Digital Transformation

ไม่ว่าองค์กรของคุณจะลงทุนด้านเทคโนโลยีมากแค่ไหน แต่หากบุคลากรในองค์กรไม่พร้อม ก็อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสู่ยุคของ Digital Transformationได้อย่างมั่นคง…

highlight

  • องค์กรทั่วโลกส่วนใหญ่ตระหนักดีว่า ความสามารถขององค์กรในการบริหารบุคลากรด้านใดที่จะมีความสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของพวกเขา แต่ยังมีหลายองค์กรที่ไม่ประสบความสำเร็จในการลงมือปฏิบัติ
  • มีเพียง 27% ขององค์กรธุรกิจเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงได้จริง และมีเพียง 38% ที่ได้ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำนาย และตรวจสอบช่องว่างของทักษะในการทำงาน ขณะที่ 31% ได้ใช้การวางแผนกำลังคนที่มีความซับซ้อนและการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ และ 28% ที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยลดอคติในการจ้างงาน และสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล 
  • คนคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ การปรับเปลี่ยนจากการทำงานด้านการวางแผนกลยุทธ์ทั่วไปให้มาเป็นการทำงานร่วมกับผู้บริหาร ทำหน้าที่เป็นเมนเทอร์ เพื่อช่วยสร้างคน ให้ผู้นำเป็นต้นแบบการเปลี่ยนแปลงให้แก่บุคลากรคนอื่น ๆ ภายในองค์กร

Digital Transformation

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเรามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่สามารถมองข้ามได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป

หรือการปฏิรูปองค์กรเพื่อความอยู่รอด และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี อย่างที่ทราบกันดีว่าหนึ่งในอุปสรรคที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกประสบอยู่ที่คือการที่บุคลากรที่มีอยู่ภายในองค์กรนั้นไม่มีทักษะในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกส่วนได้ในทันที

โดยจากผลการศึกษา Workforce of the Future ของ PwC ที่เปิดเผยในปี 2561 เองก็ชี้ว่า องค์กรทั่วโลกส่วนใหญ่ตระหนักดีว่า ความสามารถขององค์กรในการบริหารบุคลากรด้านใดที่จะมีความสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของพวกเขา แต่ยังมีหลายองค์กรที่ไม่ประสบความสำเร็จในการลงมือปฏิบัติ

เพราะถึงแม้รู้ว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) เทคโนโลยีดิจิทัลโมบิลิตี้ (Digital Mobility) และความสามารถในการทำงานร่วมกันในสิ่งแวดล้อมเสมือน (Virtual Collaboration) จะส่งผลให้สถานที่ทำงานเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับองค์กรในการสร้างบรรยากาศที่จะเอื้อให้พนักงาน

ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความหมาย และเติมเต็มชีวิตในการทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งบริษัทเองก็เข้าใจ และอยากตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านกำลังแรงงานเหล่านี้ แต่มีแค่เพียง 27% เท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงได้จริง และมีเพียง 38% ที่ได้ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำนาย และตรวจสอบช่องว่างของทักษะในการทำงาน

Digital Transformation

ขณะที่ 31% ได้ใช้การวางแผนกำลังคนที่มีความซับซ้อนและการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ และ 28% ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยลดอคติในการจ้างงาน และสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าไม่ได้มีเพียงแค่ทักษะในด้านต่าง ๆ แต่ร่วมไปถึงการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน สร้างนวัตกรรม และปรับตัวได้

ซึ่งการที่ประเทศไทยจะเดินไปถึงเป้าหมาย “ประเทศไทย 4.0” ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายไว้ได้หรือไม่นั้น จะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงแบบองค์รวมขององค์กรทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจร่วมกัน และการเปลี่ยนแปลงนั้นก็หมายถึงการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานภายในองค์กรแบบเดิมสู่การดำเนินงานแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานทางธุรกิจ องค์กรต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปรูปแบบ และกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนแปลง

และสร้างโอกาสเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจให้กับองค์กรในการเพิ่มผลผลิต สร้างนวัตกรรม บริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ สร้างความคล่องแคล่วในการบริหารงาน และสร้างคุณภาพของงาน 

การเตรียมความพร้อมให้บุคลากร คือหัวใจในการเปลี่ยนสู่ Digital Transformation 

Digital Transformation
ชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้อำนวยสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด.

ชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้อำนวยสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมให้แก่พนักงานถือเป็นเรื่องที่องค์กรต่าง ๆ เร่งปรับตัว และเป็นนโนบายที่ต้องเร่งลงมือทำอย่างเร่งด่วน ในองค์กรในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาด เล็ก หรือใหญ่ 

ซึ่งที่ ไมโครซอฟท์ เราเองก็ให้ความสำคัญกับปฏิรูปธุรกิจสู่ดิจิทัล และหนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปแนวทางการทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพราะคนคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ เราจึงได้ปรับเปลี่ยนจากการทำงานด้านการวางแผนกลยุทธ์ทั่วไป

ให้มาเป็นการทำงานร่วมกับผู้บริหาร ทำหน้าที่เป็นเมนเทอร์ เพื่อช่วยสร้างคน ให้ผู้นำเป็นต้นแบบการเปลี่ยนแปลงให้แก่บุคลากรคนอื่น ๆ ภายในองค์กรด้วย โดยกลยุทธ์หลักของเราคือการพัฒนาบุคลากรภายในองค์กร ให้พวกเขาสามารถนำศักยภาพมาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงาน

เพื่อสร้างสรรค์งานที่ดีออกสู่ภายนอกให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีที่สุด ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวมีที่มาจากพันธกิจในการ สนับสนุนให้ทุกคน และทุกองค์กรบนโลกประสบความสำเร็จมากขึ้น (Empowering every person and every organization on the planet to achieve more) ผ่านการดำเนินงานอย่างรอบด้าน

ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาบุคลากรที่เหมาะสมกับธุรกิจ ที่มีพร้อมทั้งความสามารถและทัศนคติเชิงบวกในการทำงาน การสร้างบุคลากรสำหรับอนาคต การสร้างผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดผ่านความหลากหลายของบุคลากร

Digital Transformation

เพราะเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าความหลากหลายภายในองค์กรจะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่ช่วยพัฒนาวิธีการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาในรูปแบบใหม่ให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากมุมมองที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความหลากหลายนั้น

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งเพื่อสร้างสรรค์องค์กรให้แข็งแกร่ง คือ การมีจิตวิญญาณของการเรียนรู้ ด้วยการทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วที่พร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ยิ่งโดยเฉพาะบริษัทในด้านเทคโนโลยีอย่างเรา การมีทัศนคติในการพัฒนาตนเองเพื่อต่อยอดพัฒนาสิ่งใหม่นั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

และกลับมาช่วยเหลือกันแบบ One Microsoft นั่นคือทัศนคติในการทำงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จของทีม ไม่ใช่เพียงการเติบโตของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น การสร้างความเข้าใจให้เกิดในองค์กร และการดูแลบุคคลากรอย่างใส่ใจ ก็จะนำมาซึ่งวัฒนธรรมองค์กรที่มีความสมบูรณ์ เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ในปัจจุบัน การปฏิรูปสู่ดิจิทัลเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อธุรกิจทุกขนาด เพราะหากไม่รีบมองหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานให้เหมาะสมก็จะเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจลงได้

ดังนั้นเจ้าของและผู้บริหารธุรกิจควรหันมาพิจารณาถึงแก่นขององค์กร นั่นก็คือการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทให้ถึงขีดสุด

เดินหน้าพัฒนาคน พัมนาทักษะดิจิทัล ต่อเนื่อง

นอกจากนี้เพ่ือให้เรื่องของการพัฒนาคนสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน ไมโครซอฟต์ (ประเทศไทย) จึงได้เดินหน้ามอบโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีแก่ชาวไทยทุกกลุ่มในสังคม อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ถึง มิถุนายน พ.ศ. 2562 

ไมโครซอฟต์ฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่อาจารย์จำนวนกว่า 1,600 คน และเยาวชนจำนวนกว่า 74,000 คน ทั่วประเทศ โดยภายในระยะเวลา 10  ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้ขยายโอกาสในการเข้าถึงทักษะด้านไอซีทีและทักษะเชิงดิจิทัลให้แก่เยาวชนกว่า 800,000 คน ที่มีภูมิหลังที่หลากหลาย รวมถึงกลุ่มผู้พิการ และ ผู้ที่อาศัยอยู่ห่างไกล

และทำโครงการพัฒนาระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National ELibrary) ครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยการพัฒนาระบบห้องสมุดออนไลน์บนเว็บไซต์ www.nel.go.th โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร

สำนักงานปลัดกระทรวง และสำนักงานหอสมุดแห่งชาติ จากความตั้งใจในการพัฒนาคลังองค์ความรู้ดิจิทัลและบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่ออำนวยความสะดวกทุกคนในการเข้าใช้งานและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

