NIA เดินหน้าต่อยอดแพลตฟอร์ม “นวัตกรรมประเทศไทย” ระดมความร่วมมือหน่วยงานชั้นนำของประเทศจากทุกภาคส่วน ร่วมกันสร้าง “เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย” ล่าสุดมีเครือข่าย 73 องค์กร ตอบรับและพร้อมจะขับเคลื่อนให้ไทยก้าวสู่อันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก ภายในปี 2573 และนำประเทศไทยก้าวเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม

วันนี้ (6 กันยายน 2564) ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัว “เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย” (Innovation Thailand Alliance) โดยระบุว่า “จากวิกฤตปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น กับดักรายได้ปานกลาง ต้นทุนการผลิตสูง การแข่งขันทางธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่ห่วงโซ่อุปทานของโลกกำลังเปลี่ยนไป ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งการเข้าถึงบริการของรัฐ การเข้าถึงด้านดิจิทัล ด้านการศึกษา และปัญหาสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”

“NIA เชื่อว่า นวัตกรรม จะเป็นทางออกในการพลิกฟื้นประเทศจากวิกฤต จึงต่อยอดแพลตฟอร์ม นวัตกรรมประเทศไทย ภายใต้แนวคิด ‘พลิกฟื้นประเทศ…ด้วยนวัตกรรมไทย’ โดยมุ่งเน้นให้คนไทยเห็นความสำคัญในการร่วมกัน พลิกธุรกิจให้รอด จากการนำนวัตกรรมมาพลิกโมเดลธุรกิจ พลิกชีวิตให้สุข จากการนำนวัตกรรมมาพลิกแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคม และ พลิกสิ่งแวดล้อมให้ดี จากการนำนวัตกรรมมาพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

แพลตฟอร์ม นวัตกรรมประเทศไทย มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” โดยวางกรอบการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่

  1. จุดยืนนวัตกรรมประเทศไทย ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยอยู่ใน 30 อันดับแรกของดัชนีนวัตกรรมโลก ภายในปี 2573 เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศด้านนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับระดับโลก
  2. ดีเอ็นเอนวัตกรรมประเทศไทย ที่มุ่งสร้างให้เกิดอัตลักษณ์ไทยรังสรรค์คุณค่าใหม่เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นใน 7 ด้าน และ
  3. เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย ด้วยการสร้างให้เกิดพันธมิตรนวัตกรรมไทยสู่ตลาดโลกผ่านความร่วมมือระหว่างหน่วยงานชั้นนำของประเทศทั้งหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และสมาคมธุรกิจ
  4. แดชบอร์ดนวัตกรรมประเทศไทย โดยมีเป้าหมายให้เกิดข้อมูลนวัตกรรมประเทศไทย ที่มีการรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลนวัตกรรมของประเทศที่มีความหลากหลายจากทุกภาคส่วน

การเปิดตัว “เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย” ในวันนี้ มีเป้าหมายในการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านนวัตกรรม และทำให้คนไทยและชาวต่างชาติรับรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่เป็น นวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตที่ประณีต โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งขณะนี้มีองค์กร 73 แห่ง ที่ตอบรับเข้าร่วมเป็นเครือข่าย แบ่งเป็นหน่วยงานรัฐ 24 องค์กร, บริษัทเอกชน 18 องค์กร, สถาบันการศึกษา 20 องค์กร และสมาคมธุรกิจ 11 องค์กร รายละเอียดมีดังนี้

