วงการการแพทย์ ถือว่ามีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ แต่ถ้าจะเป็น Healthcare 4.0 ก็ต้องมีความพร้อมในหลาย ๆ เรื่อง
หากพูดถึงวงการการแพทย์ของไทยแล้ว ถือว่ามีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ จุดแข็งที่ว่าได้แก่ การที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการแพทย์ที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงมากแต่มีคุณภาพ ทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบและมีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำทางการแพทย์ในลำดับต้น ๆ ของโลก
ซึ่งนอกจากแพทย์ไทยจะได้รับการยอมรับด้านความสามารถในระดับสากลแล้ว จากข้อมูลของฝ่ายวิจัยธุรกิจธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน Joint Commission International: JCI Accreditation ของสหรัฐอเมริกาแล้วกว่า 53 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาล 43 แห่ง และคลินิกอีก 10 แห่ง (อ้างอิง www.medicalhub.org)
ในขณะที่จุดอ่อน คือการบริการที่ยังถูกจำกัดอยู่ในเขตชุมชนเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานยังไม่สามารถเข้าถึงบางพื้นที่ในชนบทได้ อีกทั้งยังมีการใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วย และข้อมูลด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ
กล่าวคือ ไม่มีระบบฐานข้อมูลส่วนกลางสำหรับการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากยังไม่มีองค์กรที่รับผิดชอบด้านนี้โดยเฉพาะ ประกอบกับระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุม ทำให้การบริการยิ่งล่าช้าเพราะผู้ป่วยใช้บริการจากโรงพยาบาลหลายแห่ง เนื่องจากต้องมีการทำเรื่องขอประวัติคนไข้จากโรงพยาบาลล่าสุด หรือจัดทำประวัติคนไข้ใหม่ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน
แม้ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดูแลเรื่องการนำระบบไอทีเข้ามาใช้กับงานด้านสุขภาพ โดยมีการสร้าง Health Data Center (HDC) ตามจังหวัดต่าง ๆ และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในจังหวัดเดียวกัน
วันนี้โรงพยาบาลต่าง ๆ จึงมีฐานข้อมูลกลางแล้ว และสามารถเชื่อมต่อข้อมูลเข้ามาที่ส่วนกลางทุกวัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลส่วนใหญ่ยังเป็นข้อมูลในเชิงบริหารมากกว่าข้อมูลเชิงการรักษาพยาบาล แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลต่าง ๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการจะทำให้เรื่องของการแพทย์ก้าวสู่ความทันสมัยตามกรอบแนวคิดด้านกลยุทธ์ที่ทาง WHO ได้เสนอไว้
โดยปัจจุบันกรมการแพทย์ได้วางแผนในการพัฒนาโรงพยาบาลในสังกัด ให้มีการบริหารงานแบบ Smart Hospital เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบรักษาผ่านระบบ Digital (ระบบนัด ระบบแล็บ ระบบฟังผลการรักษา) สร้างแอพพลิเคชันเพื่อการให้บริการและการให้ความรู้สำหรับประชาชน
รวมทั้งพัฒนารูปแบบการให้ดูแลผู้สูงอายุ อาทิ Intermediate Care, Daycare ส่งเสริมให้เกิดการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยการนำศักยภาพของโรงพยาบาลที่มีพร้อมแล้วมาใช้โดยการร่วมทุนกับภาคเอกชน โดยแบ่งเป็น 2 ทาง คือ
การพัฒนาการผลิตหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย การบริการคลินิกเฉพาะทางที่มีคุณภาพสูง และพัฒนาโรงพยาบาลให้เป็น Medical Hub และรับการส่งต่อกรณีต้องการบริการทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อนสูง เช่น รังสีศัลยกรรม CyberKnife ซึ่งสามารถให้รังสีขนาดสูงอย่างแม่นยำไปยังขอบเขตที่จำกัด
ผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ อาทิ เลนส์แก้วตาเทียม ตาปลอม การผลิตข้อเข่าเทียม ประสาทหูเทียม นาฬิกาเตือนน้ำตาลในเลือด ในการนี้ได้พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อให้พร้อมต่อการพัฒนา โดยการบูรณาการงานและทรัพยากรในกรมให้สอดคล้องประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ การนำระบบบริหารความเสี่ยงมาใช้เพื่อลดความผิดพลาด
ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย ลดการบริหารการเงินล้มเหลวโดยใช้พัฒนาการทำต้นทุนบริการ และระบบบัญชีผ่านระบบอิเล็กโทรนิกส์ เพื่อคิด Cost Effectiveness ในการลงทุนไปพร้อมกับเร่งพัฒนาทักษะบุคลากรให้มีศักยภาพระดับนานาชาติ
ซึ่งในเบื้องต้น 5 ปี ทางกรมการแพทย์จะเดินหน้าพัฒนาระบบบริการโรงพยาบาลให้เป็น Automated Hospital โดยเป้าหมายแรก คือการสร้างศูนย์กลางของข้อมูลเชื่อมต่อ (Personal Health Record : PHR) ซึ่งได้ 4 หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ ซิป้า เนคเทค สวทช. และสำนักงานสาธารณสุขดำเนินการรวมกัน
ซึ่งจากการเปิดเผยเบื้องต้นสามารถเชื่อมต่อข้อมูล 5 จังหวัด ได้แก่ นครนายก กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด และภูเก็ต โดยข้อมูลที่เก็บนั้นเป็นข้อมูลทั่วไป ประวัติการรักษาที่ผ่านมา ประวัติการแพ้ยา ข้อมูลการดูแลสุขภาพของแต่ละบุคคล
