CodingThailand

DE ผนึก depa ส่งเสริมการสร้างศักยภาพกำลังคนดิจิทัล เดินหน้าโครงการ CodingThailand เปิดตัวแพลตฟอร์มห้องเรียนออนไลน์ที่ผสานความบันเทิง กระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอตั้งเป้าเข้าถึงเยาวชนไทย 10,000,000 คนทั่วประเทศ

3 หน่วยงาน ร่วมผลักดันโครงการ CodingThailand หวังสร้างศักยภาพเยาวชนดิจิทัล

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า วันนี้คนไทยเริ่มตระหนักมากขึ้นถึงการเปลี่ยนจากสังคมแอนะล็อก (Analog) ไปสู่สังคมดิจิทัล ซึ่งทั่วโลกมีการเปลี่ยนผ่านเรื่องของดิจิทัลที่ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่อาจที่จะอยู่นิ่งได้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โครงการ “โค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์” นับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางด้านนโยบาย ที่กระทรวงดิจิทัลฯ คิดขึ้นและนำไปสู่การปฏิบัติ

ด้วยหลักการสำคัญคือ การเปลี่ยนห้องเรียนที่เราคุ้นเคยกันมาเป็นห้องเรียนบนมือถือ โน้ตบุค ไอแพด ด้วยความมุ่งมั่นสำคัญที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ ต้องให้ประชาชนไทย ได้รับความรู้เหล่านี้ โดยได้มอบหมายให้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เป็นผู้ดำเนินงานโครงการโค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์

CodingThailand
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE)

โดยพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ โค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์ (CodingThailand.org) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาการคอมพิวเตอร์ รวมถึงฝึกฝนกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ

อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล เพื่อเตรียมเข้าสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

การส่งเสริม และพัฒนาให้ทรัพยากรบุคคลพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วเยาวชนที่เป็นทรัพย์สินที่มีค่าสูงสุดของประเทศ กระทรวงดิจิทัลฯ เชื่อมั่นว่าโครงการ โค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์ จะกลายเป็นศูนย์กลางความรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย เยาวชน และประชาชนทุกคนจะมีโอกาสได้เรียนรู้

ทุกที่ทุกเวลา และสามารถก้าวทัน เทคโนโลยี รู้เท่าทัน และสร้างสรรค์การใช้เทคโนโลยี ทั้งยังจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การศึกษา และเศรษฐกิจ ด้วยมิติใหม่ของการเรียนรู้ จาก เรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ โค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านการวิเคราะห์ การแก้ปัญหา

และใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตและในการทำงานทุกอาชีพ ทั้งยังสามารถต่อยอดไปถึงการพัฒนาทักษะดิจิทัลในระดับสูงต่อไป

CodingThailand
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

การเขียนโค้ด คือโลกใหม่ของการศึกษาในยุคดิจิทัล

ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า โครงการ โค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์ เปรียบเสมือนโลกใหม่ของการศึกษาในยุคดิจิทัล เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านดิจิทัล ซึ่งจะเป็นทรัพยากรสำคัญสำหรับการเป็นประเทศไทย 4.0

ดีป้า พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ โค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์ โดยบูรณาการความร่วมมือกับ Code.org องค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ของเยาวชนชั้นนำของโลก และหน่วยงานพันธมิตรเอกชน

อาทิ ไมโครซอฟท์ ซิสโก้ กูเกิล และ อักษร เอ็ดดูเคชั่น ฯลฯ เพื่อแปลและพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะกับเยาวชนไทยในระดับชั้นต่างๆ ทั้งยังสอดแทรกความบันเทิงและความคิดสร้างสรรค์ ที่ช่วยทำให้เยาวชนรู้สึกว่าเรื่องของวิทยาการคอมพิวเตอร์ การเขียนโค้ด (coding) นั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวและสนุกสนาน สอดแทรกความรู้ได้อย่างลงตัว

ซึ่งจะทำให้สังคมไทยมีกำลังคนดิจิทัลที่มีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะพัฒนาไปสู่ระดับผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นทรัพยากรที่ประเทศไทยยังคงขาดแคลนอยู่

สิ่งสำคัญของ โค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์ คือรูปแบบการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ โค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์ จะครอบคลุมทั้งการเรียนรู้แบบทางการและไม่ทางการ (Formal & Informal Education) โดยเน้นเนื้อหาของบทเรียนด้าน coding ให้เข้ากับบริบทการศึกษาในชั้นเรียนระดับต่างๆ ควบคู่กับกิจกรรมสนุกสนานที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้นอกชั้นเรียน

CodingThailand

อีกทั้งยังมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และกิจกรรมเพิ่มเติม ที่มุ่งพัฒนาทักษะกระบวนการคิด ตลอดจนทักษะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงต่อยอดการเรียนรู้ด้าน Coding เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม

โดยสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่รูปแบบ Unplug หรือการเรียนรู้ที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ซึ่งเหมาะกับเด็กปฐมวัย การเรียนรู้ด้วยอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เพิ่มเติม อีกทั้งดีป้า ยังมีแผนการจัดกิจกรรม Thaicode Hour กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ Coding ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ โค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์

