Identity

ระบบการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital Identity) ก้าวสำคัญค้าของการเติบโต และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เศรษฐกิจไทยในอนาคต…

The Power of Digital Identity

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยินว่าคำว่าการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล (Identification) กันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่ส่วนมากจะเป็นความคุ้นเคยของวงการวิทยาศาสตร์ หรือการแพทย์ ที่ต้องต้องการระบุยืนยัน “ตัวตน”  ที่นอกเหนือจากการสังเกตจากรูปร่างภายนอกของมนุษย์

 แต่เมื่อโลกก้าวสู่ยุคของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวเนื่องกับแทบทุกสิ่ง และกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง (Digital Disruption) ทำให้ถึงจุดที่องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้

เพราะตัวอย่างของการล่มสลายไปของหลายธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม อาทิ โกดัก หรือ โนเกีย โมบาย ฯลฯ การล่มสลายเหล่านี้ รวมไปถึงการเกิดขึ้นของคู่แข่งที่ไม่ได้มาจากผู้แข่งขันที่มีอยู่ในอุตสาหกรรม แต่สามารถให้บริการได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้รวดเร็วกว่า สะดวกกว่า

โดยไม่ต้องลงทุนในการสร้าง แต่ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว มาสร้างอยู่บนแฟลตฟอร์มการให้บริการทั้งในรูปแบบของแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ อาทิ Airbnb หรือ Grab เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้องค์กรเหล่านี้เห็นแล้วว่าไม่มีอะไรที่จะยั่งยืน และมั่นคง หากไม่เรียนรู้ที่จะปรับตัว

และพัฒนานวัตกรรมของตัวเองออกมารองรับกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะมีการเร่งปรับตัวในหลายธุรกิจแล้ว และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างต่อเนื่องในหลากหลายอุตสาหกรรม แต่การเติบโตดังกล่าวกลับมีช่องโหว่ให้ผู้ที่ไม่หวังดีที่แฝงตัวอยู่ในเงามืด

ใช้ประโยชน์จากความต้องการนี้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นว่ามีการปลอมแปลง ล่อลวง หลอกล่อ ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตในหลายรูปแบบ ที่อาศัยประโยชน์จากการที่ไม่มีระบบที่มีประสิทธิภาพมากพอเพื่อให้สามารถพิสูจน์ตัวตนของคู่ค้า

หรือผู้ใช้งานได้แบบ 100% จริง ๆ โดยเฉพาะประเทศไทยวันนี้เรายังเห็นหลากลายหน่วยงานที่ยังใช้ กระดาษ หรือขอสำเนากระดาษจากผู้บริโภค เพื่อใช้ยืนยันความต้องการที่ใช้บริการ หรือยืนยันว่าเป็นบุคคลนั้นจริง ๆ กันอยู่หลายหน่วยงาน แม้ว่าวันนี้เราจะเห็นภาคการเงินจะพยายามกันอย่างมากในการสร้างสิ่งที่เรียกว่าการพิสูจน์ตัวตนแบบดิจิทัล

แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเรากำลังอยู่บนโลกที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลอย่างแท้จริง เพราะข้อมูลหลายส่วนยังไม่ได้อยู่ในระบบดิจิทัล และต่อให้มีอยู่แล้วแต่ข้อมูลบางส่วนกับยังไม่เชื่อมโยงกัน เรียกว่าต่างคนต่างเก็บ จะใช้งานทีต้องเสียเวลาในการยื่นเรื่องเพื่อตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง

ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็มักจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเช่นกัน อย่างที่เรามักจะได้เห็นความีบุคคลที่ที่มีชื่อนามสกุลซ้ำกันออกมาให้เห็นกันเป็นระยะ ๆ มาถึงตรงนี้ก็คงจะมีคำถามว่าแล้วทำใม Digital Identity ถึงเป็น พลังแห่งการพิสูจน์ตัวตน (The Power of identity) ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้เข้าสู่โลกที่เราเรียกว่า “ดิจิทัล 4.0” อย่างแท้จริง

ทำไมต้องเชื่อ Digital Identity ?

