คุณทราบหรือไม่ว่า สมาร์ทโฟนกำลังแย่งเวลาในชีวิตเราโดยที่เราไม่รู้ตัว เนื่องจากในปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า สมาร์ทโฟนได้เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ สังเกตได้จากจำนวนสมาร์ทโฟนที่คนไทยกำลังใช้อยู่ในเวลานี้มีจำนวนมากกว่าหนึ่งร้อยล้านเครื่อง และ คนไทยมีการใช้ Facebook ถึง 47ล้านบัญชี ซึ่ง 46 ล้านบัญชีถูกใช้งานจากสมาร์ทโฟน คิดเป็น 97.86%
จากข้อมูลวิจัยหลายสำนักพบว่าคนไทยใช้เวลากับสมาร์ทโฟนเฉลี่ย 6 ชั่วโมงต่อวัน และมีการใช้งาน Mobile App ยอดฮิต ได้แก่ Facebook , YouTube และ Line นานหลายชั่วโมงต่อวันเช่นกัน ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงสภาพ “สังคมก้มหน้า” ได้อย่างชัดเจน เราจึงไม่ค่อยได้เห็นภาพครอบครัวมารวมตัวกันหน้าจอโทรทัศน์แบบในอดีต
หากแต่สมาชิกในครอบครัวทุกท่านล้วนมีโลกส่วนตัวกับสมาร์ทโฟนและสามารถเลือกที่จะเสพสื่อหรือข้อมูลที่ตนเองสนใจและต้องการอ่าน/ชม/ฟัง ตามสไตล์ของแต่ละคน โดยหลายท่านใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่รู้ตัว
เบื้องหลังการที่เราใช้เวลาในชีวิตส่วนใหญ่กับสมาร์ทโฟนนั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการที่มนุษย์ด้วยกันได้ออกแบบสมาร์ทโฟนและ Mobile Application ให้ดึงดูดผู้ใช้ให้คอยใช้เวลาในชีวิตอยู่กับ Mobile Application อยู่กับหน้าจอบนสมาร์ทโฟนให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งผู้ใช้ใช้เวลาอยู่กับ Mobile Application ได้นานเท่าไหร่ บริษัทที่ทำ Mobile App นั้นยิ่ง “Make Money” ได้มากขึ้นเท่านั้น
การประเมินมูลค่าบริษัทในซิลิคอนวัลเลย์ มูลค่าหลายบริษัทถูกประเมินจาก “เวลา” ที่ Mobile Application ของบริษัทนั้นสามารถดึงดูดผู้ใช้ให้อยู่กับหน้าจอของ Mobile Application นั้นๆให้นานที่สุดเท่าที่จะมีได้ เพื่อที่จะใช้โฆษณาและส่งข้อมูลต่างๆที่ “เขา” อยากให้ “เรา” เห็น ไม่ใช่ข้อมูลที่ “เรา” ต้องการเห็น
ดังนั้นทุกวันเราจึงถูก “ยัดเยียด” ข้อมูลโฆษณาข่าวสารต่างๆเข้าสมองของเราโดยผ่านทางประสาทตาที่คอยจับจ้องไปที่หน้าจอของสมาร์ทโฟนตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยว่าสมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือในการนำเสนอข่าวสารที่ “เขา” อยากให้ “เรา” เสพโดยที่เราอาจถูกเปลี่ยนความคิด ความเชื่อจนไปถึงความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการไปอย่างสิ้นเชิง
ในมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง Stanford University มีวิชาและห้องทดลองเกี่ยวกับ “Persuative Tech LAB” เพื่อให้นักพัฒนา Mobile App สามารถออกแบบอย่างไรให้คนเข้ามาใช้ Mobile App ของตนอยู่ตลอดเวลา ทุกวันนี้เราจะเห็นสัญญาณบอลลูน “Red Alert Notification” อยู่เป็นประจำบนหน้าจอสมาร์ทโฟน เป็นการบ่งบอกว่าวันนี้มีคนมา “Like” Facebook Post ของเรากี่คน
สังเกตได้จาก Instagram จะขึ้น Alert มาทีละครั้งต่อหนึ่ง Post เพื่อให้เราเข้าไปดูอย่างต่อเนื่องใน Post อื่นๆ และ YouTube หรือ NetFlix แม้กระทั่ง Facebook Video จะมี Feature “Auto Play” ให้เราดูวีดีโอบน YouTube ไปเรื่อยๆทุกสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการจงใจ “ออกแบบ” (By Design) ให้เราติดกับสมาร์ทโฟนแบบงอมแงมโดยที่เราไม่รู้ตัว ผมเองก็เป็นเหยื่ออีกคนหนึ่งที่เหมือนกับทุกท่านทั่วไปที่สมองสั่งการให้เช็คหน้าจอสมาร์ทโฟนเป็นระยะๆ โดยจากสถิติคนเราเช็คหน้าจอสมาร์ทโฟนวันละ 150 ครั้งต่อวัน
