หนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลคือการมีผู้นำขององค์กรและพนักงานที่มี ทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งความหลากหลายของนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลก็มีส่วนเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลด้วยเช่นกัน
การทำความเข้าใจถึงกลุ่มทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็น โดยเฉพาะสำหรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 ให้ประสบความสำเร็จจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลพยายามที่จะเน้นเรื่องของ Thailand 4.0 ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การเตรียมความพร้อมบุคลากรในอนาคตต้องรองรับกลุ่มที่เป็นนักวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและคนทั่วไปที่เป็นผู้ใช้ที่ต้องมีทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง หรือพลเมืองดิจิทัล
การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลจึงเป็นประเด็นหัวข้อสำคัญสำหรับการอภิปรายในขณะนี้สำหรับทุกองค์กรที่ไม่ต้องการจะตกรถไฟความเร็วสูงขบวนพิเศษนี้ การเกิดขึ้นของนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่นั้นมักจะก่อให้เกิดกระบวนการพลิกผันทางเทคโนโลยีและส่งผลกระทบต่อองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้เกิดพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงวิธีที่องค์กรต้องแข่งขัน สร้างคุณค่า และมีส่วนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจและลูกค้าขององค์กร
การทำงานแบบใช้แรงงานและใช้ความรู้เริ่มมีแนวโน้มที่จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความก้าวหน้าและความชาญฉลาดของซอฟต์แวร์และปัญญาประดิษฐ์ทำให้เครื่องจักรสามารถเรียนรู้เพื่อที่จะทำงานแบบอัตโนมัติด้วยความชาญฉลาดมากขึ้นจนสามารถทำงานเทนมนุษย์ได้เร็วกว่าและมีคุณภาพกว่าที่มนุษย์ทำ
การคุกคามองค์กรจากเทคโนโลยีดิจิทัล
จากการศึกษาในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นผู้นำทางการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลได้คาดการณ์ให้เห็นว่าตำแหน่งงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น งานด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้านประกันภัย ด้านสถาปัตย์ ด้านอุตสาหกรรมการเงิน ด้านทรัพยากรมนุษย์ การตลาดและการโฆษณา ครูและอาจารย์ ผู้สื่อข่าว ทนายความ และการบังคับใช้กฎหมาย กำลังจะถูกซอฟต์แวร์หรือหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนถึง 1 ใน 4 ของตำแหน่งงานทั้งหมดที่มีภายในอีกไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้
อุปมาที่มักใช้บ่อยในการอภิปรายเกี่ยวกับคลื่นความพลิกผันทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหล่านี้ จะส่งผลให้องค์กรที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อเกาะกระแสคลื่นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ทันต้องล้มละลายหายไปจากธุรกิจ
ในบริบทของการที่องค์กรสามารถเกาะกระแสคลื่นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนี้ หมายถึงการที่องค์กรสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence), การวิเคราะห์กลุ่มข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics), การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing), การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity), อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) และเครือข่ายตัวรับรู้การเคลื่อนไหว (Sensor Networks) เป็นต้น
ฉะนั้น องค์กรที่ยังต้องการที่จะเกาะกระแสคลื่นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนี้ไปได้ต้องกำหนดขั้นตอนและจัดเตรียมทรัพยากรให้มีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้และการดำเนินการทางเทคโนโลยีดิจิทัลให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเด็นปัญหาทั่วไปที่หลายองค์กรต้องเผชิญในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลคือ องค์กรจำเป็นต้องพัฒนาทักษะเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ให้กับพนักงานก่อนที่จะเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างแท้จริง
โดยต้องมุ่งเน้นที่แนวโน้มเทคโนโลยีบางอย่างเพื่อใช้ในการสนับสนุนศักยภาพทางธุรกิจขององค์กร การพัฒนาทักษะของพนักงานโดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นมักจะใช้เวลานาน ผลตอบแทนที่จะได้กลับมาจากการพัฒนาทักษะที่จำเป็นเหล่านั้นให้กับพนักงานก็ใช้เวลานานอีกเช่นกัน
เพราะผลตอบแทนนั้นจะได้จากการที่องค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลประสบความสำเร็จ โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยบริการลูกค้าให้ดีขึ้น เปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานให้เป็นอัตโนมัติเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มกระแสรายได้ใหม่ ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ทรัพยากรบุคคลที่สามารถพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นเหล่านี้มักจะมีจำกัดภายในองค์กร ถ้าในแง่นี้ การที่องค์กรต้องรู้ว่าควรจะลงทุนเรื่องการพัฒนาทักษะให้กับพนักงานคนไหนและทักษะที่ขาดแคลนด้านอะไร เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทักษะถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กร
วาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
จากความท้าทายเหล่านี้ องค์กรส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่สำหรับธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น และเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลเป็นวาระสำคัญสำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยรวมขององค์กร
ซึ่งการตัดสินใจว่าองค์กรต้องเปลี่ยนแปลงอะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร เพื่อให้อย่างน้อยทันกับคู่แข่งนั้นถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับองค์กร ถึงแม้ว่าองค์กรส่วนใหญ่จะเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล แต่ก็ยังมีองค์กรไม่มากที่มีการกำหนดกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างชัดเจน
ผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศขององค์กรจะมีบทบาทเป็นผู้นำเชิงกลยุทธ์มากขึ้น การที่ผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรตระหนักเพียงแค่ว่ามีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และให้ระบบสามารถใช้งานได้ภายใต้สภาวะปกติให้กับองค์กรเพียงเท่านั้นไม่เพียงพอแล้วสำหรับการอยู่อย่างมีขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต หรือ Thailand 4.0
ผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต้องเป็นพันธมิตรทางกลยุทธ์กับด้านการดำเนินงานทางธุรกิจอื่น ๆ เพื่อผลักดันนวัตกรรมและการเจริญเติบโตขององค์กร การกำหนดกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งที่ผู้รับผิดชอบงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการดำเนินงานทางธุรกิจอื่น ๆ ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จขององค์กร จะให้แผนกใดแผนกหนึ่งขององค์กรเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้
ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล
โครงการการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลขององค์กรนั้นมักจะมีลักษณะเฉพาะพิเศษที่มีความซับซ้อนทางสังคมสูง ความแข็งแกร่งของโครงสร้าง และความคลุมเครือในการดำเนินการ จึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับผู้นำของอุตสาหกรรมในวันนี้ที่จะต้องเริ่มต้น ดำเนินการ และกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลให้กับองค์กรอย่างระมัดระวัง การเปลี่ยนแปลงทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีความสำคัญมากที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงองค์กร
จากการสำรวจข้อมูลของกลุ่มการ์ทเนอร์ (Gartner), ฟอร์บส์ (Forbes) และไอดีที (IDT) ต่างก็ชี้ให้เห็นถึงทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในศตวรรษที่ 21 ที่จำเป็นเพื่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล มี 5 ทักษะ ดังนี้ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity), การวิเคราะห์กลุ่มข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics), อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things), ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing)
องค์กรจะต้องมีการเตรียมบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็น เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกดิจิทัลมากขึ้น
อุปสรรคใหญ่ที่สุดที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลสำหรับองค์กรธุรกิจขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่คือการค้นหาและจัดหาบุคลากรที่มีทักษะความสามารถให้ได้ตามที่องค์กรต้องการจริง ๆ ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นทักษะที่ขาดแคลนเป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อช่วยขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและแผนกลยุทธ์หลักขององค์กรมีความล่าช้าได้