คำถามที่ต้องเจอ อย่างแน่นอนเมื่อพูดถึงเรื่อง Digital Identity คือทำไมการพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัลถึงน่าเชื่อถือ ก็คงต้องย้อนกลับไปถามว่าทำไมถึงเชื่อถือในบัตรประชาชนที่ทุกคนต้องถือติดตัวเอาไว้ล่ะ  หลาย ๆ ท่าน ก็อาจจะตอบว่าก็นั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อยืนยันตัวตนว่าเราคือ นาย หรือนางสาว ที่มีชื่อ นาม-สกุล นี้ และมีรหัส 13 หลัก

ที่ระบุตรวจสอบได้จาก กรมการปกครอง และระบบทะเบียนราษฎร์ แล้วเราก็ใช้สิ่งนี้กันมาตั้งแต่เกิดลืมตาขึ้นมาบนโลกใบนี้ หรือแม้แต่การที่เราใช้ธนบัตรในการจับจ่ายใช้ส่อย ซื้อสิ่งของ หรือบริการที่ต้องการ คำถามคือทำไมเราถึงเชื่อว่าธนบัตรใช้แลกเปลี่ยนได้ นั่นก็เพราะว่า…เราเชื่อถือในองค์กรอย่างแบงค์ชาติ และกรมการปกครอง ใช่หรือไม่?

แล้วหากแบงค์ชาติ หรือกรมการปกครอง ไม่น่าเชื่อถือล่ะ ข้อมูลที่แสดงตัวตนของเราที่อยู่กับกรมการปกครอง และธนบัตรที่ออกโดยแบงค์ชาติ จะไม่กลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไปใช่หรือไม่ ก็คงตอบว่าใช่ได้ลำบาก แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการที่เรายอมรับร่วมกันว่าข้อมูลของที่ระบุตัวตนของเรา และธนบัตร

Identity

คือสิ่งที่ “สังคมยอมรับร่วมกัน” ให้เป็นสิ่งที่ใช้งานได้ แม้จะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวยืนยันเพื่อบางสิ่งก็ตาม เช่นเดียวกันกับการที่เรากำลังพยายามที่จะยอมรับว่าโลกของข้อมูลของเราไม่ได้อยู่แค่บนกระดาษอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นบางสิ่งที่อยู่รูปของรหัสทางดิจิทัลที่แสดงผลผ่านแฟลตฟอร์มต่าง ๆ นั่นเอง

เพราะหากว่ากันด้วยเหตุ และผล วันนี้เรายังไม่มีสิ่งใดที่พิสูจน์ตัวตนของเราได้เลยจริง ๆ เพราะแม้ว่าในกระเป๋าเงินเราแม้ว่าจะมีบัตรประชาชน บัตรใบขับขี่ หรือแม้แต่บัตรเครดิต ที่ระบุชื่อของเราเอาไว้ แต่เมื่อเกิดสูญหาย แล้วไม่รีบแจ้งอายัติ ก็มีโอกาสอย่างมากที่เราจะถูกสวมรอยได้ง่าย ๆ

รวมไปถึงอาจถูกนำตัวตนของเราไปใช้ในทางที่ผิด ๆ ด้วยการตัดต่อ ปลอมแปลง เช่น นำไปเปิดบัญชี นำไปค้ำประกัน หรือนำบัตรไปรูดซื้อสินค้า และบริการ ได้หากผู้ที่รับชำระนั้นไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียด และแน่นอนว่าเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งในปัจจุบันที่จะให้ทุกธุรกรรมที่ทำจะมีการตรวจสอบขนาดนั้น

เพราะคงไม่มีลูกค้าคนไหนมานั่งยืนรอการตรวจสอบเพียงเพราะจะเปิดบัญชีธนาคาร หรือซื้อสินค้าแค่ไม่กี่ชิ้นเท่านั้น ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็มีให้เห็น และเป็นคดีฟ้องร้องกันแล้วในปัจจุบัน ปัญหาหลัก ๆ ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นคือ เพราะหน่วยงานต่าง ๆ ไม่เชื่อมโยงข้อมูลกัน

และไม่ใช่ทุกคนที่สามารถตรวจสอบข้อมูลบนบัตรประชาชนของเรากับทางรัฐได้แบบ “เรียลไทม์” (Realtime) จะตรวจสอบข้อมูลตัวตนก็ต้องตรวจสอบที่กรมการปกครอง จะตรวจสอบบัญชีธนาคารก็ต้องไปยื่นขอจากธนาคารที่มีบัญชีนั้น ๆ และถึงแม้ว่าเราจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีชิปที่สามารถระบุข้อมูลเอาไว้ในบัตร

แต่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะปัจจุบันมันสามารถก็อปปี้กันได้แล้ว แต่หลายท่านคงจะเถียงว่า ปัจจุบันหลาย ๆ ผู้ให้บริการมีการใช้ SMS ในการส่ง OTP ไปยังสมาร์ทโฟนของผู้ที่ขอใช้บริการแล้ว ไม่ปลอดภัยหรืออย่างไร? เพราะผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์ย่อมมีข้อมูลของผู้ขอซิมการ์ด จากผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์

แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ถูกสวมสิทธิ์ และจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ถูกดักจับ SMS จากผู้ไม่ประสงค์ดี คำตอบคือไม่มีทางรู้ได้เลย ดังนั้นคงจะไม่เกินจริงมากไปที่จะกล่าวว่าการทุกวันเราใช้บริการโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อใจในตัวผู้ให้บริการทั้งจากภาครัฐ และเอกชน เพียงเท่านั้น

แต่หากวันนี้เราเริ่มที่จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลทุกส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการยืนยันตัวตน โดยที่ตัวเจ้าของข้อมูลนั้นเป็นผู้ที่จะอนุญาตว่าจะให้ข้อมูลดังกล่าว หรือไม่เท่านั้นและทำบนระบบแฟตฟอร์มที่น่าน่าเชื่อถือ มีการตรวจสอบ หรือยืนยันที่มาของการขอข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง

Identity

อาทิ ระบบ Blockchain ที่ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ ก็จะทำให้เรื่องของข้อมูลหลุดการเป็นเรื่องที่ยาก และก็ไม่มีใคร หรือองค์กรไหนสามารถแอบอ้างนำไปใช้ทำธุรกรรมใด ๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย เองก็กำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สำหรับให้บริการยืนยันตัวตน และดูแลรักษาความถูกต้องของข้อมูล

ที่เกี่ยวข้อง ทั้งของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ยืนยันตัวตนในการรับบริการต่าง ๆ ของรัฐ และเอกชน ในรูปแบบเดียวกับที่มีการใช้แพร่หลายทั่วโลก ซึ่งเมื่อสามารถ Digital ID ที่มีการนำข้อมูล นอกจากเลขบัตรประชาชน 13 หลัก มาใช้

ซึ่งอาจเป็นลายนิ้วมือ หรือการสแกนม่านตา การล็อกอินผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยเฟซบุ๊ก หรือโมบายแบงก์กิ้ง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการแอบอ้าง หรือฉ้อโกงทางออนไลน์ได้ ซึ่งการกำหนดวิธีการนั้นก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งโดยเฉพาะ ก็จะยิ่งทำให้เป็นเรื่องยากมากขึ้น

ที่บุคคลอื่นจะปลอมแปลงได้ เพราะข้อมูลที่สามารถใช้ยืนยันตัวตนได้จะต้องได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่ลงทะเบียนไว้กับระบบ เช่น กรมการปกครอง หรือ ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ก็จะสามารถแน่ใจว่าเป็นข้อมูล “ตัวตน” ที่เชื่อถือได้ เป็นบุคคลที่เป็นตัวจริง

และเมื่อในอนาคตแต่ละหน่วยงานจะมีการพัฒนาระบบของตนเอง และนำมาเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน โดยสามารถใช้ประโยชน์ในภาคการเงินการลงทุน เช่น การขอสินเชื่อออนไลน์ การลงทะเบียนขอรับสวัสดิการของรัฐ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

ต้องได้รับการยินยอมจากบุคคลนั้น ๆ ก่อน จึงสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ และเมื่อโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมต่อการยืนยันจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน ก็จะทำให้ข้อมูลในการตรวจเช็ดมีความถูกต้อง ปลอมแปลงได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำธุรกรรมออนไลน์

ไม่ว่าจะเป็นการโอน-ชำระเงินทางออนไลน์ ก็จะมีการยืนยันของข้อมูลตัวตนที่แม่นยำ เพราะเปลี่ยนวิธีการบันทึกข้อมูลที่เคยเก็บอยู่ที่ “คนกลาง” ไม่กี่คน (เช่น กรมการปกครอง ธนาคาร ฯลฯ) ให้มาอยู่บนเน็ตเวิร์คที่ทุกคนร่วมเป็นเจ้าของทำให้ ให้ทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้น เป็นการรับรู้ร่วมกัน และคนทุกคนสามารถย้อนกลับไปตรวจสอบได้

Identity
กระบวนการลงทะเบียน การพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้าด้วยระบบ Digital ID ที่มา :สพธอ. หรือ ETDA

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดจากการพิสูจน์ตัวตนแบบดิจิทัล

เมื่อเราก้าวสู่ ระบบพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสิ่งที่จะเปลี่ยนอย่างแรกคือ เราจะเห็นการเปลี่ยนรูปแบบจากการใช้เอกสารเพื่อพิสูจน์ตัวตนของบุคคล ไปอยู่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลไม่ว่าบัตรประชาชน สมุดทะเบียนบ้าน บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม โฉนดที่ดิน และอื่น ๆ

