เราจะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2007-2017) หลายอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ องค์กรต่าง ๆ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจ

จุดตัดที่สำคัญคือปี 2007 เมื่อ Apple ได้เปิดตัว iPhone ตั้งแต่วันนั้น การเชื่อมต่อของคนบนโลกก็เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงแล้ว มันมิใช่จาก iPhone เพียงอย่างเดียว แต่ว่า iPhone คือจุดตัดที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่เราจะอ้างอิงได้

นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ (ตั้ม) หลายอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลง ศัตรูของสื่อสิ่งพิมพ์ มิใช่เพียงหนังสือ Online หรือ Magazine Online แต่กลายเป็น Facebook วงการเพลงที่เคยปวดหัวกับลิขสิทธิ์กับแผ่นผีแผ่นเถื่อน ( Vampire คือเจ้าตลาดในสมัยนั้นถ้าใครจำได้) ก็ยังต้องถูก Streaming music ทำลายล้างอีกที

โลกรอบตัวเราเปลี่ยนแปลงไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โทรศัพท์สาธารณะถูกทิ้งร้างให้เด็กอายุ 9 ขวบต้องตั้งคำถามว่า “ตู้เก่า ๆที่ตั้งอยู่ทั่วเมือง คืออะไร ? ” แต่ถ้าเราใส่ใจมองรายละเอียดรอบ ๆ ตัว

เราจะพบว่ามีบางสิ่งที่แทบไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ “โรงพยาบาล” ประสบการณ์ไปโรงพยาบาลของเราทุกคนแทบจะไม่แตกต่างเลยในช่วง 10  ปี (หรือ 30 ปีก็ว่าได้) อาจมีการตกแต่งที่หรูหราโมเดิร์นขึ้น จอทีวีกลายเป็นแผ่นบาง แต่อื่น ๆ แล้วแทบไม่เปลี่ยนแปลง การมารอคิว การมารอแพทย์ การรอรับยา การขอประวัติที่แสนวุ่นวาย

และถ้าเรารักษาอยู่โรงพยาบาลหนึ่งแล้ว ย้ายหรือไปป่วยอีกโรงพยาบาลหนึ่ง แพทย์ก็จะบอกให้เราไปขอประวัติจากโรงพยาบาลเดิม หรือไม่ก็ต้องตรวจใหม่ทั้งหมด ซึ่งน่าแปลกใจว่าในยุคที่ทุกอย่างเชื่อมต่อกันหมด ไฟล์ใหญ่ ๆ หลาย 10 GB ยังส่งต่อกันได้ง่าย ๆ กับแค่ประวัติ 2-3 บรรทัด หรือผลแล็บไม่กี่ตัว ทำไมข้อมูลเหล่านี้ถึงส่งถึงกันไม่ได้ ราวกับว่าวงการแพทย์ยังติดอยู่ในยุค 90 อย่างไรอย่างนั้น

Digital Health

แนวโน้ม Digital Health ของโลก ?

ในต่างประเทศนั้น Healthcare ก็ถูกจัดว่าอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความหนืดสูง และถูก Technology เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด มีคนเคยเหน็บแนมว่าถ้าต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพแล้ว ทำงานในสาย Healthcare อาจเป็นเพียงสายงานเดียวที่ไม่ต้องกลัวโดนเด้งเพราะการเข้ามาของเทคโนโลยี

แต่ ณ เวลานี้วงการ Technology กำลังพุ่งความสนใจมาที่วงการแพทย์เป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าช่วง 10-20 ปีหลังจากนี้ HealthTech น่าจะได้เวลาเปลี่ยนแปลงกับเขาเสียที สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์หลายอย่างเริ่มถูกลง และเริ่มจับต้องได้

เช่น การตรวจพันธุกรรม อุปกรณ์ Wearble ต่าง ๆ Sensor ต่าง ๆ  หรืออุปกรณ์ IT ก็เป็นของสามัญประจำประชาชนทั่วไปแล้ว เพราะเราต้องไม่ลืมว่า Healthcare ไม่ได้มีเพียงบุคลากรทางแพทย์เท่านั้นที่ใช้ แต่คนไข้ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ถ้าตัดคนไข้ออกจากสมการ ความต่อเนื่องก็จะไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น ปัญหา Healthcare ถูกสะสมไว้นานจนถึงจุดที่ใกล้ปะทุ อย่างที่อเมริกาค่าใช้จ่ายของการรักษาก็สูง สวนทางกับคุณภาพ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ต่อไปคงจะถึงจุดที่พังทลาย เหล่า Regulator ทั้งหลายจึงต้องรวมหัวมาช่วยกันผลักดัน จากที่เคย Say No มาตลอด (แต่ก็ยังถือว่ามีความฟืดอยู่พอสมควร)

ขณะที่หลาย ๆ อุตสาหกรรมมี Champion ไปหมดแล้วทำให้ Healthcare ซึ่งเป็นเหมือนน่านน้ำสีฟ้าเลยเป็นที่หมายมั่นปั้นมือของหลายคนที่ไม่พลาดโอกาสในคลื่นลูกที่แล้วไป (ตอนนี้คงไม่มีใครกล้าทำ E-commerce สู้กับ Amazon หรือ Alibaba และทำ Social Media แข่งกับ Facebook )

