สตาร์ทอัพ

คำพูดที่ที่ว่าไม่มีใครแก่เกินที่จะเรียนรู้ถ้าจะจริงเสียแล้ว หลังล่าสุดวงการ สตาร์ทอัพ ต้องสะเทิอนด้วยสุดยอดแนวคิดจากพลังคนรุ่นใหญ่วัย 50+ ที่โดดเข้าวงการโชว์ศักยภาพพลังของวัยเก๋า แต่จะเป็นอะไรกันบ้างลองไปอ่านกันเลย…

highlight

  • นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องของคนรุ่นใหม่ เท่านั้น เพราะเพียงแค่มีแนวคิด และใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามารวมผสานกันก็จะได้สิ่งใหม่ ๆ เหมือนเช่นเดียวกับสิ่งที่ สตาร์ทอัพ 3 ราย ที่ไม่ปล่อยให้อายุท่ีเกิน 50 มาเป็นสิ่งกีดขวางในการสร้างสรรค์จนออกมาเป็น ธุรกิจ ได้

สตาร์ทอัพ วัย 50+ มาแล้ว!! รุ่นเล็กหลีกทางหน่อย

เอาจริง ๆ หลังจากที่ได้ข้อมูลเรื่องดังกล่าวนี้ทำเอาผู้เขียนถึงกลับอดใจไม่ไหวว่า มีคนอายุ 50 อัพ สนใจในวงการ สตาร์ทอัพ(Start-Up) มากขนาดไหนกันเชี่ยว แต่หลังจากที่ได้พูดคุย ก็ถึงต้องเปลี่ยนความคิด เพราะแต่ล่ะท่านไม่ธรรมดาจริง ๆ 

ก่อนอื่นเราคงต้องงยอมรับว่ายุคนี้เป็นยุคของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่สามารถเรียนรู้วิทยาการใหม่ ๆ ได้รวดเร็ว และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังผันตัวเป็นเถ้าแก่ ธุรกิจเทคโนโลยี และทำได้ดีไม่แพ้กับเหล่าวัยรุ่น นั่นก็คือ กลุ่มคนวัยกลางคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่กำลังตื่นตัวและเข้ามามีบทบาทในแวดวงดังกล่าว

ซึ่งในยุคที่พลเมืองสูงวัยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มคนเหล่านี้กลับกลายเป็นกลุ่มที่นา่สนใจ แต่คำถามคือพวกเค้าเหล่านี้ควรได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังหรือไม่ หรือควรปล่อยให้เด็กรุ่นใหม่ทำกันไป แต่ก่อนที่จะตัดสินใจว่าควรจะเป็นอย่างไรเราลองไปอ่านสิ่งที่ “วัยเก๋า” ได้คิดนำเสนอกันก่อน

สตาร์ทอัพแดนใต้วัยเก๋า ผู้พัฒนาระบบเพาะพันธุ์ตัวอ่อนปลิงขาวบนบก พร้อมการจ้างงานกว่า 200 อัตรา

เริ่มจาก ระบบเพาะพันธุ์ตัวอ่อนปลิงขาวบนบก ครับ มาถึงตรงนี้ผู้อ่านคงคิ้วชนกันว่าอะไรนะ!! อ่านไม่ผิดครับ ระบบเพาะพันธ์ครับ แล้วมันคืออะไร คงต้องให้ท่านผู้บริหารอย่าง ลือพงษ์ อ๋องเจริญ” ผู้ประกอบการจากบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง วัย 71 ปี มาอธิบายกัน 

สตาร์ทอัพ

โดย ลือพงษ์ อ๋องเจริญ เล่าว่า ได้พัฒนานวัตกรรมระบบปิดสำหรับการเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนปลิงขาวบนบกแบบครบวงจรขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการลดลงของปลิงขาวซึ่งเป็นทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญของจังหวัดสตูล พังงา ระนอง และตรัง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤติ ปริมาณที่ชาวประมงจับได้ลดลงไปถึง 90%

เมื่อเทียบกับในอดีต สาเหตุมาจากทั้งขาดการอนุรักษ์ การเก็บมาจำหน่ายแบบไม่ควบคุม เนื่องจากราคาขายที่สูงถึงกิโลกรัมละ 2,500 บาท รวมถึงความต้องการในกลุ่มผู้บริโภคต่างชาติทั้งจีน ฮ่องกง เกาหลี และไต้หวัน ที่นิยมบริโภคเพราะความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาโรคบางชนิด และการเพิ่มสมรรถทางเพศ

