Blockchain

เทคโนโลยี Blockchain เป็นหนึ่งในสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรระดับโลก แล้วทำไมหลาย ๆ องค์กรถึงให้ความสนใจ เทคโนโลยีนี้จะมาช่วยยกระดับองค์กรได้อย่างไร มาหาคำตอบได้ในบทความนี้กัน

ในช่วงนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยี Blockchain เป็นนวัตกรรมหลายคนหันมาให้ความสนใจกันอย่างแพร่พลายมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของ Cryptocurrency ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พูดถึงในแง่มุมของเชิงการลงทุน (FinTech) ซะเป็นส่วนใหญ่

แต่แน่นอนว่าเทคโนโลยี Blockchain ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการลงทุนแต่เพียงเท่านั้น ในหลาย ๆ องค์กรชื่อดังระดับโลกก็ได้นำนวัตกรรมนี้เข้าไปปรับใช้กับให้เหมาะสม และเกิดประโยชน์ขึ้นกับในแต่ละองค์กรด้วยเช่นกัน

บทความเราจึงอยากมาพูดถึงเรื่องของเทคโนโลยี Blockchain กับเหตุผลที่ว่าทำไมองค์กรถึงควรนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้

Blockchain กับจุดเริ่มต้นเพื่อรองรับสกุลเหรียญดิจิทัล

แรกเริ่มเดิมที Blockchain ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการค้าขายผ่านสกุลเหรียญดิจิทัล โดยที่ “ไม่ต้องอาศัยคนกลาง” ในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมออนไลน์ และต่อมาได้ถูกพัฒนา แนวทางการทำงานของเทคโนโลยี Blockchain ไม่ได้ถูกใช้เพียงแค่รองรับสกุลเหรียญดิจิทัล แต่ยังช่วยเหลือธุรกิจ และองค์กรอีกมากมายด้วย

คำจำกัดความการทำงานของ Blockchain

แน่นอนว่าเทคโนโลยี Blockchain เป็นอะไรที่มีความซับซ้อน และค่อนข้างเข้าใจยาก แต่ถ้าให้นิยาม หรือจำกัดความในการทำงานเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายมากที่สุด การทำงานของ Blockchain คือการเก็บรวบรวมชุดข้อมูลกระจายกันเป็น Block โดยที่แต่ละชุดข้อมูลจะถูกส่งต่อผ่านในรูปแบบของโซ่ ที่จะเรียงร้อยข้อมูลทั้งหมดต่อกันไปเรื่อย ๆ โดยชุดข้อมูลเดิมที่เคยขึ้นใน Blockchain จะคงอยู่แบบนั้น และไม่สามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้

Blockchain กับการ Scalability Trilemma

Scalability Trilemma เป็นคำกล่าวจาก Vitalik Buterin ผู้สร้าง Ethereum ที่ได้พูดถึงโครงสร้างของเทคโนโลยี Blockchain ที่สร้างขึ้นว่าควรจะต้องมีคุณสมบัติทั้ง 3 ประการ

1. การกระจายอำนาจ (Decentralization)

คือการที่ไม่มีจุดศูนย์กลางในการควบคุม การตัดสินใจจะถูกทำ และกระจายผ่านเครือข่ายออนไลน์ หรือคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญของการกระจายอำนาจคือจะต้องมีความรวดเร็ว และการตรวจสอบความถูกต้องในการทำธุรกรรม

2. ความยืดหยุ่น (Scalability)

คือความสามารถในการรับมือกับธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการปรับขยายระบบให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เพื่อให้มีทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้เวลาในการทำธุรกรรมต่อครั้งได้กี่นาที กี่วินาที และทำได้มากสุดกี่รายการ ยกตัวอย่าง Bitcoin ทำได้ 7 ต่อวินาที Ethereum ทำได้ 30 ต่อวินาที บัตรเครดิต ทำธุรกรรมบัตรเครดิต 5,000 รายการต่อวินาที และสามารถประมวลผลได้มากขึ้นหากมีความจำเป็น

