ไมโครซอฟท์ จับมือ ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดกิจกรรม Hour of Code Thailand มุ่งพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลสู่ยุค AI ตั้งเป้ามอบโอกาสแก่เยาวชนไทย เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้แนวปฏิ
Hour of Code Thailand
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม Hour of Code Thailand 2018 ส่งเสริมเยาวชนไทยพัฒนาทักษะทางดิจิทัลผ่านการเขียนโค้ดขั้นพื้นฐาน
และการเรียนรู้เพื่อสร้างรากฐานสู่นักพัฒนาในอนาคตในยุค AI first ตอกย้ำแนวคิด AI for Thais ในการวางรากฐานเยาวชนนำวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้ามาจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจาก AI กำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคมไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การส่งเสริมเยาวชนทุกคนให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดในยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้สำเร็จ ทั้งยังถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของโครงการ Coding Thailand หนึ่งในโครงการที่ไมโครซอฟท์ให้ความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนเขียนโค้ดหรือภาษาคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ในอนาคต ทั้งนี้รวมไปถึงการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่เยาวชน
โดยกิจกรรม Hour of Code 2018 ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เยาวชนไทยได้สัมผัสประสบการณ์การเขียนโค้ดดิ้งในบทเรียนใหม่ล่าสุด Minecraft Voyage Aquatic ผ่านการท่องโลกใต้บาดาลอีกด้วย
กิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 5,000 คน ซึ่งรวมถึงคุณครู ผู้ฝึกอบรมในโรงเรียน และผู้พิการจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรต่างๆ ที่มีความสนใจเรียนรู้ทักษะการเขียนโค้ดเข้าร่วมกิจกรรม
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถไม่ให้จำกัดอยู่เพียงแค่การ “ใช้” เทคโนโลยี แต่ยังจะช่วยให้สามารถ “สร้างสรรค์” เทคโนโลยี เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาบุคลากรคุณภาพอันแข็งแกร่งของประเทศในอนาคต
รัฐพร้อมสนับสนุนในการเรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล
ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การที่เยาวชนได้รับแรงสนับสนุนในการเรียนรู้นอกห้องเรียนเพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทั้งการสนับสนุนจากผู้ปกครองและคุณครู
ด้วยการส่งเสริมให้พวกเขาอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และลงมือทำ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ซึ่งวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ โครงการ Coding Thailand โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
ได้มีความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพด้านการช่วยเหลือประเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดีอย่างไมโครซอฟท์ และพร้อมที่จะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อร่วมกันจูงมือเยาวชนไทยสู่อนาคตและโอกาสในการทำงานที่ดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันความเติบโตของประเทศในอนาคต
ด้าน ปวิช ใจชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษาบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การศึกษาและการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสนับสนุนการเติบโตทั้งในระดับบุคคลและเชิงเศรษฐกิจในระดับประเทศ การอบรมสั่งสอนเยาวชนรุ่นต่อไป ครู และผู้ปกครองต่างมีบทบาทที่สำคัญ
ในการจุดประกายความสนใจด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ให้แก่นักเรียน ผ่านทักษะด้านการคิดเชิงคำนวณจากการเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่เพียงแค่ให้ความรู้เชิงเทคนิคแก่นักเรียน แต่ยังช่วยพัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหา ซึ่งล้วนแต่เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ครูจำนวนกว่า 1 ใน 3 คน ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิคยังรู้สึกว่าการพัฒนาเชิงอาชีพที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็มศึกษา ยังมีไม่เพียงพอในปัจจุบัน โดยเฉพาะการพัฒนาเชิงอาชีพด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์
และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เรามีความมุ่งมั่นในการมอบทรัพยากรและการฝึกอบรมที่จำเป็นให้กับครู เพื่อพัฒนาทักษะเพิ่มเติมในสาขาดังกล่าว ทั้งในและนอกโรงเรียน
การเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนในการรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของภาครัฐ ซึ่งได้สร้างสรรค์โครงการต่างๆ เพื่อมอบโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาแก่เยาวชนอย่างเท่าเทียมกันมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากที่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จะได้ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โครงการ Coding Thailand ในการจัดกิจกรรม Hour of Code Thailand 2018 นี้แล้ว ยังมีส่วนร่วมในโครงการ Coding Thailand ที่ได้นำแพลตฟอร์ม Microsoft Azure เข้ามาช่วย
พัฒนาห้องเรียนออนไลน์ www.CodingThailand.org เพื่อส่งเสริมการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือโค้ดร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ที่นำเสนอหลักสูตรและแหล่งความรู้คุณภาพสูงและล้ำสมัยจากเว็บไซต์ระดับสากลอย่างCode.org
โดยเนื้อหาจะถูกแปลและปรับให้เหมาะสมกับนักเรียน คุณครู และผู้ปกครองชาวไทย ทั้งสำหรับการเรียนรู้ในห้องเรียนและเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้กิจกรรม Hour of Code Thailand 2018 ยังได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์บันลือสาส์น บริษัท บีทามส์ โซลูชั่น จำกัด และทีจีเอ็มที สตูดิโอ ด้วยเช่นกัน
และเพื่อมอบโอกาสในการเรียนรู้การเขียนโค้ดขั้นพื้นฐานให้แก่เยาวชนด้วยเกมที่เป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนหลายล้านคนทั่วโลก ไมโครซอฟท์ ได้เปิดตัวโปรแกรมการฝึกเขียนโค้ดผ่านเกมที่มีชื่อว่า Minecraft ซึ่งปีนี้ส่งโปรแกรมการสอนฝึกเขียนโค้ดใหม่ออกมานั่นก็คือ
Minecraft Voyage Aquatic ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับเว็บไซต์ Code.org โดยโปรแกรมการสอนดังกล่าวจะแนะนำปริศนาในรูปแบบใหม่ทั้งหมดแก่ผู้เล่น ซึ่งพวกเขาจะต้องแก้ปริศนาเหล่านั้นด้วยใช้แนวคิดเชิงวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่สำคัญต่างๆ เช่น แนวคิดแบบวนซ้ำ (loops) และแนวคิดแบบเป็นเงื่อนไข (conditionals) เป็นต้น
โปรแกรมการสอนฝึกเขียนโค้ด Minecraft Hour of Code: Voyage Aquatic
ในโอกาสนี้ ลุงพี หรือ ภควัต ลือพัฒนสุข นักพากย์เกมชื่อดังขวัญใจเด็กๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรม Hour of Code Thailand 2018 เพื่อสร้างสีสันและแรงบันดาลใจ รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาการคอมพิวเตอร์กับน้องๆ ผ่าน Minecraft Voyage Aquatic ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
โดยน้องๆ ได้สัมผัสประสบการณ์ความสนุกจากการผจญภัยและหาขุมทรัพย์ในท้องทะเลด้วยการฝึกเขียนโค้ดจากโปรแกรม อีกทั้งยังเป็นเยาวชนคนกลุ่มแรกที่ได้พบกับ “ปังปอนด์” ตัวละครการ์ตูนไทยตัวแรกที่ถูกนำมาผสมผสานในหลักสูตรการสอนเขียนโค้ดเบื้องต้นกับโครงการ Coding Thailand
เพื่อสร้างความสนุกสนานในการเรียนรู้ที่ตรงใจเยาวชนไทยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คุณครูที่จบหลักสูตรกิจกรรมในงานดังกล่าว ยังได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากทางไมโครซอฟท์และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อรับรองถึงการผ่านการเรียนรู้การเขียนโค้ดขั้นพื้นฐาน โดยครูสามารถเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.CodingThailand.org
ส่วนขยาย
* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่