บริษัทจึงได้พัฒนานวัตกรรมดังกล่าวมาทั้งสิ้น 2 ปี  โดยใช้วิธีการกระตุ้นให้เกิดการวางไข่ตามเวลาที่ต้องการการกระตุ้นด้วยความร้อน การใช้ความกดดันน้ำ การใช้วิธีทำให้แห้ง และการกระตุ้นโดยใช้อาหาร ซึ่งควบคุมปัจจัยด้าน ความเค็มของน้ำ อุณหภูมิ แสง อาหาร และวัฏจักรของดวงจันทร์

สตาร์ทอัพ

ซึ่งการเลี้ยงในระบบนี้จะเพิ่มอัตราการรอดของลูกปลิงขาวจากไข่ถึงลูกปลิงวัยอ่อนประมาณ 50% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตรารอด 0.01%-0.05% ในแหล่งน้ำทะเลธรรมชาติ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นการส่งเสริมการปล่อยคืนสู่ทะเลเพื่อเพิ่มปริมาณปลิงขาวในทะเล เป็นทรัพยากรประมงพื้นถิ่นให้กับชาวประมงในพื้นที่ในอนาคต

ก่อให้เกิดการจ้างงานได้กว่า 200 อัตรา และยังทำให้มูลค่าของปลิงขาวเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ถึง 7,000 บาท ต่อกิโลกรัม เลยทีเดียว และแม้จะดำเนินกิจการดังกล่าวมาได้เพียง 2 ปี แต่ท่านได้ใช้องค์ความรู้ประสบการณ์จากการรับราชการกรมป่าไม้ ที่รู้ถึงจุดเด่นจุดด้อย

ปัจจัยสิ่งแวดล้อม และปัญหาของชุมชนในจังหวัดสตูลทั้งหมด 10 ปี มาบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ นำนโยบายรัฐบาลยกระดับเศรษฐกิจฐานรากเพราะรู้ว่าชุมชนเราประสบปัญหาด้านใด อย่างเช่น ก่อนที่จะส่งเสริมให้เพาะปลิงขาวทะเล ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำบ่อกุ้งกัน ผลผลิตและงบประมาณที่ใช้ก็มีเยอะกว่า

ความเสี่ยงด้านการตลาดก็มีมากกว่า จากการที่ได้อยู่กับชาวบ้านและทำงานเชิงพื้นกับชุมชนเราจึงได้ดึงศักยภาพปรับเปลี่ยนให้ชาวบ้านหันมาเพาะพันธุ์ปลิงทะเลขาวกันมากขึ้นเนื่องจากใช้เวลาน้อยกว่า เลี้ยงง่าย และสร้างมูลค่าได้มากกว่า

Buildon โปรแกรมประเมินศักยภาพพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

เราอาจจะเคยได้ยินกันว่ามรดกทางวัฒนธรรม นั้นมีมูลค่า และประเมินค่าไม่ได้ แต่ใครจะคิดว่ามีคนคิดว่ามันสามารถประเมินมูลค่าให้กับศิลปะวัฒนธรรมได้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาอนุรักษ์ และยอมลงทุนบำรุงรักษา เพื่อรักษาสิ่งที่เป็นมรดกของชาติเอาไว้

สตาร์ทอัพ

โดยท่านที่กล่าวคือ ฟูปัญญา ว่องไววิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวดอน จำกัด ซึ่งในวัย 50 ปี ท่านเล่าว่า จุดมุ่งหมาย หรือเป้าหมายคือการ ตอบโจทย์การปรับปรุง และพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้นกว่าแพลตฟอร์มของหน่วยงานภาครัฐที่ใช้ในปัจจุบัน

โดยอาศัยเทคโนโลยี Web/Mobile application มาช่วยคิดวิเคราะห์ระดมความคิด ประเมิน และระดมการลงทุนเพื่อยกระดับแหล่งโบราณคดี โดยได้นำร่องไปที่ เมืองเก่าศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ศาลากลางเดิม จังหวัดลำพูน และเมืองน่าน จังหวัดน่าน