โดยไฟล์เหล่านั้นจะเป็นไฟล์ที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องและตรวจสอบความเป็นเจ้าของได้ 100% ผ่านมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับร่วมกัน ในรูปแบบธุรกรรมทุกอย่างจะเกิดขึ้นเรียลไทม์ เช่น ไฟล์โฉนดที่ดิน เมื่อก็ต่อเมื่อถูกส่งมาจากต้นทาง และเป็นไฟล์เดียวกับที่กรมที่ดินถือครอง และออกให้

อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบ และยืนยันได้บนระบบ Blockchain ซึ่งเมื่อ “ตัวตน” ของเรากลายเป็นดิจิทัล และอยู่บนแพลตฟอร์มที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน เวลาทำธุรกรรม เช่น ทำวีซ่า ก็สามารถยื่นออนไลน์ และจะได้รับการยืนยันทันทีไม่ต้องรอเป็นระยะเวลานานอย่างเช่นในอดีต

และหากมองในมุมของผู้ประกอบธุรกิจเอง ก็ไม่จำเป็นต้องรอนานในการติดต่อขอเอกสารทางราชการ ที่อดีตต้อใช้ขั้นตอนในการขอที่ยุ่งยาก อีกทั้งยังเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้กระดาษจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยุ่งยากในการเก็บรักษาดูแล และต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยในการดำเนินการ แต่หากใช้ระบบพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงอย่างมาก อีกทั้งยังมีความถูกต้องของข้อมูลเพิ่มขึ้นอีกด้วย อีกทั้งยังช่วยให้การทำธุรกรรมเป็นเรื่องที่รวดเร็วเพราะข้อมูลไม่สามารถถูกปลอมแปลงได้ ทำให้การจรวจสอบสถานะต่าง ๆ เป็นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำธุรกิจทราบผลการอนุมัติเงินกู้จากธนาคาร และวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับแหล่งเงินทุนที่มีด้วย

ขระที่ในส่วนของภาครัฐเองหากเชื่อมโยงฐานข้อมูล ด้วยระบบการพิสูจน์ตัวตนแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความถูกต้องโปร่งใสของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริการภาครัฐทั้งหมดจะมีเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐเองสามารถนำไปใช้ได้ตั้งแต่การจัดทำเอกสาร และการจัดการการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับที่ทาง สาธารณรัฐเอสโตเนีย (Republic of Estonia) หรือ “เอสโตเนีย” (Estonia) ได้ทำการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเลือกตั้งโดยให้ประชาชนสามารถเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์ที่ชื่อ “i-voting” โดยใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด (Smart Card) หรือโมบาย ไอดี (Mobile ID) ในมือถือเข้าใช้งานได้จากที่บ้าน หรือจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้

และยืนยันตัวตนผ่านบัตรประชาชนและเครื่องอ่านบัตร หรือไอดีมือถือ ซึ่งเมื่อเลือกคน หรือหัวข้อ ระบบก็จะเข้ารหัสแล้วส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ (Server)  ของ กกต.กลางของเอสโตเนีย และต้องใช้ กกต.เอสโตเนีย  5  คน ที่ถือกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ ใช้งานพร้อมกันเท่านั้นที่สามารถอ่านผลได้

โดยมีตัวระบบเป็นตัวกรอง ผ่านเทคโนโลยีอย่าง Blockchain ซึ่งจะทำให้พิสูจน์ความเป็นตัวตน ของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนแม่นยำ และปลอมแปลงได้ยาก หากทำได้เชื่อว่าจะสร้างให้เกิดกระบวนการที่ตรวจสอบได้ และไม่เกิดกรณีสวมบัตร หรือ “บัตรเขย่ง” อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

หรือจะใช้ยกระดับรูปแบบของการทำงานในกระทรวงต่าง ๆ ที่เป็นบริการภาครัฐให้สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ และอาจร่วมถึงการทำให้เรื่องของบริการที่เกี่ยวข้องกับภาษีที่มักจะสร้างความยุ่งยากให้แก่ธุรกิจสามารถทำแล้วเสร็จภายใน 3 นาที เช่นเดียวกับที่เอสโตเนียทำก็ยังได้

ดังนั้นหากกล่าวว่า Digital Identity ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะเชื่อมต่อการยืนยันจากทุกภาค และสร้างพลังในการขับเคลื่อนประเทศจากความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือ ในอนาคตก็คงไม่เกินจริงมากไปนัก…

*หากอยากรู้ว่า Digital Identity จะสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลงได้ขนาดไหน สามารถรอติดตามข้อมูลดีได้จากงาน Thailand DIgital ID Symposium 2019 ในช่วงเดือน มิถุนายน ที่จะถึงนี้ 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA, becommon.co, medium.com

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่