ซึ่งมีต้นแบบมาจาก Hour of Code ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก ในการส่งเสริมให้ทุกคนเริ่มต้นการ CODE ได้ง่ายๆ ในระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเพียงพอต่อการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ได้อย่างสนุกสนานและสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจในวิทยาการคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน

ตลอดจนพัฒนาไปสู่นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้ในอนาคต โดยมีแผนกิจกรรมสำหรับเยาวชนครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วไทย ที่สำคัญยังมีแผนการจัดแข่งขัน โค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์ ที่จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้าน Coding เข้ากับไลฟสไตล์ของเยาวชนไทยในปัจจุบัน

ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการเรียนรู้ด้านดิจิทัลของเยาวชนไทยอย่างแท้จริงเราเชื่อว่าแพลตฟอร์ม การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ โค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์ จะสามารถเข้าถึงเยาวชนได้ ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศภายใน 3 ปีหลังจากการเปิดตัว และจะกลายเป็นโลกของการศึกษาแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทั้งยังจะช่วยสร้างโอกาสให้เด็กนักเรียนเข้าถึงการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลาทุกช่องทาง จะเกิดรูปแบบการศึกษาที่ขนานไปกับวัฒนธรรมในมิติของบุคคล คือ เยาวชน และในมิติของสังคม คือ ครอบครัว ซึ่งเราจะได้เห็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปจากการเรียนแบบเดิมๆ

นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของที่ดีป้าเชื่อมั่นว่าเยาวชนไทยที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศจะได้รับการพัฒนา ทั้งในเชิงความรู้ ความสามารถ และเกิดการแข่งขันได้บนพื้นฐานของความสุขร่วมกับครอบครัว และสังคมไทย

CodingThailand
อลิซ สเตนกลาส (Ms.Alice Steinglass) ประธาน Code.org

ด้าน อลิซ สเตนกลาส (Ms.Alice Steinglass) ประธาน Code.org กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัล กำลังเข้ามามีบทบาทและมีความสำคัญในทุกอุตสาหกรรมรวมถึงการทำงานในแวดวงต่างๆ โดยมีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอัตโนมัติจะเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์ทั่วโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่กำลังทำงานอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กทุกคนควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาทักษะให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิทยาการคำนวณ

CodingThailand

ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในศตวรรษที่ 21 และทักษะพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเยาวชนไทยให้ไม่ใช่เพียงแค่ “ใช้” เทคโนโลยีดิจิทัล แต่ยังสามารถ “สร้างสรรค์” ได้ในอนาคต นั่นคือ สิ่งที่ Code.org ในฐานะองค์กรไม่แสวงหากำไรมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาสามารถเข้าถึงหลักสูตรการเรียนรู้ต่างๆได้

โดยไม่มีค่าใช้จ่าย Code.org เป็นผู้นำในด้านการเรียนการสอนวิทยาการคอมพิวเตอร์สำหรับการศึกษาตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษา และ มัธยมศึกษา โดยมีนักเรียนกว่า 25 ล้านคน และ ครูราว 800,000 จากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก ลงทะเบียนเพื่อร่วมเรียนรู้บนแพลตฟอร์มของเรา

การที่ประเทศไทย โดย กระทรวงดีอี และ ดีป้า ตระหนักในการส่งเสริมกำลังคนดิจิทัลของไทย ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ โค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับ Code.org ที่จะได้แบ่งปันเนื้อหาและองค์ความรู้ให้กับโครงการที่สำคัญอย่างยิ่งกับคนไทย

ซึ่งการส่งเสริมทักษะเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเยาวชนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์นั้น จะเป็นการเตรียมพร้อมที่สำคัญในการก้าวสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล เยาวชนจะต้องเรียนรู้ตั้งแต่ทักษะด้านการวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่นำประโยชน์มาสู่สังคมโลกได้อย่างไม่สิ้นสุด

CodingThailand
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

ขณะที่ ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจหลักของไมโครซอฟท์คือต้องการเป็นกำลังสำคัญให้กับทุกคนบนโลกใบนี้ซึ่งรวมไปถึงความตั้งใจที่จะส่งเสริมเยาวชนทั่วโลกรวมถึงเยาวชนไทยให้มีทักษะทางดิจิทัลเพื่อให้พวกเค้าสามารถบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่

และก้าวข้ามขีดจำกัดในยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้ ผมในนามของไมโครซอฟท์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำ Microsoft Azure ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์อัจฉริยะเข้ามาใช้ในการจัดทำห้องเรียนการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ โค๊ดดิ้ง ไทยแลนด์

เพื่อส่งเสริมการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ Code.org รวมถึงเรายังสนับสนุนการอบรมครูเชิงลึกทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถความรู้และความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับครูผู้ฝึกสอน

ซึ่งเราตั้งเป้าโดยร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในการอบรมครูและนักเรียนทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ เพราะเราเชื่อว่าเยาวชนคืออนาคตที่สำคัญในการสรรค์สร้างนวัตกรรมให้เจริญก้าวหน้า

และเยาวชนไทยก็มีความสามารถไม่น้อยไปกว่าชาติอื่น ผมมั่นใจว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยสร้างทักษะความรู้ทางดิจิทัลให้กับครูและนักเรียนซึ่งจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองในการช่วยรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมายนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่