และนำเม็ดเงินที่ได้ไปแก้ไขปัญหา และปรับปรุงให้เกิดประโยชน์จากอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของชุมชน โดยการใช้นวัตกรรมในการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถใช้สำหรับประเมินศักยภาพในเชิงพื้นที่ การระดมความคิดเห็นพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและสังคมและระดมทุนเพื่อหากำไรในอนาคต

โดย ฟูปัญญา ว่องไววิทย์ ยังให้ความเห็นอีกว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ซึ่ง 30 ปีที่ตนทำงานด้านนี้มา ได้เอาประสบการณ์โดยตรงจากการเป็นสถาปนิกอนุรักษ์มาปรับกับการพัฒนาธุรกิจให้ตอบสนองต่อความต้องการทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะถ้าไม่ใช่คนที่ทำงานด้านนี้โดยตรงก็จะไม่เข้าใจ และไม่เข้าถึงแก่น

หรือไปถึงปัญหาในระดับที่จะสามารถตอบโจทย์ของโครงการได้จริงๆ นอกจากนี้ ข้อได้เปรียบของการเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหญ่ที่ต่างจากสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ก็คือ การมีประสบการณ์ที่ตรงและยาวนานจะช่วยให้มองเห็นถึงปัญหาต่างๆ และนำมาแก้ไข

ซึ่งแน่นอนว่าคนรุ่นใหม่จะต้องอาศัยเวลาในการ หาประสบการณ์ต่างๆ การเรียนรู้ที่มีการผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะมีความเชี่ยวชาญ ส่วนคนที่เป็นรุ่นใหญ่หรือมีประสบการณ์แล้วก็จะสามารถจัดระเบียบ วางแผนการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

ประสบการณ์ Recruit คนกว่า 20 ปี สู่ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม The Job ช่วยหางานง่ายเพียงปลายนิ้ว

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีของการใช้ประสบการณ์ มาผสานรวมเข้ากับแพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้ คนหางาน และบริษัทฯ หาคน เจอกันอย่างง่าย ๆ แต่เพียงปลายนิ้ว โดย วิยะดา ฐานวีร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เดอะจ็อบ จำกัด วัย 50 ปี เล่าว่า  The Job เป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้คุณหางานที่ใช่ด้วย ระบบจับคู่งานอัจฉริยะ

สตาร์ทอัพ

แตกต่างจากแต่ก่อนที่เราต้องมานั่งเซิร์ชหางานเอง เพียงลงประวัติไปในระบบก็สามารถจับคู่งานที่เราต้องการ ไม่ใช่แค่คนที่หางาน แต่คนที่กำลังหาลูกจ้างก็สามารถหาลูกจ้างได้เช่นกัน โดยจะระบบจะหาและจับคู่ (Match) ทั้งลูกจ้างและงานที่เราอยากได้ไว้ด้วยกัน

ซึ่งสามารถระบุความต้องการ โลเคชั่นในการทำในงาน และสามารถเซิร์ชหาทุกคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับงานโดยไม่ขาดตกแม้แต่งานเดียว ทั้งนี้ ระบบของ The Job ยังช่วยให้การหางานไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของใครของมัน แต่ยังสามารถแชร์งานที่เราได้ให้กับเพื่อน ๆ

หรือแนะนำแชร์ข้อมูลต่างๆภายใต้โปรไฟล์ ที่หน้าจะตาจะคล้ายๆกับเฟสบุ๊คในการแชร์เรื่องราวการทำงาน สมัครงาน การเตรียมตัวหรือเป็นการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้ นอกจากนี้ ทางบริษัทยังได้วิเคราะห์ว่า ใน 1 ปี จะมีเด็กจบใหม่อยู่ประมาณ 4 แสนคน ซึ่งระบบ The Job จะเข้ามาช่วยลดอัตราการว่างงานได้ถึง 20%

สตาร์ทอัพ

โดยตนได้ทำงานด้านการ recruit คนมามากว่า 20 ปี จึงทำให้ได้เห็นปัญหาของคนสมัครงาน และการจ้างงาน จึงเข้าถึงคนที่ประสบปัญหาและเข้าไปแก้ไขอุปสรรคได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ข้อดีของการเข้ามาเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหญ่ก็คือ รู้ว่าผู้ใช้งานของเรามีความต้องการแบบไหน รู้ว่าเขาตามหาสิ่งไหนเป็นพิเศษ

จึงเป็นข้อได้เปรียบในการเจาะกลุ่มเป้าหมายและความต้องการได้ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการเปิดรับความคิดเห็น ไอเดีย หรือมุมมองจากเด็ก รุ่นหลังๆ เนื่องจากกลุ่มคนพวกนี้มีความคิดสร้างสรรค์ และก้าวทันเทคโนโลยีเป็นอย่างดี เราจึงต้องเปิดรับเด็กรุ่นใหม่เข้ามาช่วยทำให้ระบบจับคู่งานอัจฉริยะของ The Job มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

รุ่นใหญ่ ไม่แพ้ รุ่นใหม่!!

