรืออุปกรณ์ที่เป็น IoT แต่ที่แตกต่างกัน แบบแรกคือการสื่อสารจะดำเนินเชื่อมโยงภายในกลุ่มโดยจะสื่อสารภายในกลุ่มของเซนเซอร์ภายใน (Sensor Nodes) เดียวกันเท่านั้น แต่ไม่สามารถเชื่อมต่อไปยังอินเทอร์เน็ตได้ จากคุณลักษณะดังกล่าวทำให้แนวโน้มของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT ได้รับความสนใจ และเกิดโปรเจ็กต์ในการทดสอบใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน
โดยล่าสุดเว็บไซต์ IoT Analytics ได้ทำการสำรวจโครงการทางด้าน IoT จากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกในปี 2016 พบว่า โครงการ IoT ส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนของการพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Connected Industry) โดยมีมากถึง 141 โครงการ ตามมาด้วยโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) 128 โครงการ และโครงการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
โดยประเทศสหรัฐอเมริกาคือประเทศที่ทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องพลังงานนี้มากถึง 44% รองลงมาคือกลุ่มประเทศในโซนยุโรปอยู่ที่ 34% ขณะที่โครงการอื่น ๆ ที่มีแนวคิดที่จะนำ IoT มาใช้คือโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ (Connected Health)
โดยอยู่ที่ 61% และค้าปลีกอัจฉริยะ (Smart Retail) อยู่ที่ 52% ส่วนโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในประเทศแถบยุโรป โดยอยู่ที่ 47% ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญเป็นพิเศษในด้านโครงการพลังงานอัจฉริยะ โดยอยู่ที่ 25%