การที่ผู้ออกแบบ Mobile App ของสมาร์ทโฟนต้องออกแบบให้ดึงเวลาในชีวิตของผู้คนให้มากที่สุด เกิดขึ้นเพราะการแข่งขันทางธุรกิจที่เรียกว่า การแย่ง “Attention Span” คำว่า “Attention Span” หมายถึง เวลาเฉลี่ยที่มนุษย์ในศตวรรษยี่สิบเอ็ดใช้ในการให้ความสนใจเสพสื่อข้อมูลข่าวสารต่างๆ
ซึ่งสถิติจากปี 2000 พบว่ามนุษย์ใช้เวลา Attention Span เฉลี่ยประมาณ 12 วินาที ส่วนเจ้าปลาทองมี Attention Span 9 วินาที (เป็นที่มาของคำว่า ความจำปลาทอง) ก่อนที่มันจะลืมและไปสนใจสิ่งอื่น ผ่านไปสามปี พบว่า Attention Span ของคนเราลดเหลือเฉลี่ยประมาณ 8 วินาที น้อยกว่าความเจ้าจำปลาทองเสียอีก ซึ่งมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะลดลงเหลือเพียง 5 วินาทีเท่านั้นหรือต่ำกว่า
นั่นแสดงให้เห็นว่าสื่อทุกสำนักจึงจำเป็นต้องเอาตัวรอดโดยสร้างความสนใจให้กับ “Content”ของตนให้ได้ภายในเวลา 5-8 วินาทีแรก จะสังเกตจากพาดหัวสื่อต่างๆในโซเชียลมีเดียมักจะมีตัวอักษรสีแดงตัวใหญ่ๆกำกับรูปภาพข่าวเสมอ และ มีการใช้ภาษาที่แรงถูกใจวัยรุ่นเพื่อดึงดูดให้หลายคนเข้าไปอ่านพาดหัวข่าว และรีบแชร์ต่อ โดยที่ยังไม่ได้เข้าไปอ่านเนื้อหาของข่าวเลยด้วยซ้ำไป
ทางออกของปัญหา
ในโลกแห่งความเป็นจริงเราสามารถควบคุมตัวของเราเองได้เมื่อเราได้ทราบข้อเท็จจริงเรื่องเวลากับการใช้งานสมาร์ทโฟนดังกล่าวเพื่อที่เราจะได้ไม่ตกอยู่ในความควบคุมจิตใจของสามบริษัทยักษ์ใหญ่ในซิลิคอนวัลเลย์
ซึ่งผมคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าเป็นบริษัทอะไร ท่านผู้อ่านก็คงจะพอเดาได้ เริ่มจากการจับเวลาวัดสถิติการใช้งานสมาร์ทโฟนของเราในชีวิตประจำวันแต่ละวันด้วยโปรแกรม Mobile App ที่อยู่ใน App Store และ Play Store ที่เราคุ้นเคย
โดยโปรแกรมเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้เราเห็นสภาวะที่เราอยู่กับสมาร์ทโฟน และ Mobile App ต่างๆในแต่ละวัน เพื่อที่เราจะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้งานสมาร์ทโฟนเพื่อให้มีเวลาอยู่กับมนุษย์ด้วยกัน อยู่กับคนในครอบครัว กับคนที่เรารักและคนที่เขารักเรามากขึ้น ได้ใช้เวลาชีวิตอยู่กับมนุษย์มากกว่าอยู่กับสมาร์ทโฟน
การที่เราใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนเปรียบเสมือนการที่เราเข้าไปอยู่ใน “The Matrix” ในบทความที่ผมเคยนำเสนอเรื่อง Cyber Sovereignty หรือ อธิปไตยไซเบอร์มาแล้ว
โปรแกรมจับเวลาวัดสถิติการใช้งานสมาร์ทโฟนของเราในชีวิตประจำวันแต่ละวันดังกล่าว ยกตัวอย่าง เช่น “QualityTime” บน Android และ “Moment” บน iOS ซึ่ง Mobile App ดังกล่าวจะตรวจสอบการใช้งานสมาร์ทโฟนของเรา ว่าเราใช้เวลาไปกี่ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้เราสามารถบริหารเวลาและลดเวลาในการใช้งานสมาร์ทโฟนในแต่ละวันลง
วิธีการอื่นๆในการบริหารเวลาที่ดี เช่น การปิด Notification การไม่ใช้มือถือแทนนาฬิกาปลุก การปิดเครื่องในขณะนอนหลับหรือปลีกวิเวกจากมือถือบ้างในบางเวลา ตลอดจนการฝึกนิสัยที่ไม่มีมือถือเราก็ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปเราจะสังเกตได้ว่า “Content” ที่มาจาก News Feed จากโปรแกรมโซเซียลต่างๆ ในแต่ละวันได้ถูกนำเสนออย่างมีนัยยะและตั้งใจให้เรา “เห็น” โดยมีผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจแอบแฝง เราจึงควร “รู้เท่าทัน” และเล่นบทเป็น “ผู้กำหนด” ว่าเรา “อยากจะเห็น” หรือ “ไม่อยากเห็น” ด้วยตัวของเราเอง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเรียกร้อง “อธิปไตยไซเบอร์” ของเรากลับมาเสียที ….