โดยไมโครซอฟท์ได้สนับสนุนโครงการพัฒนาระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National ELibrary) ผ่าน 3 ฟีเจอร์หลัก ได้แก่ ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ แชทบ็อท และระบบการเรียนออนไลน์ (ELearning) และได้พัฒนากรอบข้อตกลง Education Transformation Agreement หรือ ETA ขึ้น

เพื่อวางรากฐานให้กับความร่วมมือดังกล่าวใน 3 ระดับหลักๆ ได้แก่ ระดับนโยบายเชิงบริหาร (Leadership & Policy) การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับศตวรรษที่ 21 และการผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษา (Technology Design) ซึ่งเป็นการสานต่อความมุ่งมั่นในการสนับสนุนภาคการศึกษาทั่วโลก 

 

Digital Transformation

และยังได้ได้ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม Hour of Code Thailand 2018 ส่งเสริมเยาวชนไทยพัฒนาทักษะทางดิจิทัลผ่านการเขียนโค้ดขั้นพื้นฐาน

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายเยาวชนให้หันมาสนใจเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และเตรียมตัวให้พร้อมกับโลกยุคดิจิทัล และยังนับเป็นครั้งแรกที่เยาวชนไทยได้สัมผัสประสบการณ์การเขียนโค้ดดิ้งในบทเรียนใหม่ล่าสุด Minecraft Voyage Aquatic ผ่านการท่องโลกใต้บาดาล

นอกจากความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับหน่วยงานจากทางภาครัฐแล้ว เรายังได้จับมือกับพันธมิตรภาคเอกชนอย่าง บริษัท สิริเวนเจอร์ส จำกัด ในการจัดกิจกรรมการแข่งขัน Smart Living with micro:bit” ครั้งแรกในประเทศไทย สนับสนุนเยาวชนให้สร้างสรรค์แนวคิดที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน และยกระดับคุณภาพชีวิ

ให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนาโครงการด้วยการเขียนโค้ดสำหรับอุปกรณ์แผงวงจร micro:bit ของบีบีซี เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนไทยหันมาสนใจเรียนรู้และประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็มศึกษา (STEM) มากขึ้น

Digital Transformation

พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมมือกับ บริษัท สิริเวนเจอร์ส จำกัด อีกครั้ง เพื่อจัดกิจกรรม #MakeWhatsNext DigiGirlz 2019 Thailand เพื่อสนับสนุนเด็กผู้หญิงในการประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มศึกษารวมถึงการให้ความรู้ด้านการเขียนโค้ด และกิจกรรมการแข่งขันเสนอผลงานที่ประดิษฐ์ด้วยชุด micro:bit อีกด้วย

เตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีให้กับตลาดแรงงานทุกกลุ่ม

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังเล็งเห็นถึงความต้องการแรงงานในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มงานด้านดิจิทัล ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ Eastern Economic Corridor (EEC) จากความมุ่งมั่นในการเติมเต็มภาพรวมของการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล

ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต ไมโครซอฟท์จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เปิดตัวโครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่อาจารย์จำนวน 500 คน จาก 500 โรงเรียน เพื่อต่อยอดองค์ความรู้จากอาจารย์สู่นักเรียน

ในพื้นที่จำนวน 50,000 คน โดยได้โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (หนองพังแค) เป็นโรงเรียนต้นแบบของโครงการที่จะได้รับการฝึกอบรมแบบเข้มข้นไปจนถึงช่วงปลายปี 2562 เพื่อมุ่งพัฒนาบุคลากรทั้งหญิงและชายที่มีคุณภาพ และตอบสนองความต้องการแรงงานของตลาดในอนาคตโดยเฉพาะในกลุ่มงานด้านดิจิทัล

Digital Transformation

และยังได้ได้สนับสนุนการแข่งขัน Accessible Learning Hackathon:Solving the Right Problems for Students with Disabilities” กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่สนใจด้านเทคโนโลยี ได้ทำความเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงของนักเรียนพิการ และร่วมกันพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบ

แอปพลิเคชันเพื่อช่วยขจัดอุปสรรค และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้นักเรียนพิการ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ไมโครซอฟท์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กระทรวงศึกษาธิการ, ยูเนสโก, สถาบันเทคโนโลยีเพื่อนวัตกรรมสังคม, คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com
**** ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก บริษัท PwC ประเทศไทย

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่