จากการสอบถาม ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันคนรุ่นเก่าตั้งแต่เจเนอเรชั่น Builders (อายุ 73+), Baby Boomers (อายุ 55 – 72) รวมถึง Gen X (อายุ 38 – 54) ก็มีความตื่นตัวด้านนวัตกรรมไม่น้อยเลย

ซึ่งในความเป็นจริง “ผู้ประกอบการรุ่นใหญ่” ก็มีแนวคิดการทำธุรกิจนวัตกรรมที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์สังคมไม่แพ้กับ “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่” อีกทั้งยังมาพร้อมกับประสบการณ์ และคอนเนคชั่น ทำให้โมเดลธุรกิจของพวกเขานั้นมีความน่าสนใจ เป็นประโยชน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การสร้างคุณค่าให้กับสังคม

สตาร์ทอัพ

ต่อเนื่องไปจนถึงการสร้างงานสร้างอาชีพ นอกจากนี้ ยังพิสูจน์ให้เห็นอีกว่าอายุที่มากขึ้นไม่ใช่อุปสรรคหรือปัญหาในการเริ่มต้น เพราะเพียงแค่รู้จักสรรหาโอกาสและเติมช่องว่างที่ยังขาดก็สามารถประสบความสำเร็จได้ชนิดที่ไม่มีคำว่า “สายเกินไป”

อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการหลายคนอาจจะกลัวเรื่องของการทำเริ่มต้นทำธุรกิจเมื่อตอนที่อายุมากขึ้น แต่ข้อดีของการทำธุรกิจในวัยเก๋าจริงๆแล้วก็มีความน่าสนใจหลายประการทั้ง การมีองค์กรภาครัฐและเอกชนที่ช่วยสนับสนุนและเตรียมพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

เช่น หน่วยงานด้านส่งเสริมผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน มีความกล้าตัดสินใจและเผชิญกับปัญหา เนื่องด้วยเป็นวัยที่ผ่านการเรียนรู้และการตัดสินใจอะไรมามาก รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรทำให้ตัดสินใจทันทีโดยไม่ลังเล นอกจากนี้ ยังมีข้อได้เปรียบในการรู้จักคนที่กว้างขวางกว่า ทำให้ได้เปรียบในเรื่องของการทำธุรกิจ

เช่น พันธมิตร หุ้นส่วน ที่ปรึกษา และอดีตเพื่อนร่วมงานในหลากหลายสาขา รวมทั้งการมีประสบการณ์ทั้งการดำเนินชีวิต การทำงาน และผ่านการรู้จักกลุ่มบุคคลในหลากหลายประเภท ที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น

และวันนี้ผู้ประกอบการรุ่นใหญ่ที่มีแนวคิดการทำธุรกิจนวัตกรรมเจ๋งๆไม่แพ้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยกลุ่มคนต้นแบบเหล่านี้ ได้รับการสนับสนุนจาก NIA เช่นเดียวกัน ในอีกแง่มุม ถือเป็นประโยชน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การสร้างคุณค่าให้กับสังคม ต่อเนื่องไปจนถึงการสร้างงานสร้างอาชีพที่ไม่จำกัดเรื่องวัยอีกด้วย

ในโอกาสครบรอบขวบปีที่ 10 ของการเป็นองค์การมหาชน NIA มุ่งเดินหน้าสู่การเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนบริษัท องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมของประเทศ ผ่านกลไก และการประสานงานให้เกิดการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในฐานะผู้ประสานระบบ (System Integrator)

เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการได้รับการสนับสนุนให้กับเยาวชน นักศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้สนใจการพัฒนานวัตกรรมทุกระดับ นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ INNOVATION NATION หรือประเทศแห่งนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อการวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการและผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่