จากการสำรวจของ เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการด้านคำปรึกษาชั้นนำของญี่ปุ่นพบว่า ระบบการทำงานซอฟต์แวร์อัตโนมัติ Robotic Process Automation หรือ RPA กำลังเป็นกระแสที่เติบโตในโลกของแรงงานดิจิทัล โดย RPA ในประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตสูงมาก พบธุรกิจในประเทศไทยที่มีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้มีเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ โดยภาคธุรกิจที่ใช้ RPA ได้แก่ ธุรกิจธนาคารและธุรกิจประกันภัย โดยยังมีอีกหลายธุรกิจที่สนใจจะนำ RPA มาใช้
นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจในรูปแบบดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่าการใช้งาน RPA ตามแบบกฎเกณฑ์มาตรฐานอัตโนมัติ หรือ rule-based automation ซึ่งถือว่ายังไม่เป็นแรงงานดิจิทัลเต็มรูปแบบนั้น เป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโตของโลก และเทคโนโลยีนี้ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยผสมผสาน ระบบการรู้จำอักขระด้วยแสง (OCR) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจะทำให้เป็นเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดมากขึ้นและพร้อมให้ใช้งานในตลาดเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ จากการสำรวจโดยเอบีมเกี่ยวกับสถานการณ์ของ RPA ในประเทศไทยกับบริษัทขนาดใหญ่ใน SET100พบว่า กลุ่มที่ 1 จำนวน 66 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ตระหนักว่า RPA คืออะไร และ RPA สามารถทำงานอย่างไร กลุ่มที่ 2 จำนวน 21 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่สำรวจตอบว่ากำลังพิจารณาและสนใจเทคโนโลยีดังกล่าว แต่ยังไม่แน่ใจถึงประโยชน์ที่แท้จริง และกลุ่มที่ 3 ซึ่งพบว่ามีเพียง 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้ติดตั้งและใช้งาน RPA แล้ว ทั้งนี้ กลุ่มแรกยังไม่สามารถหาคนทำงานที่เหมาะสมในการเริ่มต้นแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในขณะที่กลุ่มที่ 2 ไม่ทราบวิธีการที่เหมาะสมที่จะเริ่มโครงการดังกล่าว ประสบกับปัญหาในการคำนวณอัตราส่วนของผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) และกำลังเผชิญกับแรงต่อต้านจากผู้ใช้งาน ส่วนกลุ่มสุดท้าย กำลังเผชิญกับการขยายผล การปรับเปลี่ยนตามธุรกิจการกำลังเปลี่ยนไป และการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมายของ ROI
“การใช้ RPAจะช่วยให้ธุรกิจได้ประโยชน์สูงสุด หากธุรกิจมีกระบวนการเป็นมาตรฐาน แม่นยำสม่ำเสมอ และดำเนินการควบคุมอย่างถูกต้อง ซึ่งช่วยให้สามารถขยายงานได้ง่าย” นายฮาระกล่าว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า RPA สามารถทำงานร่วมกับการปรับเปลี่ยนกระบวนการการทำงานทางธุรกิจ (Business Process Reengineering) และการพัฒนาขั้นตอนการทำงาน (Business Process Improvement) เพื่อนำไปสู่การดำเนินการธุรกิจที่เป็นเลิศ (Excellent Operation)
นายฮาระ กล่าวว่า ภาคธุรกิจที่มีการนำ RPA มาใช้มากที่สุด คือ ธุรกิจธนาคาร 70 เปอร์เซ็นต์ และธุรกิจประกันภัย 60 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ในขณะที่ธุรกิจการผลิต ธุรกิจบริการ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มีแสดงสนใจจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยปัจจุบันการใช้ RPA ในประเทศไทยเน้นเรื่องการจัดทำรายงาน การส่งข้อมูลระหว่างระบบ (System interface) และการป้อนข้อมูลเข้าระบบ ซึ่งถือเป็นงานอันดับต้น ๆ ของหน่วยงานการเงินและบัญชี
RPA ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์อัตโนมัติสำหรับงานที่ต้องใช้คนในภาคธุรกิจต่าง ๆ สามารถูกพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว มีการลงทุนที่ต่ำและให้ผลตอบแทนเร็ว RPA เหมาะกับงานทั่วไปที่ต้องใช้พนักงานทำงานเป็นเวลานาน งานที่มีกฏและขั้นตอนชัดเจน งานที่ทำซ้ำ ๆ และงานที่มีปริมาณจำนวนมาก ๆ รวมทั้งงานที่มีโอกาสผิดพลาดอันเนื่องจากการทำงานของคน
ทั้งนี้ ระบบอัตโนมัติมีโอกาสที่จะสามารถทำงานในภาคธุรกิจต่าง ๆ ได้แก่ ระบบไอทีภายใน อาทิ การป้อนข้อมูล อีเมล์ และการค้นหาข้อมูลที่มีตรรกะเฉพาะด้าน โดยการจำลองข้อมูลและการรายงานผล ตรวจสอบข้อมูลหรือจับคู่ข้อมูล แรงงานดิจิทัลสามารถส่งผ่านข้อมูลระหว่างระบบไอทีกับระบบภายนอก เช่น แอพพลิเคชั่นของธนาคาร หรือการต่อเชื่อมกับกลุ่มบริษัท การดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น การวิจัยข้อมูลของคู่แข่ง การตรวจสอบราคาหุ้น เป็นต้น
นายฮาระ กล่าวว่าการใช้งาน RPA อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจจะต้องทำการประเมินผลประโยชน์และผลตอบแทนจากการลงทุนก่อนเป็นอย่างแรก ธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการอัตโนมัติทำงานแทนงานที่ทำด้วยคนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะเป็นการใช้ต้นทุนที่มากและใช้เวลานานเกินไป นอกจากนี้ คนยังสามารถทำงานบางงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ในการช่วยให้ธุรกิจสามารถนำ RPA มาใช้นั้น เอบีมมีความพร้อมในการช่วยธุรกิจพิสูจน์แนวคิด (PoC) ที่รวดเร็ว ผ่านการพัฒนาระบบอัตโนมัติที่ทำงานได้จริงจำนวนไม่มากในธุรกิจ เพื่อวัดประสิทธิผลของ RPA ภายใน 8 สัปดาห์ โดย PoC ช่วยให้ธุรกิจสามารถวัดประโยชน์จริง ๆ ที่จะได้รับและสร้างโอกาส รวมทั้งตรวจจับประเด็นปัญหาด้านเทคนิค ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด
เอบีมได้ใช้งานระบบอัตโนมัติ RPA ไปแล้วกว่า 5,000 ระบบ ในกว่า 2,000 บริษัททั่วโลก โดยหลัก ๆ ในเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป สำหรับประเทศไทย บริษัทฯ มีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้กว่า 20 คน ดูแลโครงการ RPA ให้แก่ลูกค้ามากกว่า 15 ราย ตัวอย่างของกลุ่มลูกค้าเอบีมในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจเครื่องสำอางค์ที่มีแบรนด์สินค้ามากกว่า 100 แบรนด์ทั่วประเทศสามารถบริหารจัดการบรรลุผลิตภัณฑ์ขายดีที่สุดภายในข้ามคืน จากก่อนหน้าที่ใช้เวลาหลายอาทิตย์ ผ่านการใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อวิเคราะห์สต๊อคสินค้าและคาดการณ์ยอดขาย รวมทั้งกระบวนการออกใบเสนอราคา ธุรกิจโลจิสติกส์ใช้ RPAในการออกเอกสารด้านศุลกากรอัตโนมัติ เป็นต้น