3. ความปลอดภัย (Security)

เทคโนโลยี Blockchain มีความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูง และสามารถป้องกันการโจมตีการทำธุรกรรมได้ แต่ด้วยความที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หลาย ๆ นักพัฒนา และองค์กรจึงหันไปให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ และความยืดหยุ่นซะเป็นส่วนใหญ่

เหตุผลสำคัญที่ว่าองค์กรยุคใหม่ควรใช้ Blockchain

อย่างที่กล่าวไปว่าเทคโนโลยี Blockchain ไม่ได้จำกัดในเรื่องของ FinTech ในปัจจุบัน Blockchain ก็ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ การเงิน ประกันภัย การขนส่ง การค้าปลีก การสื่อสารและการโฆษณา เกม น้ำมัน ปิโตเลียม เป็นต้น และประโยชน์ของเทคโนโลยี Blockchain ที่จะพูดต่อไปนี้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมองค์กรยุคใหม่ถึงควรนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน

1. ต้นทุนต่ำ

ในการทำธุรกรรมแบบเดิม เราจะต้องมีตัวกลางมาถ่ายโอนข้อมูลไปยังอีกคลังข้อมูลหนึ่ง และจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง แต่กับเทคโนโลยี Blockchain องค์กรจะสามารถลดค่าธรรมเนียมตัวกลางลงไปได้ เนื่องจากสามารถส่งข้อมูลได้โดยตรงแบบที่ไม่ต้องผ่านตัวกลาง

2. มีความโปร่งใส

เทคโนโลยี Blockchain เป็นซอฟต์แวร์แบบ Open Source นั่นหมายความว่าไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงข้อมูล หรือการทำธุรกรรมได้ รวมไปถึงการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังที่ต้องการความโปร่งใส เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร

3. รวดเร็ว-สะดวกสบาย

ระบบเทคโนโลยี Blockchain เอื้ออำนวยความสะดวกสบายในการทำทำธุรกรรมเป็นอย่างมาก เพราะไม่ต้องทำผ่านตัวกลาง ซึ่งเป็นการลดขุ้นตอนการทำงาน ให้เกิดความสะดวกสบาย และรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับองค์ที่ต้องการความรวดเร็วในการทำธุรกรรม

4. สร้างความปลอดภัย

เพราะข้อมูลที่อยู่ในระบบ Blockchain ไม่สามารถกลับไปแก้ไขข้อมูลได้ ถ้าไม่ได้รับมติที่เป็นเอกฉันท์บนเครือข่ายระบบว่า สามารถแก้ไขข้อมูลได้ ซึ่งทำให้ข้อมูล หรือการธุรกรรมจึงมีความปลอดภัยที่สูง เพราะข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดเก็บอยู่ภายในระบบบน Blockchain

การใช้งาน Blockchain ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

Cryptocurrency : สร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล เพื่อให้การโอนเงินเข้าจากกระเป๋าสู่อีกกระเป๋า ไม่ต้องผ่านธนาคาร ตัวอย่างสกุลเงินดิจิทัล ได้แก่ Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH) Polkadot (DOT), NEO, Cardano (ADA), Tether (USDT), Binance Coin (BNB) และ Litecoin (LTC)

ธนาคาร : เทคโนโลยี Blockchain มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในหลาย ๆ ธนาคาร เพื่อไปช่วยทำให้ระบบหลังการชำระเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขนส่งและโลจิสติกส์ : มีการใช้ Blockchain เพื่อบันทึก และติดตามที่มาของสินค้า การบริการ และแยกข้อมูลบัญชีแบบ Open Source เพื่อให้ง่ายต่อการติดตาม