อาทิ การออกกำลังกาย ผลการตรวจร่างกาย โดยข้อมูลถูกรวบรวมไว้ใน PHR Data Center ของแต่ละจังหวัด ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาโดยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์ Smart Devices ทำให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองระหว่างรอการพบแพทย์ครั้งหน้า และเปรียบเทียบและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ได้ด้วย สามารถบริหารข้อมูลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวอย่างเป็นระบบ สามารถติดตามและบริหารนัดพบแพทย์ได้
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าทำการจัดเก็บข้อมูล และสั่งการในอุปกรณ์ Smart Devices อื่น ๆ เช่น เครื่องจัดยาอัตโนมัติ เครื่องเตือนให้ผู้ป่วยรับประทานยา (Personal Digital Device Assistance) ซึ่งในส่วนนี้เมื่อช่วงต้นปี ทางโรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) และ บริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด
ได้ออกมาเผยความสำเร็จในการพัฒนา “หุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติ” โดยหุ่นยนต์จ่ายยาจะรับใบสั่งยาจากแพทย์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ก่อนจะจัดยาส่งไปที่เภสัชกรผ่านระบบสายพานลำเลียง ช่วยลดความผิดพลาดในการจ่ายยาและลดเวลาจ่ายยาผู้ป่วยเหลือ 10-15 นาที โดยมีแผนติดตั้งและใช้งานจริงปลายปี 2560 นี้
สำหรับเครื่องมือที่จะเข้ามาเสริมเพื่อให้ประชาชน ได้เข้าถึงข้อมูลทางด้านสุขภาพของตนเองนั้น เมื่อปลายปีที่แล้วทาง นักวิจัยเนคเทค สวทช. ได้ออกแบบและพัฒนาตู้ตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ (Health CheckUp Kiosk)สำหรับให้บริการผู้ป่วยในการตรวจวัดค่าความดันโลหิต ชีพจร ส่วนสูง และน้ำหนัก
โดยก่อนเข้าตรวจกับแพทย์ สามารถตรวจได้อย่างสะดวกด้วยตัวเอง เพราะมีคำแนะนำการใช้งานอย่างละเอียดทุกขั้นตอน โดยคุณสมบัติเด่นอื่น ๆ ของเครื่องให้บริการอัตโนมัตินี้ คือตรวจวัดความดัน ชีพจร ความสูง และน้ำหนักได้ครบที่จุดเดียว สามารถบันทึกข้อมูลชั่วคราวไว้ในเครื่อง จัดเก็บเป็นประวัติสุขภาพในฐานข้อมูลและพิมพ์ข้อมูล พร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตนได้ ระบบรองรับการใช้งาน ทั้งแบบมีบัตรประชาชน บัตรโรงพยาบาล หรือไม่มีบัตร สามารถนำไปติดตั้งสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านยา อาคารสำนักงาน เพื่อให้ผู้ใช้ติดตามสุขภาพด้วยตนเองได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขอาจจะต้องเป็นฝ่ายผลักดันในเกิดการใช้งาน PHR ในจังหวัดต่าง ๆ ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลหลายแห่ง ก็ได้พัฒนาระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลของตนเองกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการให้บริการ อาทิ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้พัฒนาระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล (Hospital Information System : HIS) เข้ามาช่วยในกระบวนการรักษาพยาบาลให้มีความคล่องตัวขึ้น
เริ่มตั้งแต่การรับผู้ป่วยเข้ามาในระบบ ผ่านงานเวชระเบียนที่เก็บข้อมูลของผู้ป่วย อาทิ ประวัติการรักษา การแพ้ยา ตารางนัดแพทย์ สิทธิในการรักษาพยาบาล (ประกันสังคม, ข้าราชการ, บัตรทอง) โดยแพทย์และเภสัชกรสามารถดูประวัติคนไข้ได้ทันที ลดปัญหาการจ่ายยาผิดและการคลาดเคลื่อนของข้อมูล ซึ่งหากจะเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง PHR และ HIS สามารถทำได้
แต่อาจยังต้องรอความพร้อมในเชิงนโยบายภาครัฐ และกฎหมายที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ยังไม่สามารถทำได้เพราะติดกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ และยังไม่มีมาตรฐานข้อมูลกลางที่จะใช้ด้วยกันระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีข้อจำกัดที่น่ากังวลใจอย่างเรื่องการรักษาความลับข้อมูลส่วนบุคคล
เช่น ถ้าคนไข้ไม่คล่องในการใช้งานระบบ ข้อมูลก็ไปไม่ถึงโรงพยาบาล หรือบางกรณี การที่หมอกับหมอเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันจะคล่องตัวกว่าการที่ต้องให้ข้อมูลไปผ่านมือคนไข้ เพราะข้อมูลบางอย่างหมอไม่อยากเปิดเผยกับคนไข้ เช่น ข้อมูลจิตเวช หรือข้อมูลที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ จนทำให้คนไข้ตกใจหรือเข้าใจผิด
ดังนั้น ถ้ามีระบบที่หมอคุยกันเองได้ ก็จะทำให้ดูแลคนไข้ได้ดีขึ้น และอาจยังต้องคำนึงปัจจัยด้านอื่นที่เกี่ยวข้องอีกด้วย อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน คือโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบเซิร์ฟเวอร์ หรือแม้แต่บุคลากรที่จะเข้ามาดูแล ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน จึงอยากที่กล่าวว่าประเทศไทยจะสามารถก้าวสู่การเป็น eHealth ได้ในเร็ววัน
แต่หากทำได้ก็จะสามารถยกระดับในประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ตาม ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ. 2559-2568) ซึ่งมีพันธกิจสำคัญคือการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขของโลกภายใน 10 ปี
โดยมีเป้าประสงค์ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 2. ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) 3. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) 4. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะจะสามารถช่วยให้เกิดการลงทุน และช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ในทางอ้อม เช่น อุตสาหกรรมการทท่องเที่ยว