PwC เผย ทักษะด้าน Digital skills กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานในสถานที่ทำงาน เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาอนาคตของการทำงาน ที่ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ
PwC Workforce of the future : The views of 10,000 workers
ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า พนักงานส่วนใหญ่ หรือ 69% มีความพร้อมในการนำทักษะด้านดิจิทัล (Digital skills) มาใช้ โดย พนักงานในอินเดีย (83%) จีน (68%) และสหรัฐฯ (68%) เป็นกลุ่มที่มีความมั่นใจต่อการมีทักษะด้านดิจิทัลมากที่สุด แซงหน้าเยอรมนี (63%) และอังกฤษ (61%) ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงความพร้อมของการมีทักษะสะเต็ม (STEM skills) ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในยุดดิจิทัล พบว่า ผู้ถูกสำรวจแสดงความมั่นใจลดลง และมีระดับที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยมีเพียง 53% เท่านั้นที่เห็นด้วย หรือเห็นด้วยเป็นอย่างมากว่า พวกเขามีทักษะในด้านนี้เพียงพอ
สะท้อนให้เห็นว่า บรรดานายจ้างและภาครัฐยังต้องทำงานร่วมกันในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะและความมั่นใจให้กับบุคลากรของตนในด้านนี้ แต่เมื่อพิจารณาผลสำรวจเป็นรายประเทศพบว่า พนักงานในอินเดีย (74%) จีน (59%) และสหรัฐฯ (53%)
ยังเป็นกลุ่มที่มีความมั่นใจต่อการมีทักษะสะเต็ม (Science, Technology, Engineering and Mathematics: STEM skills) สูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่ทำการสำรวจ เปรียบเทียบกับพนักงานในอังกฤษ (33%) และเยอรมนี (44%) โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากความแตกต่างกันทางด้านวัฒนธรรม
นอกจากนี้ จากรายงานขยังพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ถูกสำรวจ หรือ 74% ที่ถูกสำรวจต้องการที่จะศึกษาหาความรู้และเพิ่มเติมทักษะใหม่ๆ ให้กับตนเอง เพราะมองว่า การเรียนรู้ ถือเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลมากกว่าการพึ่งพานายจ้าง ทั้งนี้ 88% ของพนักงานในอินเดีย และ 79% ในสหรัฐฯ มองว่า เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล สูงกว่าพนักงานในอังกฤษที่ 56% เพราะมองว่า การเรียนรู้ และถือเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลมากกว่าการพึ่งพานายจ้าง
Key findings Excited about the future
ด้าน จอน วิลเลียมส์ หัวหน้าร่วมสายงานทรัพยากรบุคคลและองค์กร บริษัท PwC โกลบอล กล่าวว่า ความไม่มั่นใจ ความไม่มั่นคง และความวิตกกังวล ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่นายจ้างจะต้องส่งเสริมให้มีการพูดคุย
และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกของการทำงานในอนาคตกับพนักงานของตน ถึงแม้ว่าองค์กรจะไม่สามารถปกป้องงานที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีได้ แต่พวกเขามีหน้าที่และความรับผิดชอบในการให้โอกาสและสนับสนุนให้เกิดความสามารถในการปรับตัวและปรับปรุงทักษะใหม่ๆ แก่พนักงานของตนเอง
แม้จะไม่มีใครล่วงรู้อนาคต แต่ทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ โดยผู้นำทั้งในระดับทีม ระดับองค์กรและระดับประเทศ มีหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมของการทำงานที่เข้าใจถึงความรู้สึกของพนักงาน และมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่นใจในการรับมือและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึง นอกจากนี้ ทักษะด้านสังคมและอารมณ์ (Soft skills) จะยังคงเป็นทักษะสำคัญที่องค์กรต้องการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่มนุษย์จะต้องทำงานควบคู่ไปกับเทคโนโลยีอย่างระบบอัตโนมัติ (Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) ในอนาคต
โดยพนักงานผู้ถูกสำรวจมากกว่า 3 ใน 4 กล่าวว่า ตนมีความพร้อมของทักษะด้านสังคมและอารมณ์ นำโดยทักษะในการปรับตัว (86%) ตามมาด้วยทักษะในการแก้ปัญหา (85%) ทักษะในการทำงานร่วมกัน (81%) และความฉลาดทางอารมณ์ (76%)
แม้จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่เข้ามาทำงานแทนที่ แต่เราพบว่า 73% ของผู้ถูกสำรวจมองเป็นเรื่องที่ดี ขณะที่ 37% รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นโลกของความเป็นไปได้ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 29% จากการสำรวจในปี 2014 โดยผู้ตอบในอินเดียกว่า 65% เชื่อว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาพัฒนา และช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 88%
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า พนักงานในอินเดียมีความมั่นใจต่อการมีทักษะด้านสังคมและอารมณ์มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะในการแก้ปัญหา (91%) และความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (88%)
สำหรับประเด็นในส่วนของการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างองค์กร และบุคลากร จากการสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของบุคลากรในองค์กรต่างๆ ยินดีให้องค์กรเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล โดยกว่า 37% ยินดีที่จะให้โปรไฟล์สื่อสังคมออนไลน์ของตนเองด้วย โดยเพิ่มขึ้นกว่า 31% จากในปี 2014 ที่ผ่านมา โดยส่วนมากที่ยินยอมเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ใน เจเนอเรชั่น Z (Gen Z) ซึ่งมีมากกว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ (Millennials)
ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ กล่าวเสริมว่า สำหรับประเทศไทย แม้ภาครัฐจะให้ความสำคัญและกำหนดนโยบายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา หรือ STEM education ในสถานศึกษา แต่ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากนัก ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐของไทยต้องทำงานร่วมกันในการพัฒนาและส่งเสริมสะเต็มศึกษาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
โดยภาคธุรกิจเองก็ต้องสะท้อนความต้องการของทักษะด้านนี้ รวมถึงสนับสนุนความก้าวหน้าในสายอาชีพดังกล่าว ส่วนภาครัฐต้องวางโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษา และการเพิ่มทักษะแรงงานยุคดิจิทัล เพราะทักษะนี้จะทำให้เกิดองค์ความรู้แบบบูรณาการ และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะเป็นการปูทางให้เด็กไทยสามารถเป็นนักออกแบบ
และนักแก้ปัญหารุ่นใหม่ได้ในอนาคต นอกเหนือจากนี้ นายจ้างและองค์กรต่างๆ ควรหันมาสร้างวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้คนทำงานได้แสดงออกมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้พูด แสดงความคิดเห็น หรือเสนอไอเดียใหม่ๆ ขณะที่คนทำงานเอง ก็ต้องหมั่นพัฒนาทักษะด้านสังคมและอารมณ์ไปด้วย เพราะเป็นทักษะที่เทคโนโลยีไม่สามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้
*** ผู้สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่
PwC Workforce of the future : The views of 10,000 workers <== Click
ส่วนขยาย
* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่