ในหน้าสื่อทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงเทคโนโลยี, หุ่นยนต์, Artificial Intelligence ก็คงไม่พ้นต้องยกประเด็นเรื่องที่แรงงานมนุษย์จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์พ่วงมาด้วย กลายเป็นภาพจำว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงาน คนจะตกงานมหาศาลเพราะ AI คนไทยจำนวนมากในตลาดแรงงานมองเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่จะมาเบียดบังมากกว่าที่จะมาสร้างโอกาส
สิ่งที่ตามมาคือความก้าวหน้าที่เนิบช้า ติดขัด ขาดสมดุล ความเข้าใจของคนไทยไม่เพียงพอจะให้การปฏิรูปสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Transformation) เกิดขึ้นได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ที่ผู้บริหารยังยึดโยงกับ Mindset การทำงานแบบเก่า บุคลาการที่ขาดความรู้ในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี ไปจนถึง IT Infrastructure ที่ไม่พร้อม
ฟังทัศนะของ “รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา” บิดาแห่งวิทยาการหุ่นยนต์ไทย
ในงาน “HPE Discover More Bangkok” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 ทาง Eleader ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา” ผู้ได้รับสมญาว่าเป็น “บิดาแห่งวิทยาการหุ่นยนต์ไทย” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการพัฒนาการศึกษาบุคลากรและเทคโนโลยี คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Human Development Center: EEC HDC) และผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
เราได้ฟังมุมมองที่ต่างไปโดยสิ้นเชิง ว่าความเปลี่ยนแปลงได้มาถึงแล้ว ไม่ใช่เรื่องของอนาคต หมดเวลาที่จะลังเลอีกต่อไป เพราะถ้าอยากอยู่รอด มีแต่ต้องปรับตัวเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น และเทคโนโลยีก็ไม่ใช่ปฏิปักษ์กับมนุษย์ ถ้ารู้จักเอามันมาสร้างให้เป็นจุดแข็งของเราเอง
หุ่นยนต์ไม่ทำให้คนตกงาน แต่ช่วยให้คนได้เปลี่ยนไปทำงานที่ดีขึ้น
รศ.ดร. ชิต ได้เปิดเผยสถิติคาดการณ์ที่น่าสนใจจาก Gartner ว่าภายในปี 2020 จะมีตำแหน่งงานที่หายไป 1.8 ล้านอัตรา แต่ในขณะเดียวกัน จะมีตำแหน่งงานที่เกิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 2.3 ล้านอัตรา
ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “หุ่นยนต์จะมาแย่งงานคน” เป็นความจริง แต่ “หุ่นยนต์ทำให้คนตกงาน” นั้นไม่จริง คนเพียงแค่ต้องปรับตัว พัฒนาสกิล เพื่อเปลี่ยนไปทำงานอื่นที่น่าเบื่อน้อยลงเท่านั้น โดยมีแนวทางปรับตัว 3 แบบ
⦁ “New Skill” เรียนทักษะใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น Big Data, AI, Robotics
⦁ “Re Skill” อัพเดตทักษะให้ทันสมัย ด้วยพื้นฐาน Logic ความรู้เดิม
⦁ “Up Skill” ต่อยอดทักษะเดิมให้ลึกขึ้น กว้างขึ้น ขยายศักยภาพให้หลากหลาย
โดยทักษะที่ควรมี เพื่อให้คนไทยปรับตัวกับตลาดแรงงานใน Ecosystem ใหม่ ได้แก่ ความรู้ด้านเทคโนโลยี มากรวมถึงผู้เชี่ยวชาญต้องมี Creativity ที่จะออกแบบนวัตกรรมหรืองานวิจัยใหม่ ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงจิตสำนึกในการใช้เทคโนโลยีในทางที่ถูกที่ควร
“จบไอที หนีไปทำงานสายอื่น” ความท้าทายเบอร์หนึ่งที่เราต้องเผชิญ
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา กล่าวว่าความน่าเป็นห่วงอันดับแรกของวงการเทคโนโลยีไทย คือคนไทยยังไม่ตื่นตัวมากพอกับกระแสความเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ที่เรียนจบด้านไอทีจำนวนมาก กลับเลือกที่จะไปทำงานสายอื่นที่ได้เงินเดือนสูงกว่า เช่น ด้านการเงิน ขายประกัน ฯลฯ ส่งผลให้ภาวะขาดแคลนบุคลากรเราอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ นายจ้าง ที่ต้องให้ความสำคัญกับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีขององค์กร ให้มูลค่ากับบุคลากรไอทีให้มากขึ้น และจ่ายค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้เราเดินช้ากว่าเพื่อนบ้านมายาวนานกว่าสิบปี ซึ่ง รศ.ดร. ชิต เน้นย้ำว่าประเทศเราจำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมที่เข้มแข็งกว่านี้ เพื่อให้ความก้าวหน้าเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติมากพอ
เตรียมสร้าง “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง” เป็นเมืองอัจฉริยะแห่งใหม่ ศูนย์กลางความรู้ด้านไอที
เพื่อผลักดันความก้าวหน้าด้านไอทีของไทยให้เท่าทันโลก สถาบันวิจัยหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ร่วมมือกับบริษัท Hewlette Packard Enterprise (HPE) ในการพัฒนางานวิจัยด้าน AI ในเขตปกครองพิเศษพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ตั้งเป้าให้ 3 จังหวัดในเขต EEC ได้แก่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ได้เป็น Smart City และ Digital Hub ของภูมิภาค โดยมี HPE เป็นพาร์ทเนอร์หลักในฐานะ IT Infrastructure Provider
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา เปิดเผยว่า Smart City แห่งใหม่นี้ อยากให้เป็น “เมืองอัจฉริยะที่คนมีรอยยิ้ม” โดยเน้นสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนท้องที่ เชื่อมโยงไลฟ์สไตล์ของคนเข้ากับเทคโนโลยีอย่างกลมกลืน ระบบสาธารณสุขสุดล้ำสมัย (Smart Hospital) มีสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจและอุตสาหกรรมที่คล่องตัว รวมถึงวางแผนจะกระจายองค์ความรู้ไปสู่สถาบันอุดมศึกษากว่า 30 สถาบันทั่วประเทศ เพื่อสร้าง “Trainers of Trainers” ที่จะเป็นเซ็นเตอร์ย่อย ๆ ทำหน้าที่มอบความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่และภาคธุรกิจต่อไปทั่วประเทศ
Thailand 4.0 จะเป็นจริงได้ ต้องมีเอกชนเป็นพาร์ทเนอร์
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา บอกกับเราว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่เหนือกว่าประเทศคู่แข่ง (มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์) สิ่งที่เราต้องสานต่อ ก็คือการนำเอาเทคโนโลยี AI และ Data Center ให้แข็งแกร่ง คุ้มค่าการลงทุน และตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมในไทยเข้ามาใช้ โดยมองว่าภาคเอกชนมีความได้เปรียบมากที่จะช่วยสนับสนุนด้านนี้ ซึ่ง HPE ก็มีโซลูชั่นที่มีคุณสมบัติตอบโจทย์ทุกประการ ประกอบด้วย
⦁ ตอบโจทย์ด้านเทคโนโลยี มี AI และ Data Center ขั้นสูง มาตรฐานระดับโลก มีความเสถียร ปลอดภัย รองรับข้อมูลมหาศาลได้
⦁ ตอบโจทย์ความคุ้มค่า มีรูปแบบเป็น SaaS (Software as a Service) ที่คิดค่าใช้จ่ายแบบ Consumption-based Model จ่ายเท่าที่ใช้ ได้ความคุ้มค่า
⦁ ตอบโจทย์เรื่องคน ด้วย HPE PointNext บริการให้คำปรึกษาด้าน Digital Transformation
⦁ ไม่มีการผูกขาดการค้า สามารถเปิดให้มีการแข่งขันได้ในอนาคต
คุณพลาศิลป์ วิชิวานิเวศน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Hewlette Packard Enterprise ประเทศไทย เสริมว่า ทาง HPE มองว่าความร่วมมือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CSR ของบริษัท เพื่อให้เมืองไทยมี Use Case ต้นแบบเพื่อนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
เหนือสิ่งอื่นใด คนไทยต้องเชื่อมั่นในพลังของเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา เสริมว่า โครงการทั้งหมดจะสำเร็จได้ คนไทยทุกฝ่ายจะต้องมีความเชื่อมั่นก่อนว่าเทคโนโลยีจะทำให้ชีวิตดีขึ้นได้จริง และเป็นอาวุธสำคัญที่จะทำให้ไทยแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง พร้อมต่อสู้กับกระแสความเปลี่ยนแปลงจากทั่วโลก เปรียบเหมือนนวัตกรรมปืนใหญ่ในยุคโบราณ ที่ได้ปกป้องบ้านเมืองจากข้าศึก และตอนนี้ก็ถึงเวลาอีกครั้ง ที่ไทยควรจะงัดเอาเทคโนโลยีมาใช้กอบกู้ประเทศในสมรภูมิการแข่งขันยุคดิจิทัล