การเตรียมพร้อมบุคลากรรับ Digital Transformation เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่กล่าวถึงมากที่สุดสำหรับยุคนี้ เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ “ประเทศไทย 4.0”

Key Insight

  • การทำ Digital Transformation ให้สำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงแบบองค์รวมของทั้งองค์กร
  • บุคคลากรในองค์กร นับเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเป็นอันดับแรก ก่อจที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
  • องค์กรที่มุ่งเน้นในการปรับปรุงความสามารถทางเทคโนโลยีขององค์กร แต่ละเลยความต้องการที่ต้องเปลี่ยนแปลงของพนักงาน ก็จะมีแนวโน้มว่าการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลนั้นล้มเหลวไม่ถึงฝั่งฝัน

แต่การที่ประเทศไทยจะเดินไปถึงเป้าหมาย “ประเทศไทย 4.0” ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายไว้ได้หรือไม่นั้น จะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงแบบองค์รวมขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจร่วมกัน และการเปลี่ยนแปลงนั้นก็หมายถึงการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานภายในองค์กรแบบเดิมสู่การดำเนินงานแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานทางธุรกิจ

องค์กรต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปรูปแบบและกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจให้กับองค์กรในการเพิ่มผลผลิต สร้างนวัตกรรม บริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ สร้างความคล่องแคล่วในการบริหารงาน และสร้างคุณภาพของงาน เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลนั้นมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อให้องค์กรนั้นสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของเทคโนโลยีดิจิทัล และยังคงสามารถแข่งขันทางธุรกิจได้ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างรวดเร็วตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอดขององค์กรในปัจจุบันนี้

ผู้นำองค์กรต่างก็คาดหวังในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่กลับประมาณผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรต่ำไป เราทุกคนต่างคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จและสร้างคุณค่าให้ต่อองค์กร

องค์กรที่มุ่งเน้นในการปรับปรุงความสามารถทางเทคโนโลยีขององค์กร แต่ละเลยความต้องการที่ต้องเปลี่ยนแปลงของพนักงาน ก็จะมีแนวโน้มว่าการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลนั้นล้มเหลวไม่ถึงฝั่งฝัน องค์กรต้องวางแผนในการวางตำแหน่งของพนักงานเพื่อให้ช่วยดำเนินการและสนับสนุนกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จมากกว่าคิดเพียงแค่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจขององค์กรให้เป็นดิจิทัลอย่างไร

กลยุทธ์การบริหารทรัพยากรมนุษย์แบบบูรณาการเพื่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยต้องมุ่งเน้นในด้านการระบุตัวตนความสามารถของพนักงานที่มีอยู่เดิม การรับสมัครพนักงานที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ การรักษาพนักงานเดิมที่มีความสามารถให้คงอยู่ รวมถึงการให้พนักงานเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงองค์กร

ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการปฏิรูปองค์กร แนวความคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากพนักงานจะช่วยให้องค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลด้วยความจงรักภักดีละความทุ่มเทของพนักงาน และจะช่วยสร้างวัฒนธรรมให้พนักงานร่วมกันคิดนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องจนเป็นเรื่องยากที่องค์กรอื่น ๆ จะสามารถแข่งขันและตามได้ทัน

การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายที่เราเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลล้วนแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเหตุผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อการอยู่รอด ซึ่งส่วนใหญ่องค์กรก็จะเน้นว่าจะเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างไรเพื่อให้เพิ่มจำนวนส่วนแบ่งทางการตลาดของผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กร หากแต่การก้าวไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรเหล่านั้นได้

องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจากเดิม ตลอดจนเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานร่วมกันของพนักงาน วิธีการสร้างทีมงาน และวิธีการสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้พนักงานช่วยนำพาองค์กรไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ในมุมมองของการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลนั้น ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดขององค์กรส่วนใหญ่มักจะตั้งเป้าหมายที่ต่ำเกินไป

องค์กรเป็นจำนวนมากเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจจากบนกระดาษมาเป็นดิจิทัลทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก และมักจะมองข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานจากการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลนั้นจะมีผลต่อพนักงานอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการที่องค์กรละเลยความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของพนักงาน อาจจะเป็นเหตุเริ่มต้นให้เกิดการกีดกันแผนการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลได้

องค์กรจะต้องปฏิรูปโครงสร้างการทำงานที่ปฏิบัติอยู่เดิมใหม่ โดยร่วมกับพนักงานในการกำหนดรายละเอียดภาระงานของแต่ละงานให้มีความเชื่อมโยงทักษะการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาพนักงานให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีคุณภาพในการร่วมกันเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล

ปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จนั้นมีทั้งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกองค์กร ปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายในองค์กรมักจะเป็นปัจจัยที่องค์กรสามารถควบคุมได้ เช่น พนักงานภายในองค์กรขาดความรู้และความสามารถทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือองค์กรขาดวัฒนธรรมในการทำงานที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงวิธีการหรือกระบวนการอยู่ตลอดเวลาและขาดความตั้งใจจริงในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล เป็นต้น

ส่วนปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายนอกองค์กรนั้นมักจะเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมขององค์กร เช่น การมีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเกิดนวัตกรรม ความพร้อมทางด้านการศึกษาของประชาชน ความรู้ความสามารถของแรงงานด้านดิจิทัล แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีความแข็งแกร่ง การขยายการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างรวดเร็วให้ทันต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของทุกอุตสาหกรรม การมีสภาพแวดล้อมของพลเมืองดิจิทัลที่สนับสนุนการเกิดนวัตกรรมให้สามารถเจริญงอกงามได้ เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าองค์กรมีความตั้งใจจริงในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล องค์กรควรจะเริ่มปฏิรูปจากปัจจัยภายในก่อน โดยการให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและปฏิรูปองค์กรร่วมกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่ง และต้องเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการแบบดิจิทัล องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงการแพร่หลายการใช้ข้อมูลให้กับพนักงานทุกระดับโดยการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงข้อมูลให้กับพนักงานเพื่อความจำเป็นในการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจและช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน

เมื่อพนักงานเริ่มรู้สึกถึงความไว้ใจที่องค์กรมีต่อพนักงาน และรู้สึกใกล้ชิดกับข้อมูลที่มีความสำคัญขององค์กรก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม การปรับตัว และตื่นตัวในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับองค์กรเพิ่มขึ้นได้ตลอดเวลา

ติดตามเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับ ดิจิทัล ทรานฟอเมชั่นได้ ที่นี่

ในตอนหน้า พบกับวิธีการพัฒนาบุคลากรในอีกหลายรูปแบบ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุค Digital Transformation

ติดตามตอนที่