การใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วยเทคโนโลยี (Digital transformation) กลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกองค์กรต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่ว่าทุกองค์กรจะก้าวผ่านไปได้ แต่จะเป็นเพราะอะไรบ้างนั่นไปดูกัน…

Highlight

  • 10 สาเหตุ ความล้มเหลวในการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่พบบ่อยในองค์กร ได้แก่ 1.นำเทคโนโลยีมาใช้โดยไม่วิเคราะห์กลยุทธ์ของธุรกิจ, 2.มองโครงการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นค่าใช้จ่าย, 3.ความเข้าใจความหมายและขอบเขตของ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นที่ไม่ตรงกัน, 4.กลัวการทำงานแบบดิจิทัล ขัดกับผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจเดิม, 5.ไม่เข้าใจเกมการแข่งขันในโลกดิจิทัล, 6.ขาดการมอบหมายบุคลากร, 7.ขาดแผนที่ชัดเจนในการพัฒนากลุ่มบุคลากรในองค์กรให้มีทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น, 8.บุคลากรกลัวว่าการทำงานที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อความมั่นคงทางการงานของตนเอง, 9.นำเทคโนโลยีเอามาครอบกระบวนการตามกรอบความคิดแบบเก่า และ10.ไม่มีแผนการ และกระบวนการที่ดีในการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น และ บริหารการเปลี่ยนแปลง

ผู้บริหาร บุคลากร และกระบวนการ 3 องค์ประกอบสำคัญในการเปลี่ยนแปลงองค์กร

ก่อนที่จะไปทราบว่าทำไมการทำการเปลี่ยนแปลงองค์กรธุรกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น นั้นล้มเหลว เราคงจะต้องกลับมาดูว่า ทำไมองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงองค์กร  หลัก ๆ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการแข่งขันในทุกวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เดิมธุรกิจต่าง ๆ วัดความสำเร็จจากการผลิตสินค้าจำนวนมากๆ เพื่อทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดต่ำลง (Economy of Scale) ในด้าน ซึ่งองค์กรธุรกิจที่สามารถผลิตได้มากๆ ก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ความเชื่อดังกล่าวนี้น่าจะใช้ไม่ได้ผลซักเท่าใดนักในปัจจุบัน เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมบนโลกออนไลน์มากขึ้น 

การแข่งขันวันนี้จึงอยู่ที่ว่าองค์กรธุรกิจใดที่จะสามารถสร้างผลกระทบต่อความต้องการ (Demand) และสามารถสร้างผลกระทบในรูปแบบเน็ตเวิร์ค (Network Effects) ได้ต่างหากจึงจะสามารถผู้นำแข่งขัน และก้าวสู่องค์กรที่สามารถเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีได้

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ ช่องทางดิจิทัลอย่าง Website, Application, และ Social Media หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการแบบดิจิทัล เช่น Digital Banking, Digital Insurance, Virtual Assistant รวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้

เช่น AI, Big Data, Paperless Workflow เป็นต้น ซึ่งวันนี้การทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ประสบความสำเร็จ จะทำให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ส่งผลต่อกำไร และอัตราการขยายตัวทางธุรกิจในที่สุด

แต่แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้นก็ยังมีองค์กรธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ เพราะติดกับดักของตัวเอง โดยหลงลืมไปว่าการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ไม่ใช่เพียงแค่ซื้อเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจ เพราะมีความซับซ้อนละเอียดอ่อนมากกว่า

ทั้งในด้านรูปแบบการดำเนินธุรกิจ กระบวนการทำงาน บุคลากร รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กร ล้วนได้รับผลกระทบและต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน และนั่นทำให้กว่า 50% ขององค์กรต้องเผเชิญกับความล้มเหลวจากการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น

Digital transformation

ล่าสุดจากได้พูดคุยกับ พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่ปรึกษาสัญชาติไทยด้านกลยุทธ์ และการจัดการด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี ของ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด ก็พบว่าความล้มเหลวในการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่พบบ่อยในองค์กร อันเกิดจาก 3 ส่วนหลัก คือ ผู้บริหาร บุคลากร และกระบวนการ

10 เหตุผลที่ Digital transformation ล้มเหลว

ซึ่งทุกอย่างล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งหากแยกออกมาเป็นตามหัวข้อ ก็จะได้เป็นว่ามีอยู่ 10 สาเหตุ ที่ทำให้เกิดการทรานส์ฟอร์เมชั่นที่ล้มเหลว

โดยในแง่ของตัว ผู้บริหาร ซึ่งถือเป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ และนโยบายขององค์กร นั้นมักจะพบว่า นำเทคโนโลยีมาใช้โดยไม่วิเคราะห์กลยุทธ์ของธุรกิจ โดยเมื่อใช้เทคโนโลยีไปแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดความได้เปรียบทางธุรกิจ และไม่สามารถสร้างความแตกต่างมากขึ้น โดยทุ่มใช้งบประมาณซื้อเทคโนโลยีที่ดีที่สุด

แต่กลับไม่เข้าใจว่าธุรกิจจะได้เปรียบคู่แข่งอย่างไร เช่น เทคโนโลยีสามารถช่วยเพิ่มรายได้ส่วนใด ช่วยลดลดรายจ่ายส่วนใด สร้างฐานลูกค้ากลุ่มใด เป็นต้น

ผู้บริหารส่วนมัก มองโครงการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นค่าใช้จ่าย แทนที่จะพิจารณาว่าเป็นการลงทุนขององค์กร ทำให้ไม่ได้ตั้งงบประมาณให้เพียงพอ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความต่อเนื่องของโครงการจนทำให้โครงการอาจจะถูกหยุดก่อนถึงจุดที่สร้างผลลัพธ์ที่ดีได้