  1. หน่วยงานรัฐ 24 องค์กร มีดังนี้
    • กลุ่ม 1 หน่วยงานเชื่อมโยงองค์ความรู้ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 15 องค์กร ได้แก่
      • กรมวิทยาศาสตร์บริการ
      • สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
      • สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
      • สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ
      • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
      • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
      • สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ
      • สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
      • องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
      • สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
      • สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
      • สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
      • สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
      • สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
      • ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)
    • กลุ่ม 2 หน่วยงานเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จำนวน 3 องค์กร ได้แก่
      • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
      • สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
      • สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
    • กลุ่ม 3 หน่วยงานเชื่อมโยงแหล่งทุนภาครัฐ จำนวน 5 องค์กร ได้แก่
      • สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
      • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
      • สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
      • ธนาคารออมสิน
      • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
    • กลุ่ม 4 หน่วยงานเชื่อมโยงฐานข้อมูล จำนวน 1 องค์กร ได้แก่
      • สถาบันอาหาร
  2. บริษัทเอกชน 18 องค์กร แบ่งเป็น
    • กลุ่ม 1 บริษัทขนาดใหญ่ SET Top 100 จำนวน 12 องค์กร ได้แก่
      • บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
      • บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
      • บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
      • บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด
      • บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
      • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
      • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
      • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
      • บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
      • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
      • บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
      • บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
    • กลุ่ม 2 บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 4 องค์กร ได้แก่
      • บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด
      • ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ
      • บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน)
      • บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด
    • กลุ่ม 3 บริษัทสื่อสารเทคโนโลยี จำนวน 1 องค์กร ได้แก่
      • บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด
    • กลุ่ม 4 บริษัทข้ามชาติ จำนวน 1 องค์กร ได้แก่
      • บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด
  3. สถาบันการศึกษา 20 องค์กร มีดังนี้
    • กลุ่ม 1 เครือข่ายสถาบันการศึกษา จำนวน 3 องค์กร ได้แก่
      • ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ​.)
      • ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.)
      • สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.)
    • กลุ่ม 2 มหาวิทยาลัยส่วนกลาง จำนวน 9 องค์กร ได้แก่
      • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
      • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
      • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
      • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
      • มหาวิทยาลัยศิลปากร
      • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
      • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
      • สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
      • มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
    • กลุ่ม 3 มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค จำนวน 8 องค์กร ได้แก่
      • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
      • มหาวิทยาลัยบูรพา
      • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
      • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
      • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
      • สถาบันวิทยสิริเมธี
      • มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
      • มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  4. สมาคมธุรกิจ 11 องค์กร แบ่งเป็น
    • กลุ่ม 1 สมาคมการค้า จำนวน 8 องค์กร ได้แก่
      • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
      • หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
      • สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
      • สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม
      • สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย
      • สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย
      • สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย
      • สมาคมฟินเทคประเทศไทย
    • กลุ่ม 2 สมาคมส่งเสริมนวัตกรรม จำนวน 3 องค์กร ได้แก่
      • สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
      • สมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย
      • สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมและการประดิษฐ์ไทย

โดยทั้ง 73 องค์กร จะร่วมมือกันใน 3 ด้าน ได้แก่

  1. เป็นผู้แทนประเทศในการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมความร่วมมือกันในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การลงนาม ความร่วมมือ การจัดสัมมนานวัตกรรม การจัดแสดงผลงานนวัตกรรม
  2. สร้างการรับรู้และความตื่นตัวด้านนวัตกรรมขึ้นในประเทศไทย ผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างให้เกิดความตื่นตัวและสนใจนำนวัตกรรมฝีมือคนไทยมาใช้หรือต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
  3. แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความชำนาญระหว่างกัน ผ่านความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ด้านนวัตกรรมทั้งแนวกว้างและแนวลึกระหว่างหน่วยงานในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว จำเป็นต้องอาศัยความรู้และความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนากำลังคนที่เหมาะสม การกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่ชัดเจน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และยืดหยุ่นในการปฏิบัติ โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติได้ระบุวาระการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) โดยการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการสร้างและแปลงนวัตกรรมสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ไม่ได้จำกัดอยู่ในส่วนกลาง แต่ยังขยายโอกาสการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปยังภูมิภาค นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมอีกด้วย

“สำหรับแพลตฟอร์ม นวัตกรรมประเทศไทย ที่ NIA ได้ริเริ่มขึ้นนี้ เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการพลิกฟื้นประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤต และเปรียบเสมือนเครื่องมือในการ สร้างมุมมองใหม่ของประเทศไทยที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งนำนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม และกิจกรรมการสร้าง เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย ในครั้งนี้ ถือเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้การกำหนดนโยบาย การดำเนินงาน และการสื่อสารด้านนวัตกรรมไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น ชาติแห่งนวัตกรรม (Innovation Nation)” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าว

ผู้สนใจดูนวัตกรรมไทยที่น่าภาคภูมิใจได้ที่ www.innovationthailand.org หรือ Facebook Page : Innovation.THA และสามารถดูข้อมูลความรู้ การให้บริการนวัตกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างและใช้ประโยชน์นวัตกรรมอย่างแพร่หลาย ได้ที่ data.nia.or.th