สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) (สพร.) หรือ DGA เดินหน้าสานต่อโครงการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หวังสร้างบริการที่สะดวกรวดเร็วให้แก่หน่วยงานรัฐ และประชาชน ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลชองทุกหน่วยงานรัฐเข้าไว้ด้วยกัน…
highlight
- พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 2562 แล้ว นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการบริการภาครัฐให้สะดวกขึ้น โดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศ
DGA เร่งเครื่องสร้างรัฐบาลเปิด และเชื่อมต่อกัน
ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) (สพร.) หรือ ดีจีเอ กล่าวว่า กฎหมายนี้มีที่มาจากข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ที่มุ่งหวังให้เกิดการปฏิรูประบบข้อมูลภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลที่เปิดเผย และเชื่อมต่อกัน (Open and Connected Government) รวมทั้งเป็นกลไกขับเคลื่อน
การปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ระบบการทำงาน และข้อมูลของภาครัฐสามารถเชื่อมโยงระหว่างกันได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่วมถึงเป็นการเปิดเผย และสร้างโปร่งใส ที่อยู่ภายใต้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เป็นไปตามกลไกกฎหมาย และไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายดิจิทัลอื่น
กลไกสำคัญของกฎหมายธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ 8 ข้อ
- มีการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (แผนระดับชาติ)
- มีคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
- ให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายนี้
- มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เป็นกรอบในการจัดการบริหารข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ
- หน่วยงานภาครัฐจัดทำข้อมูลและบริการในรูปแบบดิจิทัล (Digitization)
- หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล (Open Government Data)
- หน่วยงานของรัฐแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน (Integration) และมีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง
- สนับสนุนการเชื่อมโยงบริการดิจิทัล ให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ
ซึ่งเมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้แล้วจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อหน่วยงานรัฐเอง ร่วมไปถึงประชาชนทั่วไป เนื่องจากการทำงานภาครัฐจะเปลี่ยนไป จะสามารถเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันได้สะดวกขึ้น การบริหารงานก็จะมีความโปร่งใส และมีความปลอดภัยด้วยธรรมาภิบาลข้อมูล ด้านประชาชนก็จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น การได้รับการบริการจากภาครัฐที่สะดวกและรวดเร็วไม่สร้างภาระแก่ประชาชน ลดการใช้สำเนาเอกสารในการติดต่อราชการ ช่วยให้เรื่องการติดต่อภาครัฐ ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวทำได้ทุกเรื่อง ผ่านช่องทางการติดต่อออนไลน์ได้แบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ลดขั้นตอนในการดำเนินงานระหว่างรัฐ และเอกชน
และทำให้เกิดการใช้ข้อมูลเปิดจากหน่วยงานภาครัฐ ที่สามารถติดตาม และตรวจสอบการดำเนินการได้ ร่วมไปถึงช่วยทำให้สามารถนำข้อมูลเปิดของหน่วยงานรัฐ ไปพัฒนานวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และสังคม ได้ต่อไปในอนาคต โดย พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล ฉบับนี้ ยังร่วมไปถึงการกำหนดให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยต้องเร่งปรับตัวใช้เทคโนโลยี
และวางแผนพัฒนาบุคลากรของตนเองให้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีนั้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงให้ทุกหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานเป็นบริการดิจิทัลนั้นต้องใช้เวลา ซึ่งทางเราวางแผนเอาไว้ว่าภายใน 5 ปี หน่วยงานภาครัฐต้องสามารถให้บริการในรูปแบบดิจิทัลอย่างน้อย 80% ในบื้องต้นเริ่มในเอกสารที่จำเป็น 120 บริการ
เริ่มจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับทะบียนต่าง ๆ อาทิ ทะเบียนบ้าน, ทะเบียนอาวุธ, ข้อมูลเครดิต, ใบสั่ง, ประกันสังคม, ตรวจสอบสวัสดิการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ และแน่นอนเมื่อมีการพลักดันให้เกิดการใช้ Digital ID ได้เมื่อไรก็จะช่วยให้เกิดการใช้การพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวตน ก็จะทำให้เรื่องของการตรวจสอบข้อมูลง่ายขึ้น
คัดเลือกกรรมการเพื่อกำหนดทิศทางไปทิศเดียว
อภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) (สพร.) หรือ ดีจีเอ กล่าวว่า ในการคัดเลือกกรรมการการปฏิรูประบบข้อมูลภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลที่เปิดเผยนี้ จะเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมายในมาตราที่ 6
ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิตามคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการฯชุดนี้ เป็นการรวมคณะกรรมการด้านดิจิทัลจากหลากหลายคณะ ทำให้สามารถเชื่อมโยงการทำงานในภาพรวมเพื่อให้การพัฒนาประเทศไปในทิศทางเดียวกัน
ซึ่งในส่วนงานหน่วยงานราชการสามารถเตรียมการ หรือเริ่มการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ได้เลย โดยการนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้กับการบริหารงานและการให้บริการประชาชน ลดการใช้กระดาษหรือสำเนาเอกสาร การจัดให้มีระบบการชำระเงินทางดิจิทัลอีกช่องทางหนึ่ง