ซึ่งการที่ผู้บริหารมอง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นเพียงค่าใช้จ่ายจะทำให้ไม่มีตัวชี้วัดทางการเงินที่ถูกต้องเพื่อบอกความสำเร็จของการลงทุน นอกจากนี้ผู้บริหารที่ยัง มีความเข้าใจความหมายและขอบเขตของ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นที่ไม่ตรงกัน

โดยมักจะเข้าใจว่าเป็นแค่การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) หรือเป็นแค่กระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติ (Process Automation) ทำให้ไม่สามารถสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายได้เต็มที่จนอาจจะทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางเดียวกันได้

กลัว การทำงานแบบดิจิทัล ขัดกับผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจเดิม เช่น ผลิตภัณฑ์รูปแบบดิจิทัลจะแย่งรายได้จากผลิตภัณฑ์เดิม โดยอาจจะลืมไปว่าองค์กรแย่งรายได้ตัวเองยังดีกว่าให้คู่แข่งมาแย่งรายได้ หากองค์กรไม่ Transform ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็มักจะช้าเกินไป

ไม่เข้าใจเกมการแข่งขันในโลกดิจิทัล ซึ่งมียุทธวิธีที่ไม่เหมือนกับโลกยุคเดิม เช่น ในโลกดิจิทัล การใช้ User-Generated Content เพื่อสร้าง Content จำนวนมาก, การเป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem เพื่อใช้ประโยชน์จากบริการอื่น ๆ ใน Ecosystem, การทำผลิตภัณฑ์แบบ Freemium เพื่อดึงลูกค้า

Digital transformation

หรือแม้แต่การชิงพื้นที่ใน Social Media ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ ฯลฯ ขณะที่ในส่วนของ บุคลากร เองที่ถือว่าเป็นหนึ่งในกลไกในการขับเคลื่อนองค์กรให้เปลี่ยนผ่านเองก็ถูกการจัดสสรคที่เหมาะสม โดยปัจจุบันมักพบว่าองค์กรส่วนมาก ขาดการมอบหมายบุคลากร (Dedicated Resource) 

เพื่อมาทำโครงการ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยเฉพาะ แต่นำเอาคนที่มีงานรับผิดชอบเดิมอยู่แล้ว (Business As Usual หรือ BAU) เข้ามารับผิดชอบโครงการฯ ด้วย ทำให้มอง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นแค่งานเสริม ซึ่งในความเป็นจริง งาน ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น

เป็นงานหลักที่ซับซ้อนมาก และ Out of Comfort Zone ของบุคลากรเหล่านี้  ซึ่งเมื่อคนกลุ่มนี้ไม่สามารถโฟกัสการทำงานที่ได้รับมอบหมายได้เต็มที่ ก็อาจจะทำให้การทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ขององค์กรล้มเหลว ในขณะเดียวกันก็ยังขาดแผนที่ชัดเจนในการพัฒนากลุ่มบุคลากรในองค์กรให้มีทักษะใหม่ ๆ (Skill Set) ที่จำเป็น

เช่น การบริหารงานแบบAgile, ความรู้ด้านเทคโนโลยี, การทำการตลาดผ่านโซเชียล มีเดีย (Social Media) หรืออาจจะขาดบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทาง (Specialized resources) เช่น Developer, UI/UX Designer, Software Testers, PMO เป็นต้น

ซึ่งการขาดดารวางกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอทำให้ตัวของ บุคลากรกลัวว่าการทำงานที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อความมั่นคงทางการงานของตนเอง เพราะเทคโนโลยีส่งผลต่อการทำงานมีประสิทธิภาพใช้คนน้อยลงจนลืมไปว่าหากองค์กรไม่เปลี่ยนแปลง ต้นทุนของบริษัทก็จะสู้คู่แข่งไม่ได้ และสุดท้ายก็ต้องตายไปจากตลาด

Digital transformation

ฉะนั้นบุคลากรจึงควรจะปรับตัว พัฒนาทักษะ ความรู้ และความสามารถ เพื่อสามารถทำงานที่ช่วยเพิ่มคุณค่า (Add Value) ให้กับองค์กรมากขึ้น และส่วนสุดท้ายคือ การออกแบบ กระบวนการ ที่แปลกใหม่ไม่ยึดติด บ่อยครั้งที่เรามักเห็นองค์กรธุรกิจลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเพื่อ Customize

แต่นำเทคโนโลยีเอามาครอบกระบวนการตามกรอบความคิดแบบเก่า ซึ่งการไม่ยอมทิ้งรูปแบบการทำงานแบบเดิม ๆ ทำให้ได้ผลลัพธ์แบบเก่า ๆ เนื่องจากไม่มีการพัฒนากระบวนการใหม่ให้สอดคล้องกับการทำงานแบบดิจิทัล ทำให้การลงทุนด้านดิจิทัลไม่สามารถแสดงผลลัพธ์ที่ดีออกมาได้

และเมื่อ ไม่มีแผนการ และกระบวนการที่ดีในการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น และ บริหารการเปลี่ยนแปลง จะทำให้เกิดแรงต้าน และเกิดความขลุกขลักในการเปลี่ยนการทำงานมาเป็นแบบใหม่ จนลุกลามกลายเป็นการต่อต้านในวงกว้างได้ในที่สุด

ทั้งนี้การจะทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องมีการวางแผน คิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบเพื่อลดความเสี่ยงของการล้มเหลว การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในอดีต จะทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทางธุรกิจที่ตั้งไว้

Digital transformation

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อการวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการและผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com, www.idc.com

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่