การแพทย์และสุขภาพ : นำไปปรับใช้ในเรื่องของการชำระค่าบริการของผู้ป่วย และจัดเก็บข้อมูลทางการแพทย์เพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยสามารถเข้ามาดูประวัติการรักษาได้ แม้กระทั่งนำไปใช้ในการวินิจฉัยโรคได้เช่นกัน

อสังหาริมทรัพย์ : จัดเก็บ และตรวจสอบข้อมูลของเจ้าของสินทรัพย์ เพื่อป้องกันการแอบอ้าง เพราะ Blockchain มีความถูกต้อง และปลอดภัยสูง ทำให้เราสามารถยืนยันความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ได้ง่ายมากขึ้น

ประกันภัย : ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล แชร์เอกสาร เพื่อความรวดเร็ว และปลออดภัย ป้องกันปัญหาที่เกิดจากการทุจริต ผู้เกี่ยวข้อสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเปิดเผย

แคมเปญโฆษณา : ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการจัดทำแคมเปญโฆษณาอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้

ยานยนต์ : เก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ และปรับปรุงความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการพัฒนารถยนต์ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้แบบไร้คนขับ

อุตสาหกรรมบันเทิง : ในที่นี้รวมทั้งงานศิลปปะทุกแขนง งานเพลง ภาพยนตร์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ การใช้ Blockchain จะช่วยลดช่องว่างของปัญหาลิขสิทธิ์ เพราะผู้บริโภคสามารถจ่ายเงินให้กับผู้ขายได้โดยตรง ทำให้ได้รับผลตอบแทนมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างองค์กรที่ใช้งาน Blockchain ในปัจจุบัน

Microsoft มีการใช้เทคโนโลยี Blockchain ที่ชื่อว่า Azure Blockchain Service เพื่อเชื่อมต่อระบบการทำงานภายในองค์กรให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Facebook มีโปรเจค Diem เมื่อก่อนเคยใช้ชื่อว่า Libra ที่เป็นสกุลเหรียญดิจิทัล ที่จะถูกพัฒนาเพื่อมาอำนวยความสะดวกสบายในการทำธุรกรรม ให้มีการชำระเงินที่ถูก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

Tesla ได้นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้สำหรับการติดตาม และการตรวจสอบชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในโรงงาน ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องได้อย่างตลอดเวลา ป้องกันการผลิตที่ผิดพลาดได้

AIA Group มีการนำ Blockchain มาใช้ในการแชร์ข้อมูลภายในองค์กร และจัดเก็บข้อมูลเพื่อความปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถนำเคสของในแต่ละประกันมาประเมินร่วมกันบนระบบได้

Barclays หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ในองค์กรมีการนำ Blockchain มาใช้ในกระบวนการโอน หรือโยกย้ายเงินทุน เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการขนย้าย และยังสามารถให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบทำงานได้อีกด้วย

Walmart ซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ได้นำ Blockchain มาใช้ในการติดตาม ตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า และอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคที่มาสินค้าได้สามารถตรวจสอบก่อนตัดสินใจซื้อ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าสินค้ามีคุณภาพ และผ่านการตรวจสอบมาอย่างดี

Pfizer บริษัทผลิตยาชื่อดังของสหรัฐอเมริกา มีแนวคิดในการนำ Blockchain มาติดตาม-ตรวจสอบทางด้านเภสัชกรรม คอยติดตามการจัดส่งยา บันทึกเอกสารการเคลื่อนไหวของยา ให้ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบการทำงาน และสามารถรักษาความลับทางการแพทย์ได้ เพราะจะไม่สามารถมีใครมาเปลี่ยนแปลงข้อมูลบนระบบ

Forbes นิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจและการเงินของสหรัฐอเมริกา มีการใช้ Filmchain ที่เป็นระบบของ Ethereum บน Blockchain เพื่อจัดทำ และรวบรวมงบประมาณ ในการทำสื่อโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง Filmchain นับว่าเป็นระบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมบันเทิง

ที่มา [1] [2] [3] [4] [5]