รวมทั้งสร้างความตระหนักแก่บุคลากรในการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ เป็นต้น ในช่วงเริ่มต้น การดำเนินการในบางเรื่องจำเป็นต้องรอให้มีการกำหนดรายละเอียดในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ตลอดจนมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายนี้ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ
ซึ่ง สพร.ได้จัดการประชุมระดมสมอง ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อนำความคิดเห็นมาจัดทำร่างกรอบแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลต่อไป โดย ดีจีเอ จะเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่อำนวยการเพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการดำเนินงานเกี่ยวกับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราได้เตรียมความพร้อมโดยได้ดำเนินการสำรวจความต้องการ และระดมความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน ซึ่งในส่วนภาครัฐปัจจุบันก็เร่งปรับตัว โดยเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ ระดับ อบต. อบจ. ส่วนภาคประชาชนในเบื้องต้นเท่าที่ได้สำรวจ
เราพบว่าประขาขนเองก็ตั้งตารอที่จะใช้บริการ และใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานภาครํฐ และสร้างบริการที่เบ็ดเสร็จ แม้ว่าวันนี้เราจะยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องของคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ที่จะเข้ามาดูในส่วนนี้ แต่เราไม่สามารถหยุดดำเนินการได้ ซึีงหากมีความชัดเจนในเรื่องนี้เมื่อไรก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที
สร้างให้เกิดบริการภาครัฐแบบ One Stop Service
ไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) (สพร.) หรือ ดีจีเอ กล่าวว่า การเป็นรัฐบาลดิจิทัลสิ่งสำคัญต้องให้ประชาชนได้สัมผัสถึงความเป็นดิจิทัล ซึ่งหนึ่งในกลไกหลักของ พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัลในหัวข้อการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชื่อมโยงระหว่างกัน
คือ จะต้องมีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง โดยกฎหมายกำหนดให้ในช่วง 2 ปีแรก ดีจีเอ จะต้องดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลและการดําเนินงาน ให้สามารถเห็นข้อมูลประชาชนเป็นภาพเดียวที่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service หรือ OSS)
โดยแบ่งออกเป็นการบริการภาคประชาชน (Citizen Portal) และ ภาคเอกชน (Business Portal) ซึ่งได้ดำเนินงานสำหรับภาคประชาชน (Citizen Portal) ด้วยการพัฒนาระบบ Citizen Portal ในส่วนของ Information ให้เป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริการภาครัฐแล้ว
ในปัจจุบันประชาชนสามารถประเมินความพึงพอใจหลังใช้บริการภาครัฐได้ผ่านแอปพลิเคชัน CITIZEN info ได้ทันที เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถพัฒนา และยกระดับบริการได้ตรงใจประชาชนมากที่สุด ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดให้เป็นเสมือน Google ภาครัฐที่ให้บริการข้อมูลด้านอื่น ๆ เพื่อการติดต่อกับภาครัฐได้ในแอปเดียว
ทั้งติดตามสถานะบริการ จองคิวออนไลน์ ติดต่อทำธุรกรรมของหน่วยงานต่างๆ ออนไลน์ สามารถนำทางไปยังพิกัดสถานที่ราชการ สถานประกอบการ และสถานที่อื่นๆ เป็นข้อมูลเปิด เป็นต้น สำหรับการพัฒนา OSS ในภาคเอกชน (Business Portal) ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงขอใบอนุญาตบริการภาครัฐแล้วกว่า 40 ใบอนุญาต
ที่เว็บไซต์ biz.govchannel.go.th ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ การขอใบอนุญาตต่าง ๆ โดยในอนาคตจะมีการเพิ่มบริการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประกอบธุรกิจมากขึ้นอีก
สร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเปิดของรัฐ
การให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนในเรื่องของ ข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะ ผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ โดยประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
จะเห็นได้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นเรื่องของข้อมูลทั้งสิ้น จึงต้องมีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) เป็นกรอบการกำกับดูแลข้อมูล โดยกรอบการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance Framework) มีเพื่อกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการข้อมูล
เพื่อให้ได้มาและการนำไปใช้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐถูกต้อง ครบถ้วน และมั่นคงปลอดภัย รวมไปถึงรักษาความเป็นส่วนบุคคล และสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นทุกส่วนราชการต้องให้ความสำคัญ ทั้งการออกนโยบาย แนวปฏิบัติ การรักษาข้อมูลส่วนบุคคล
สิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลหน่วยงานของตนเองได้ เพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยกฎหมายนี้ได้กำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมทั้งข้อกำหนด และหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย
โดยมีคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายนี้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และหน่วยงานอิสระของรัฐ
โดยเราเชื่อว่าการเชื่อมโยงข้อมูลจะช่วยให้สามารถคาดเดาความน่าจะเป็น จากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และวางแผนรับมือได้ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ การวางแผนบริหารจัดการมลภาวะทางอากาศ ฯลฯ และยังช่วยให้ส่งเส้รมให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลเปิดของภาครัฐ ไปสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
ส่วนขยาย * บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว) *** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com และ FB : DGAThailand
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่