ใสำหรับประเทศไทยในปัจจุบันมีการพัฒนาเรื่อง HealthTech, Digital Health มาซักพักใหญ่ ๆ แต่ส่วนใหญ่อาจเป็นการ Implement Solution จากต่างประเทศ หรือมีการทำงานวิจัยในภาคการศึกษาแต่อาจไม่ได้ถูกนำออกมาสู่ตลาดที่มากพอ ปีที่แล้วมีการพูดถึง THAILAND 4.0 หรือ Startup เราก็จะเริ่มเห็น Startup ที่มาทำเรื่อง Healthcare มากขึ้น

แต่แน่นอนว่าเรายังอยู่ในระยะเริ่มต้นคงต้องยืนวัดระยะกันอีกยาว ๆ แต่มุมมองผมคิดว่าประเทศไทยคงไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหรรมนี้จากเทคโยโลยีใน 10-15 ปีนี้อย่างแน่นอน สิ่งที่เราอาจไม่รู้คือ เราเป็นเจ้าของเทคโนโลยีนั้น หรือเราเป็นผู้ซื้อมาใช้อย่างที่แล้วมา

ถ้ามองภาพใหญ่ต้องบอกว่า อุตสาหรรม Healthcare เป็นจุดแข็งของประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ถ้าเทียบกับหลาย ๆ อุตสาหกรรมแล้ว Healthcare เราเรียกได้ว่าเข้มแข็ง อันดับต้น ๆ ของ SEA และในเอเชียก็ว่าได้ จากองค์ประกอบของรากฐานการศึกษาแพทย์ที่ถูกวางไว้อย่างดี

การบริการที่มีเสน่ห์ของคนไทยบรรยากาศเมืองที่น่าอยู่ อาหารการกิน และค่าครองชีพที่ดูสมเหตุสมผล แต่ความได้เปรียบนี้ก็จะค่อย ๆ หมดไป เปรียบเสมือนกับการบินไทยที่เพียงแค่การบริการดี แอร์โฮสเตสยิ้มและไหว้สวย แต่ไม่เพียงพอต่อการแข็งขัน เราต้องมีนวัตกรรมในการสร้างความแตกต่าง และ Digital Health คือฟันแฟืองที่สำคัญ

ธรุกิจที่กล่าวมาข้างต้นที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของ Medical Tourism แต่สำหรับภาคประชาชนที่ในประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกเท่านั้นที่สามารถขับเคลื่อนจนเกิดนโยบายนี้ได้

การให้บริการทางการแพทย์นั้นประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ๆ คือ การเข้าถึง (Accesibility) ค่าใช้จ่าย (Cost) คุณภาพ (Quality) ดังนั้นเมื่อเราเพิ่มการเข้าถึงให้ได้เกือบ 100% และลดค่าใช้จ่ายจนเกือบ 0% ซึ่งคุณภาพก็เป็นสิ่งที่จะต้องลดตามมาอย่างที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ คิวรอที่นาน ความผิดพลาดจากการรักษาที่เกิดจากระบบที่มากขึ้น

ซึ่งการที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ เช่น การใช้ Telemedicine ในการเข้าถึงผู้ป่วยที่อยู่ในบริเวณที่ห่างไกล สามารถกระจายคนไข้ไม่ต้องกระจุกในโรงพยาบาล การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกจากระบบ การเพิ่มคุณภาพด้วยข้อมูลคนไข้ที่มากขึ้น สามารถวิเคราะห์ได้ดีขึ้น ลดความผิดพลาดจากระบบลง การตรวจพันธุกรรมเพื่อการรักษาที่เหมาะกับคนนั้น ๆ จึงดูเหมือนจะมีโอกาสอีกมากมายเหลือเกิน

Something + Healthcare = New Thing 

ปัจจุบันปัญหาหลัก ๆ ของ Digital Healthcare ที่ยังไม่แบ่งบานเต็มที่นั้น เป็นการที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ (Interopability) ยังไม่มีมาตรฐานกลางในการตกลงว่าจะส่งข้อมูลกันแบบไหน แต่ละโรงพยาบาลก็หวงข้อมูลของตน ไม่สบายใจในการแลกเปลี่ยน

ถ้านึกภาพก็เหมือนกับถ้าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ไม่ตกลงว่าจะใช้ปลั๊กเป็นแบบไหน จะสองรู จะสามรู จะหัวเหลี่ยม หรือหัวกลม เครื่องใช้ไฟฟ้าก็ไม่สามารถใช้ได้กับทุกบ้าน และทำให้การพัฒนานั้นไม่ชัดเจน

ซึ่งขณะนี้ก็มีนักวิชาการและนักนโยบายกำลังผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเราก็ต้องร่วมลุ้นไปด้วยกัน  แต่ก็ยังมีอีกหลายส่วนที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นได้ เพราะข้อจำกัดของปัญหาในวงการแพทย์นั้น มักไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องตัวเทคโนโลยี

โดยเราสามารถนำเอาเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมอื่นมาปรับใช้ได้เลย แต่ปัญหาอยู่ที่การผลักดันให้เกิดทั้งการให้ความรู้กับผู้ใช้ หรือการปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องมากขึ้นกับยุคดิจิทัล

ดังนั้น โลกยุคหน้าธรุกิจ Healthcare จะไม่ได้ถูกพัฒนาจากสายโรงพยาบาลเป็นหลัก แต่เป็นอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่บวกความรู้ทางการแพทย์และเทคโนโลยีเข้าไป เช่น โรงแรม รีสอร์ท + การดูแลทางการแพทย์ กลายเป็นโรงแรมผู้สูงวัย การท่องเที่ยว + ความรู้ด้านสุขภาพ เป็นทริปเพื่อสุขภาพ ฯลฯ